การตรวจเลือดเพื่อหาเชื้อเอชไอวีขึ้นอยู่กับ “การประเมินความเสี่ยง” ที่ต้องมีครบ 3 ปัจจัย หรือตามหลัก SQQR (Source –Quality-Quantity-Route) ซึ่งรับรองโดยองค์การอนามัยโลก ดังนี้
1) สัมผัสแหล่งที่อยู่ของเชื้อเอชไอวี: เชื้อเอชไอวีอยู่ในคนเท่านั้นโดยอาศัยอยู่กับเม็ดเลือดขาว และอยู่ในสารคัดหลั่งบางอย่างของร่างกาย ที่พบมากคือ เลือด น้ำอสุจิ และน้ำในช่องคลอด ส่วนในน้ำลายหรือน้ำตาจะมีเชื้อเอชไอวีอยู่น้อยมากจนไม่สามารถติดต่อไปสู่คนอื่นได้ อีกทั้งยังไม่พบเชื้อเอชไอวีในเหงื่อ น้ำตา อุจจาระ ปัสสาวะ ส่วนในน้ำนมมีเชื้อเอชไอวีอยู่น้อยมากเช่นกัน แต่เนื่องจากทารกดูดน้ำนมเป็นปริมาณมาก จึงมีโอกาสเสี่ยงต่อการรับเชื้อมากขึ้นด้วย
2) ปริมาณและคุณภาพของเชื้อเอชไอวี: เชื้อเอชไอวีที่ติดต่อได้ต้องเป็นเชื้อเอชไอวีที่อยู่ในสภาพแวดล้อมที่เหมาะสม เช่น เข้าไปในกระแสเลือด ช่องคลอด ช่องทวารหนัก เป็นต้น แต่ถ้าเชื้อออกมาและอยู่ในที่ร้อน แห้ง หรือนอกร่างกาย เชื้อจะด้อยคุณภาพและไม่สามารถติดต่อไปสู่คนอื่นได้ อีกทั้งสภาพในร่างกายบางส่วน และสภาพแวดล้อมภายนอกร่างกายมีผลทำให้เชื้อเอชไอวีอยู่ไม่ได้ เช่น ภายในกระเพาะอาหาร สภาพอากาศ ความร้อน ความแห้ง หรือความเป็นกรด – ด่าง เป็นต้น
3) มีช่องทางให้เชื้อเอชไอวีเข้าสู่ร่างกายโดยตรง: เช่น การใช้เข็มฉีดยาเสพติดร่วมกัน หรือการมีเพศสัมพันธ์โดยไม่ป้องกัน ซึ่งเป็นการส่งต่อเชื้อกันโดยตรง โดยกรณีของการมีเพศสัมพันธ์โดยไม่ป้องกัน เชื้ออาจจะผ่านเข้าสู่ร่างกายทางเยื่อบุช่องคลอด เยื่อบุช่องทวาร หรือบริเวณเยื่อบุอ่อนปลายอวัยวะเพศชาย แต่ถ้าเป็นผิวหนังทั่วไปเชื้อเอชไอวีไม่สามารถเข้าไปได้
กรณีที่มีความเสี่ยงทางบาดแผล บาดแผลต้องเป็นแผลกว้าง ใหญ่ และสดเท่านั้น รวมทั้งมีปริมาณและคุณภาพของเชื้อเอชไอวีต้องมีมากพอ
“ถ้าขาดปัจจัยข้อใดข้อหนึ่งก็ไม่เสี่ยงต่อการรับเชื้อเอชไอวี”
หากเราประเมินตัวเองได้ว่ามีโอกาสเสี่ยงที่จะได้รับเชื้อจากทางใดทางหนึ่งที่กล่าวมา การตรวจเลือดเพื่อหาเชื้อเอชไอวีก็มีความจำเป็น เพราะการตรวจหาเชื้อฯ ได้เร็วแค่ไหนยิ่งจะทำให้การเข้าถึงการรักษาเป็นไปอย่างทันท่วงที โดยไม่ต้องรอให้ร่างกายเกิดภาวะเจ็บป่วยก่อน
