เครือข่ายภาคประชาสังคมด้านการเข้าถึงยา ‘ชื่นชม’ คณะผู้แทนเจรจาเอฟทีเอไทย – เอฟต้าและกระทรวงสาธารณสุขของไทย ที่เคารพความคิดเห็นของภาคประชาสังคมและยืนหยัดจุดยืนรักษาผลประโยชน์ของคนไทย การเจรจาจึงไม่มีข้อผูกมัดที่น่ากังวลด้านการเข้าถึงยาและระบบหลักประกันสุขภาพ เว้นแต่มาตรการชายแดนและการบังคับใช้กฎหมายทรัพย์สินทางปัญญา และต้องระวังทริปส์พลัสที่อยู่ในเอฟทีเอที่ไทยกำลังเจรจากับอียู

นางยุพา สุขเรือง ประธานเครือข่ายผู้ติดเชื้อเอชไอวี/เอดส์ ประเทศไทย (เครือข่ายผู้ติดเชื้อฯ) กล่าวว่า ทุกวันนี้ผู้ติดเชื้อเอชไอวีกว่า 400,000 คนในประเทศสามารถเข้าถึงการรักษาด้วยยาต้านไวรัสเอชไอวี (ยาต้านไวรัสฯ) ภายใต้ระบบหลักประกันสุขภาพทั้ง 3 ระบบ (บัตรทอง ประกันสังคม ข้าราชการ)ได้อย่างทั่วถึง เพราะไม่มีอุปสรรคเรื่องสิทธิบัตรที่จดสำหรับยาต้านไวรัสฯ และประเทศไทยก็มียาต้านไวรัสฯ สำหรับการป้องกันและรักษาเอชไอวีที่เป็นยาชื่อสามัญในราคาไม่แพง ผู้ติดเชื้อฯ จึงไม่ต้องเสียชีวิตจากโรคติดเชื้อฉวยโอกาส อีกทั้งยังทำให้ผู้ติดเชื้อฯ สามารถรณรงค์เรื่องการอยู่ร่วมในสังคมและการขจัดข้อกังวลเรื่องการส่งผ่านเชื้อเอชไอวีได้อย่างต่อเนื่อง เพราะระบบหลักประกันสุขภาพมียาต้านไวรัสฯ ที่เพียงพอให้กับคนที่จำเป็นต้องใช้ ดังนั้น การจับตาเรื่องเอฟทีเอจึงเป็นสิ่งสำคัญที่ภาคประชาสังคมต้องเฝ้าระวังและคัดค้าน โดยเฉพาะประเด็นที่จะส่งผลกระทบต่อการเข้าถึงยาของประชาชน
“ในฐานะตัวแทนผู้ติดเชื้อเอชไอวีในประเทศไทย รู้สึกโล่งใจระดับหนึ่งที่การเจรจาเอฟทีเอไทยกับเอฟต้าเสร็จสิ้นลง โดยมีข้อผูกมัดด้านทรัพย์สินทางปัญญาที่เป็นทริปส์พลัส ‘เฉพาะ’ เรื่องมาตรการชายแดนและการบังคับใช้กฎหมายทรัพย์สินทางปัญญา ซึ่งอาจเป็นอุปสรรคสำคัญที่จะทำให้ยามีราคาแพงและประชาชนจะเข้าไม่ถึงยาที่จำเป็น ซึ่งเป็นสถานการณ์ที่ยังวางใจไม่ได้ เพราะไทยกำลังเจรจาเอฟทีเออีกฉบับกับอียู (สหภาพยุโรป) ที่เรียกร้องเรื่องทริปส์พลัสเข้มงวดมาก อียูมีสมาชิก 27 ประเทศ เอฟต้ามีสมาชิก 4 ประเทศ ขนาดเศรษฐกิจของอียูใหญ่กว่าเอฟต้ามาก ซึ่งน่าจะมีแรงกดดันในการเจรจาและน่าเป็นห่วงมากกว่า เพราะถ้าไทยยอมเซ็นเอฟทีเอตามเงื่อนไขที่อียูเรียกร้อง เอฟต้าก็จะได้ผลประโยชน์จากเงื่อนไขและข้อผูกมัดที่ไทยเซ็นเอฟทีเอกับอียูด้วย” ยุพากล่าว

นายเฉลิมศักดิ์ กิตติตระกูล ผู้จัดการโครงการส่งเสริมการเข้าถึงยา เครือข่ายผู้ติดเชื้อฯ กล่าวว่า ภาคประชาสังคมทราบข่าวจากกรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศในการประชุมแจ้งความคืบหน้าการเจรจาเมื่อวันที่ 23 พ.ย. 2567 ว่าได้ข้อสรุปแล้ว และจะมีการลงนามในการประชุม World Economic Forum ในเดือนมกราคม 68 ทั้งนี้ เราได้ถามผู้แทนการเจรจาฝ่ายไทยที่ดูแลเรื่องทรัพย์สินทางปัญญา และผู้แทนฯ ได้ตอบยืนยันว่าในข้อสรุปการเจรจาไม่มีข้อกังวลในเรื่องทรัพย์สินทางปัญญาและการเข้าถึงยา แต่ยังไม่สามารถเปิดเผยข้อมูลเนื้อหาที่เป็นข้อสรุปการเจรจาได้จนกว่าจะลงนามแล้วเสร็จ
