เมื่อวันที่ 16 สิงหาคม 2566 ผู้แทนจากเครือข่ายผู้ติดเชื้อเอชไอวี/เอดส์ ประเทศไทย ยื่นคัดค้านคำขอรับสิทธิบัตร “ยาลีนาแคพาเวียร์” ที่กรมทรัพย์สินทางปัญญา กระทรวงพาณิชย์ เนื่องจากเห็นว่าคำขอสิทธิบัตรนั้นขัดต่อ พรบ. สิทธิบัตรฯ เพราะไม่มีขั้นการประดิษฐ์ที่สูงขึ้น หรือไม่ซับซ้อน จึงไม่มีความเหมาะสมที่จะได้รับการจดสิทธิบัตร
นายเฉลิมศักดิ์ กิตติตระกูล ผู้จัดการโครงการส่งเสริมการเข้าถึงยา เครือข่ายผู้ติดเชื้อเอชไอวี/เอดส์ ประเทศไทย ให้ข้อมูลเบื้องต้นว่ายาต้านไวรัสฯ ตัวใหม่มีชื่อสามัญทางยาว่า “ลีนาแคพาเวียร์” (Lenacapavir) ใช้รักษาผู้ติดเชื้อฯ ที่มีภาวะดื้อยาต้านไวรัสฯ ชนิดอื่นจนไม่มียาตัวเลือกรักษา และยังเป็นยาที่อาจนำมาใช้เพื่อป้องกันการติดเชื้อก่อนสัมผัสเชื้อ หรือยา PrEP ที่ให้ประสิทธิภาพดีและไม่ต้องกินยาทุกวัน เพียงฉีดหนึ่งเข็มและออกฤทธิ์ได้นาน 6 เดือน (แต่ในส่วนของ PrEp ยังอยู่ในระหว่างการวิจัยทดลอง) โดยการใช้ยาลีนาแคพาเวียร์มีทั้งรูปแบบยาเม็ดและยาฉีด เริ่มต้นด้วยการกินยาเม็ดขนาด 600 ม.ก. ในวันแรกและวันที่ 2 และกินยาเม็ดขนาด 300 ม.ก. ในวันที่ 8 และ 15 จากนั้นเปลี่ยนมาเป็นยาฉีดขนาด 927 ม.ก. โดยฉีดเข้าใต้ผิวหนัง (เหมือนการฉีดยาอินซูลินในผู้ป่วยโรคเบาหวาน) ทุกๆ 6 เดือน
“เราเห็นว่าในสหรัฐอเมริกา ยาชนิดดังกล่าวหลังผ่านการอนุมัติจาก อย. ในประเทศเขา มีการตั้งราคาจำหน่ายสูงถึงประมาณ 42,250 ดอลลาร์ (หรือประมาณ 1.4 ล้านบาท) ต่อคนต่อปีสำหรับการรักษาในปีแรก ส่วนการรักษาในปีต่อๆ ไปอยู่ที่ 39,000 ดอลล่าร์ต่อคนต่อปี (หรือประมาณ 136,500 บาท) แต่หากคำคัดค้านในไทยเป็นผลจะช่วยปลดล็อคการผูกขาดและทำให้เกิดการแข่งขันจากบริษัทยาชื่อสามัญ ซึ่งสามารถผลิตยาชนิดเดียวกัน มีคุณภาพและประสิทธิภาพทัดเทียมยาต้นแบบที่ขอจดสิทธิบัตร แต่ราคาจะถูกกว่ามาก มีผลดีทั้งกับประชาชนที่จะเข้าถึงยาที่จำเป็นได้มากขึ้นโดยไม่ใช้งบประมาณของประเทศมากจนเกินจำเป็น” นายเฉลิมศักดิ์กล่าว
ส่วนประเด็นการกำหนดระยะเวลาในการยื่นคัดค้านคำขอสิทธิบัตรภายใน 90 วันนั้นนั้น นายเฉลิมศักดิ์มองว่าเป็นสิ่งที่เครือข่ายองค์กรภาคประชาชนและนักวิชาการด้านทรัพย์สินทางปัญญาและการเข้าถึงยากังวลมาตลอด เนื่องจากการเข้าถึงข้อมูลคำขอฯ มีความซับซ้อน เข้าถึงไม่ง่าย ต้องใช้เวลาศึกษาข้อมูลในคำขอฯ และค้นหาเอกสารมาเป็นหลักฐานสนับสนุนคำคัดค้านและหักล้างคำกล่าวอ้างในคำขอฯ อยู่นานจึงไม่ง่ายที่จะยื่นคำคัดค้านให้ทันระยะเวลาที่กฎหมายกำหนด แต่ก็จะพยายามทำงานอย่างต่อเนื่อง เพื่อขจัดปัญหาการขอจดสิทธิบัตรแบบไร้คุณภาพ (Ever-greening Patent)
ทั้งนี้เมื่อช่วงสิงหาคม 2559 ถึงเมษายน 2561 เครือข่ายผู้ติดเชื้อเอชไอวี/เอดส์ ประเทศไทยและองค์กรภาคีได้เคยยื่นคำคัดค้านคำขอรับสิทธิบัตร 4 ฉบับ ที่บริษัทยาข้ามชาติขอจดสิทธิบัตรให้กับยารักษาไวรัสตับอักเสบซี จนถึงปัจจุบันนับเป็นเวลา 5 – 7 ปีแล้วแต่กรมทรัพย์สินทางปัญญายังไม่มีคำตัดสินออกมา เครือข่ายผู้ติดเชื้อฯ จึงยื่นจดหมายถึงกรมทรัพย์สินทางปัญญาเมื่อ 18 เมษายน 2566 เพื่อติดตามขอทราบความคืบหน้าการพิจารณาคำคัดค้านทั้ง 4 ฉบับอีกครั้งแต่ก็ยังไม่ได้รับคำตอบใดๆ จากกรมทรัพย์สินทางปัญญากลับมาเหมือนเดิม