อย่างไรก็ตาม ก่อนตัดสินใจตรวจเลือดต้องได้รับคำปรึกษาอย่างรอบด้าน และเป็นสิทธิที่เราจะตัดสินใจตรวจหรือไม่ตรวจก็ได้ (VCT: Voluntary Counselling and Testing) การบังคับตรวจเลือดไม่ว่ากรณีใด ๆ ไม่สามารถทำได้ เพราะถือเป็นเรื่องผิดกฎหมาย ส่วนการเปิดเผยผลเลือดถือเป็นสิทธิเฉพาะบุคคล ที่ผู้อื่นไม่สามารถนำไปเปิดเผยได้ ถ้าเราไม่ยินยอมหรืออนุญาต
ความหมายของผลเลือด
ถ้าผลเลือดเป็นลบ เป็นไปได้สองอย่าง อย่างแรกหมายความว่า ร่างกายไม่ได้รับเชื้อเอชไอวี จากความเสี่ยงครั้งล่าสุด (ซึ่งต้องเป็นความเสี่ยงนับย้อนหลังไป 1 เดือนก่อนการตรวจเลือด) หรืออย่างที่สอง ถ้าความเสี่ยงครั้งล่าสุดผ่านมาเป็นระยะน้อยกว่า 1 เดือน แล้วมาตรวจเลือด อาจจะ ได้รับเชื้อมาแล้ว แต่อยู่ช่วงเวลาที่ยังอาจตรวจไม่พบการติดเชื้อ( ดังนั้น สิ่งสำคัญคือ การประเมินความเสี่ยงครั้ง “ล่าสุด” ของตัวเองให้ถูกต้อง เพื่อผลการตรวจที่แม่นยำมากขึ้น
หากคุณคิดว่าคุณเสี่ยงต่อการรับเชื้อเอชไอวีจากการมีเพศสัมพันธ์ ‘ถุงยางอนามัย’ เป็นทางเลือกหนึ่งที่ช่วยป้องกันได้ หรือหากคุณไม่สะดวกใจ มีปัญหาในการใช้ถุงยาง แต่อยากลดความเสี่ยงในการรับเชื้อ การมีเพศสัมพันธ์แบบไม่สอดใส่ หรือการช่วยตัวเอง ก็เป็นอีกทางเลือกที่ช่วยได้
หากคุณมีความเสี่ยงจากการใช้เข็มฉีดสารเสพติดร่วมกัน คุณอาจต้องหา ‘เข็มส่วนตัว’ หรือหากจำเป็นต้องใช้ร่วมกับผู้อื่น ก็ควรทำความสะอาดเข็มก่อนใช้ทุกครั้งด้วยการสูบและฉีดล้างเข็ม รวมทั้งกระบอกฉีดยาด้วยน้ำสะอาดหลาย ๆ ครั้งในกรณีที่ไม่มีน้ำยาฆ่าเชื้อหรือสบู่ หรือหากมีน้ำยาฆ่าเชื้อหรือน้ำสบู่ควรใช้ทำความสะอาดร่วมด้วย ที่สำคัญคือต้องล้างทั้งเข็มและกระบอกฉีด
และต้องย้ำอีกครั้งว่าการป้องกันไม่ได้เป็นเรื่องของผู้ติดเชื้อฯ เท่านั้น แต่เป็นเรื่องของทุกคนที่ต้องป้องกันตัวเองทุกครั้ง กับทุกคน เพื่อป้องกันการรับเชื้อเอชไอวี
ถ้าผลเลือดเป็นบวก หมายความว่า ร่างกายคุณได้รับเชื้อเอชไอวี ซึ่งในกรณีที่ผลเลือดเป็นบวก จะมีการตรวจซ้ำผลอีกครั้ง เพื่อยืนยันว่าไม่มีการตรวจผิดพลาดแต่อย่างใด