ผู้จัดการโครงการส่งเสริมการเข้าถึงยากล่าวต่อไปว่า ภายหลังจากที่ได้มีการลงนามที่เมืองดาวอส ประเทศสวิสเซอร์แลนด์ ฝ่ายเอฟต้าได้นำเนื้อหาการเจรจาที่สรุปและลงนามโพสต์บนเว็บไซต์ของเอฟต้า พบเนื้อหาที่น่าสนใจใน 3 ประเด็น คือ 1) ไม่มีข้อผูกมัดด้านทรัพย์สินทางปัญญาที่เข้มงวดกว่าความตกลงทริปส์และจะผลกระทบต่อการเข้าถึงยา ในเรื่องการผูกขาดข้อมูลทางยา การขยายอายุสิทธิบัตร การขยายนิยามสิ่งที่จะจดสิทธิบัตรได้ และการเชื่อมโยงการขึ้นทะเบียนยากับการจดสิทธิบัตร 2) ไม่มีเงื่อนไขที่น่ากังวลในเรื่องการจัดซื้อจัดจ้างโดยรัฐ และการคุ้มครองการลงทุนที่ให้นักลงทุนต่างชาติฟ้องร้องรัฐในกรณีที่ออกนโยบายเพื่อประโยชน์สาธารณะ และ 3) ไม่บังคับให้ประเทศไทยเข้าร่วมเป็นภาคีในอนุสัญญายูปอฟ 1991 ที่เกี่ยวกับการคุ้มครองพันธุ์พืชใหม่ แต่มีข้อกังวลในเอฟทีเอที่ไทยลงนามไปกับเอฟต้าอยู่ 2 ประเด็น คือ 1) มาตรการชายแดนและการบังคับใช้กฎหมายทรัพย์สินทางปัญญา และ 2) เอฟต้าขอสงวนสิทธิที่จะทบทวนเอฟทีเอที่เซ็นไปและนำมาตรการต่างๆ กลับมาหารือหรือเจรจาใหม่ได้
เฉลิมศักดิ์กล่าวเพิ่มเติมว่า จากภาคผนวกของบทว่าด้วยทรัพย์สินทางปัญญา มีข้อน่ากังวลเกี่ยวกับมาตรการชายแดนและการบังคับใช้กฎหมายทรัพย์สินทางปัญญา ที่ให้เพิ่มโทษทางอาญาสำหรับการละเมิดทรัพย์สินทางปัญญาทุกประเภทในกรณีนำเข้าและส่งออก ซึ่งรวมถึงสินค้าที่เป็นยารักษาโรคและสิทธิบัตรด้วย ในขณะที่ความตกลงทริปส์ขององค์การการค้าโลกไม่ได้กำหนดให้การละเมิดสิทธิบัตรเป็นความผิดที่มีโทษอาญา
นอกจากนี้ ยังกำหนดอำนาจศาลในการพิจารณาให้ยึดสินค้าที่ต้องสงสัยว่าละเมิดทรัพย์สินทางปัญญาไว้จนกว่าคดีถึงที่สุด โดยที่ศาลอาจไม่สามารถใช้ดุลยพินิจให้ปล่อยยาที่ถูกยึดไว้ ให้นำไปขายหรือใช้ในระบบการรักษาพยาบาลเพื่อช่วยชีวิตผู้ป่วยไปก่อนได้ ถ้ามองในมุมการเข้าถึงยา มาตรการนี้อาจเป็นอุปสรรคต่อการเข้าถึงยา เหมือนที่เคยเกิดขึ้นตอนที่ประเทศในทวีปแอฟริกาสั่งและนำเข้ายาจำเป็นจากอินเดียและถูกจับยึดไว้ที่ท่าเรือในเยอรมนีและเนเธอร์แลนด์ ทั้งที่สินค้ายาเหล่านั้นไม่ได้ละเมิดทรัพย์สินทางปัญญาในประเทศต้นทางและปลายทาง แต่ถูกจับยึดในยุโรปเพราะต้องสงสัยว่าละเมิดเครื่องหมายการค้าและสิทธิบัตรในยุโรป
“มาตรการแบบนี้อาจถูกใช้เพื่อสกัดกั้นหรือกำจัดคู่แข่ง และสร้างความหวาดกลัวให้กับอุตสาหกรรมยาชื่อสามัญ เพราะถ้าแพ้คดีนอกจากโทษปรับจะมีโทษทางอาญาด้วย แต่ผู้ที่จะได้รับผลกระทบมากที่สุดคือผู้ป่วย เราจึงต้องหารือประเด็นนี้กับหน่วยงานของรัฐที่รับผิดชอบเพื่อขอความชัดเจน เพื่อป้องกันไม่ให้มีการนำมาตรการนี้มาใช้กลั่นแกล้งและเป็นอุปสรรคต่อการเข้าถึงยาที่จำเป็นต่อไป” เฉลิมศักดิ์กล่าว
ประเทศไทยได้ประกาศสรุปการเจรจาเอฟทีเอกับกลุ่มประเทศเอฟต้าเมื่อวันที่ 29 พ.ย. 2567 และได้มีการลงนามที่การประชุมสภาเศรษฐกิจโลก (World Economic Forum) ที่เมืองดาวอส ประเทศสวิสเซอร์แลนด์เมื่อวันที่ 23 ม.ค. 2568 หลังจากที่เอฟทีเอฉบับนี้ลงนามแล้ว ทั้ง 2 ฝ่ายจะต้องนำความตกลงที่ลงนามแล้วขอความเห็นชอบจากรัฐสภาอีกครั้งก่อน
…
ที่มาภาพประกอบข่าว: เว็บไซต์พรรคเพื่อไทย https://www.ptp.or.th/archives/28940