ในโอกาสที่ประเทศไทยเป็นเจ้าภาพจัดการเจรจาเอฟทีเอไทย – สหภาพยุโรป (อียู) รอบ 4 ระหว่างวันที่ 25 – 29 พ.ย. 67 ที่กรุงเทพฯ เมื่อวันที่ 25 พ.ย.67 เครือข่ายภาคประชาสังคมไทย เช่น เอฟทีเอ ว็อทช์ เครือข่ายผู้ติดเชื้อเอชไอวี/เอดส์ ประเทศไทย เครือข่ายเกษตรทางเลือก สภาองค์กรของผู้บริโภค และเครือข่ายนักวิชาการ ร่วมกันแถลงข่าว “เอฟทีเอไทย-อียู ขัดแย้งเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน: ยาแพง เกษตรหนี้เพิ่ม บัตรทองพัง” ณ มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค (มพบ.) เนื่องจากมีหลายประเด็นอ่อนไหวที่ต้องจับตา ทั้งยาแพง ต้องรับเครื่องมือแพทย์มือสอง บัตรทองเสี่ยงพัง เกษตรกรหนี้เพิ่ม ถูกแย่งจดพันธุ์พืช ‘หวั่น’ ขัดเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน

นายเฉลิมศักดิ์ กิตติตระกูล ผู้ประสานงานของกลุ่มศึกษาข้อตกลงเขตการค้าเสรีภาคประชาชน (เอฟทีเอ ว็อทช์)

นายเฉลิมศักดิ์ กิตติตระกูล ผู้ประสานงานของกลุ่มศึกษาข้อตกลงเขตการค้าเสรีภาคประชาชน (เอฟทีเอ ว็อทช์) ระบุว่า เนื้อหาการเจรจาเอฟทีเอระหว่างไทยกับสหภาพยุโรปมีประเด็นอ่อนไหวและน่ากังวลหลายเรื่อง โดยเฉพาะเรื่องทรัพย์สินทางปัญญาและการเข้าถึงยา สหภาพยุโรปยังคงเสนอข้อผูกมัดเรื่องการคุ้มครองทรัพย์สินทางปัญญาที่เข้มงวดกว่าความตกลงทริปส์ขององค์การการค้าโลก แทบไม่แตกต่างจากที่เคยเจรจาเมื่อ 10 กว่าปีก่อน และจะส่งผลกระทบรุนแรงต่อการเข้าถึงยาและระบบหลักประกันสุขภาพของประเทศ เพราะถ้าไทยยอมรับข้อผูกมัดแบบที่เข้มงวดกว่าความตกลงขององค์การการค้า หรือที่เรียกว่า “ทริปส์พลัส” (TRIPS+) ประเทศไทยจะต้องมีค่าใช้จ่ายด้านยาของประเทศเพิ่มขึ้นหลายหมื่นล้านต่อปี เพราะยาจะมีราคาแพงขึ้นและขัดขวางการแข่งขันของยาชื่อสามัญที่มีราคาถูกกว่า  บีบบังคับให้ต้องใช้ยาต้นแบบราคาแพงเท่านั้น  ระบบหลักประกันสุขภาพจะมีภาระงบประมาณค่ายาเพิ่มมากขึ้นจนอาจแบกรับไม่ไหว

“สหภาพยุโรปยังคงเสนอให้ไทยยอมรับการผูกขาดข้อมูลทางยา (Data Exclusivity) การขยายอายุสิทธิบัตร (Patent terms Extension หรือ Supplementary Protection Certificate: SPC) และมาตรการบังคับใช้กฎหมายทรัพย์สินทางปัญญา (Intellectual Property Enforcement) แม้ในการเจรจาจะปรับเปลี่ยนรายละเอียดของมาตรการต่างๆ ที่เสนอ เช่น การขยายอายุสิทธิบัตรเฉพาะในกรณีที่พิจารณาและอนุมัติทะเบียนยาล่าช้า หรือเฉพาะสิทธิบัตรหลักที่คุ้มครองสารออกฤทธิ์ทางเภสัชกรรม (Active Pharmaceutical Ingredient: AP) แต่ผลกระทบที่จะเกิดกับการเข้าถึงยาของประชาชนยังคงรุนแรง และไม่อาจยอมรับได้  สหภาพยุโรปควรหยุดเรียกร้องให้มีข้อผูกมัดทริปส์พลัส และผู้แทนเจรจาของไทยควรรักษาจุดยืนที่ไม่ยอมรับข้อผูกมัดทริปส์พลัสเหมือนอย่างที่เจรจาเอฟทีเอกับกลุ่มประเทศ EFTA”