อย่างไรก็ตาม แม้ร่างกายจะมีเชื้อเอชไอวีอยู่ในร่างกาย แต่ผู้ติดเชื้อสามารถมีชีวิตอยู่ได้ยืนยาว หากได้รับการรักษาที่ได้มาตรฐานอย่างต่อเนื่อง ซึ่งปัจจุบัน การรับการรักษาเรื่องเอชไอวี/เอดส์ ทำได้ทุกโรงพยาบาล สามารถไปขอรับบริการที่โรงพยาบาลตามสิทธิได้ทุกระบบหลักประกันสุขภาพ โดยไม่มีค่าใช้จ่ายแต่อย่างใด
ชุดสิทธิประโยชน์ในการป้องกันและรักษาเอชไอวีภายใต้หลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า (ข้อมูล ณ ปี 2565)
ชุดสิทธิประโยชน์ “การรักษา” ด้านเอชไอวี/เอดส์ ในระบบหลักประกันสุขภาพ | ชุดสิทธิประโยชน์ “การป้องกัน” ด้านเอชไอวี/เอดส์ ในระบบหลักประกันสุขภาพ |
1. การตรวจวินิจฉัย รักษา และป้องกันโรคฉวยโอกาส 2. ตรวจคัดกรองวัณโรคและรักษาวัณโรคแฝง หนองใน หนองในเทียม โรคซิฟิลิส ไวรัสตับอักเสบบีและซี (HBV, HCV) 3. การรักษาด้วยยาต้านไวรัสฯ 4. ตรวจความสมบูรณ์ของเม็ดเลือด (CBC) น้ำตาลในเลือด (FBS) การทำงานของตับ (SGPT/ALT) ไขมันในเลือด (Chol TG) การทำงานของไต ตรวจปัสสาวะ (UA) ครีเอตินิน (Cr) เพื่อดูอัตราการกรองของไต (eGFR) ทุก 6 – 12 เดือน 5. ตรวจ HIV ไวรัลโหลด (VL) ปีละครั้ง (ในกรณีกินยาต้านไวรัสฯ เกิน 6 เดือน) 6. ตรวจซีดี 4 ทุก 6 – 12 เดือน แต่ถ้ากินยาต้านฯ แล้วผลซีดี 4 >350 cells/mm3 และ VL< 50 copies/cc ติดต่อกัน 2 ปี ไม่ต้องตรวจซีดี 4 7. การตรวจเชื้อดื้อยากรณีที่ผลไวรัลโหลดเกิน 1,000 copies ต่อซีซีของเลือด 8. ตรวจมะเร็งปากมดลูกปีละครั้ง | 1. คนที่มีพฤติกรรมเสี่ยงสามารถขอรับการตรวจหาแอนติบอดี (Anti-HIV) ปีละ 2 ครั้ง 2. ตรวจหาการติดเชื้อเอชไอวี (PCR)ในเด็กที่เกิดจากหญิงที่มีเชื้อฯ เมื่อเด็กอายุแรกเกิด – 4 เดือน 3. การให้ยาต้านไวรัสฯ และนมผสม เพื่อลดการติดเชื้อของทารกแรกเกิดที่เกิดจากหญิงที่มีเชื้อฯ 4. การให้ยาต้านไวรัสฯ เพื่อลดโอกาสในการติดเชื้อฯ ก่อนสัมผัสและหลังสัมผัส (ยาเป๊ป PEP: Post -Exposure Prophylaxis และยาเพร็พ PrEP: Pre-Exposure Prophylaxis) 5. ลงทะเบียนรับถุงยางอนามัยฟรี ผ่านแอปฯ “เป๋าตัง” 6. ชุดตรวจคัดกรองเอชไอวีด้วยตัวเอง หรือ HIV self – test ผ่านแอปฯ “เป๋าตัง” |