นายนิมิตร์ เทียนอุดม คณะกรรมการหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ

นายนิมิตร์ เทียนอุดม คณะกรรมการหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ ผู้แทนองค์กรเอกชนด้านผู้ติดเชื้อเอชไอวีหรือผู้ป่วยเรื้อรัง กล่าวว่า ในการเจรจาเอฟทีเอกับสหภาพยุโรปครั้งนี้  สหภาพยุโรปตั้งเงื่อนไขและเรียกร้องให้ไทยเปิดตลาดการจัดซื้อจัดจ้างภาครัฐ  ที่ผ่านมาประเทศไทยมี พ.ร.บ. การจัดซื้อจัดจ้างและบริหารพัสดุภาครัฐที่สนับสนุนการใช้ยาที่ผลิตในประเทศ และยังมี พ.ร.บ. ส่งเสริมการใช้ประโยชน์ผลงานวิจัยและนวัตกรรม ที่ส่งเสริมให้มีการวิจัยและพัฒนานวัตกรรม รวมถึงยา เวชภัณฑ์ และเครื่องมือทางการแพทย์  ถ้าไทยต้องเปิดตลาดการจัดซื้อจัดจ้างภาครัฐ มันจะส่งผลกระทบต่อความมั่นคงทางยาของประเทศไทยในระยะยาว  เพราะไทยต้องยกเลิกกฎหมายหรือนโยบายที่สนับสนุนการใช้ยาและเวชภัณฑ์ภายในประเทศ รวมถึงการส่งเสริมการวิจัยและพัฒนายาด้วย

“ต้องบอกว่าที่ผ่านมา ผู้ติดเชื้อเอชไอวีเข้าถึงการรักษาด้วยยาต้านไวรัสเอชไอวีอย่างทั่วถึง เพราะยาต้านไวรัสเอชไอวีที่ผลิตในประเทศและประชาชนเข้าถึงได้ภายใต้ระบบหลักประกันสุขภาพของประเทศ  ประเทศมีความมั่นคงทางยาในระดับหนึ่ง ต่างจากประเทศอื่นที่ผลิตยาเองในประเทศไม่ได้ ซึ่งเห็นได้ชัดในวิกฤตโรคระบาดที่ สปสช. มีนโยบายส่งเสริมนวัตกรรมในประเทศ และได้เพิ่มแผ่นปิดกะโหลกไททาเนียมเป็นสิทธิประโยชน์ ซึ่งผลงานการวิจัยพัฒนาของบริษัทคนไทย แต่ถ้าไทยยอมรับเรื่องการเปิดตลาดการจัดซื้อจัดจ้างภาครัฐ ไทยต้องยกเลิกกฎหมายและนโยบายส่งเสริมอุตสาหกรรมในประเทศเหล่านั้น ซึ่งจะส่งผลต่อความอยู่รอดของอุตสาหกรรมยาและการวิจัยและพัฒนาในประเทศ และความมั่นคงทางยาของประเทศ”

นายอภิวัฒน์ กวางแก้ว รองประธานเครือข่ายผู้ติดเชื้อเอชไอวี/เอดส์ ประเทศไทย

นายอภิวัฒน์ กวางแก้ว รองประธานเครือข่ายผู้ติดเชื้อเอชไอวี/เอดส์ ประเทศไทย แสดงความไม่ด้วยที่สหภาพยุโรปยื่นข้อเสนอในการเจรจาเอฟทีเอให้ไทยยอมรับเงื่อนไขแบบทริปส์พลัส และกล่าวว่า “สหภาพยุโรปกำลังปากว่าตาขยิบและเลือกปฏิบัติ ตอนที่มีการระบาดของโรคโควิด-19 ที่บางประเทศในสหภาพยุโรปออกกฎหมายในภาวะฉุกเฉินเพื่อแก้ไขกฎหมายสิทธิบัตร เพื่อจัดหายาและวัคซีนให้กับประชาชนได้โดยไม่มีเรื่องการผูกขาดด้วยสิทธิบัตรมาเป็นอุปสรรค  แม้กระทั่งเมื่อการระบาดของโควิด-19 คลี่คลายแล้ว มีการเสนอกฎหมายต่อสภายุโรปเกี่ยวกับการใช้มาตรการซีแอลได้สะดวกขึ้นภายใต้ภาวะโรคระบาด แต่ในการเจรจาเอฟทีเอสหภาพยุโรปกลับยื่นเงื่อนไขแบบทริปส์พลัสให้กับประเทศไทยเต็มไปหมด ที่จะทำให้มีอุปสรรคด้านสิทธิบัตรขัดขวางการเข้าถึงยาของคนไทย ทั้งๆ ที่เพิ่งผ่านวิกฤตโควิด-19 มา ในขณะที่รัฐบาลสหภาพยุโรปต้องการคุ้มครองสุขภาพของคนของตัวเอง ประเทศอื่นก็เช่นกัน สหภาพยุโรปต้องไม่กระทำตัวสองมาตรฐานในการคุ้มครองสุขภาพและชีวิตของประชาชน”

นางสาวมลฤดี โพธิ์อินทร์ นักวิชาการด้านอาหาร ยา และผลิตภัณฑ์สุขภาพ สภาองค์กรของผู้บริโภค

ทางด้าน นางสาวมลฤดี โพธิ์อินทร์ นักวิชาการด้านอาหาร ยา และผลิตภัณฑ์สุขภาพ สภาองค์กรของผู้บริโภค ชี้ว่าข้อเรียกร้องของสหภาพยุโรปที่น่าห่วงกังวลมากสำหรับผู้บริโภคอีกประการหนึ่งคือ ประเทศไทยถูกบังคับให้นำเข้าเครื่องมือแพทย์ใช้แล้วที่ผ่านกระบวนการผลิตซ้ำหรือผลิตใหม่

“ในขณะที่ประเทศยังไม่มีศักยภาพในการควบคุมกำกับเครื่องมือแพทย์เหล่านี้ จะส่งผลให้ผู้ป่วยอาจได้รับการวินิจฉัยและการรักษาโรคผิดพลาดหรือไม่ได้มาตรฐานได้ แม้แต่การจัดซื้อจัดจ้างตามโรงพยาบาลรัฐก็จะถูกบังคับห้ามปฏิเสธเครื่องมือแพทย์ re-manufacturing เหล่านี้ เกรงว่าในที่สุดไทยจะถูกเป็นที่ทิ้งขยะมือสอง”

อีกประเด็นที่สำคัญต่อผู้บริโภค ขณะนี้อาหารที่นำเข้ามาจำหน่ายในไทยพบว่ายังไม่มีฉลากภาษาไทยกำกับ ไม่มีการแสดงรายละเอียดของอาหารที่ชัดเจนเพื่อให้ผู้บริโภคได้รู้จักที่มาของอาหารรวมไปถึงองค์ประกอบของอาหาร อีกทั้งไทยยังไม่มีการตรวจสอบคุณภาพที่ด่านนำเข้า หากพบสารปนเปื้อนหรือสารที่เป็นอันตรายจะไม่มีระบบการเรียกคืนสินค้า รวมถึงตอนนี้ในไทยยังไม่มีมาตรการให้บริษัทออนไลน์ขึ้นทะเบียนสินค้า ไม่มีการยืนยันตัวตนเป็นผู้ค้าออนไลน์ อาจทำให้ผู้บริโภคได้ของไม่มีคุณภาพ ต้องรอให้กฎหมายภายในประเทศเข้มแข็งก่อนถึงจะสร้างความมั่นใจให้กับผู้บริโภคได้ หรือถ้าจะเปิดให้มีสินค้าเข้ามาจำหน่ายในประเทศต้องเข้มงวดเรื่องการตรวจสอบคุณภาพสินค้าที่เข้ามาด้วย

นางนันทวัน หาญดี เครือข่ายเกษตรกรรมทางเลือก

นางนันทวัน หาญดี เครือข่ายเกษตรกรรมทางเลือก ยืนยันให้ผู้เจรจาฝ่ายไทยต้องปฏิเสธการเข้าเป็นภาคีอนุสัญญา UPOV1991 ตามข้อเรียกร้องของสหภาพยุโรป ดังที่เคยยืนยันหนักแน่นมาแล้วในการเจรจากับสมาคมการค้าเสรียุโรป (EFTA)

“UPOV 1991 คือ อนุสัญญาระหว่างประเทศที่มุ่งเน้นเรื่องการคุ้มครองพันธุ์พืชใหม่ โดยให้สิทธิเด็ดขาดในพันธุ์พืชใหม่แก่นักปรับปรุงพันธุ์ เป็นการคุ้มครองทรัพย์สินทางปัญญาด้านพืช ภายใต้ข้อบททรัพย์สินทางปัญญา ซึ่งผลการศึกษาของทีดีอาร์ไอระบุว่าไทยขาดความเหมาะสม หรือไม่ควรที่จะเข้าเป็นสมาชิก UPOV 1991 โดยสิ้นเชิงเพราะไทยถือเป็นประเทศที่มีความหลากหลายทางชีวภาพค่อนข้างมาก เช่นเดียวกับรายงานคณะกรรมาธิการวิสามัญผลกระทบการเข้าร่วม CPTPP ที่ชี้ว่าเป็นประเด็นที่อ่อนไหวมากและผลกระทบรุนแรง”

เครือข่ายเกษตรกรรมทางเลือก ระบุว่า การเก็บรักษาพันธุ์พืชไปปลูกต่อ เป็นหัวใจสำคัญของระบบเกษตรกรรมและความมั่นคงทางอาหาร แต่ภายใต้อนุสัญญาดังกล่าว การเก็บพันธุ์พืชไปปลูกต่อ แทบทุกกรณีมีความผิดตามกฎหมาย นั้นคือ เมล็ดพันธุ์ ส่วนขยายพันธุ์ ผลผลิตที่เก็บเกี่ยวได้ และผลิตภัณฑ์จะถือเป็นกรรมสิทธิ์ของบริษัท ทำลายศักยภาพนักปรับปรุงพันธุ์รายย่อยและเกษตรกร ส่งผลให้นักปรับปรุงพันธุ์รายย่อยสูญหาย ถือเป็นการสนับสนุนโจรสลัดชีวภาพทางอ้อม ทำให้ราคาเมล็ดพันธุ์ที่เกษตรกรต้องจ่ายแพงขึ้น ซึ่งเมล็ดพันธุ์จะแพงขึ้น 2-6 เท่าตัว อีกทั้งไม่หลากหลาย

“เครือข่ายเกษตรกรรมทางเลือก (ประเทศไทย) ขอยืนยันไม่เห็นด้วย และคัดค้านการเข้าร่วมการเจรจาการค้าเอฟทีเอไทย – อียูที่ต้องยอมรับเงื่อนไขของการเข้าร่วมเป็นภาคีอนุสัญญา UPOV (ยูปอฟ) 1991 รวมถึงความพยายามปรับ แก้ไขกฎหมายคุ้มครองพันธุ์พืช พ.ศ.2542  ให้สอดคล้องกับอนุสัญญา UPOV 1991 ของกรมวิชาการเกษตร กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ด้วย”

ศ.ดร.นิทัศน์ ศิริโชติรัตน์ สถาบันส่งเสริมสุขภาพไทย มูลนิธิสาธารณสุขแห่งชาติ

ศ.ดร.นิทัศน์ ศิริโชติรัตน์ สถาบันส่งเสริมสุขภาพไทย มูลนิธิสาธารณสุขแห่งชาติ เห็นว่า การค้าระหว่างประเทศควรส่งเสริมการพัฒนาอย่างยั่งยืน ดังนั้นกรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ กระทรวงพาณิชย์และทีมเจรจาฝ่ายไทย มีบทบาทสำคัญ ในการขับเคลื่อนเพื่อให้เกิดการพัฒนาเศรษฐกิจที่ยั่งยืน และป้องกันไม่ให้เกิดความเหลื่อมล้ำทางเศรษฐกิจ สังคม และสุขภาพ จาก “ตัวกำหนดพาณิชย์ที่มีผลกระทบต่อสุขภาพ (Commercial Determinants of Health) โดยผลิตภัณฑ์ 4 ประเภท (สุรา ยาสูบ อาหารแปรรูป พลังงานจากฟอสซิล) เป็นสาเหตุของความเหลื่อมล้ำทางเศรษฐกิจ สังคม และสุขภาพขององค์การสหประชาชาติ จึงขับเคลื่อนให้รัฐบาลของประเทศต่างๆ ใช้หลักการ “ผู้ก่อความเสียหาย ต้องเป็นผู้จ่าย” เพราะองค์กรธุรกิจ 4 ประเภทดังกล่าว เป็นสาเหตุสำคัญของการแพร่ระบาดระดับโลกของโรคไม่ติดต่อและเป็นสาเหตุของการเสียชีวิต 19 ล้านคนต่อปี ดังนั้นการเจรจาของกรมเจรจาต้องปกป้องทางสุขภาพให้มากขึ้น ใช้รายละเอียดที่ภาคประชาสังคมเคยให้กรมเจรจานำไปพิจารณาเพื่อปกป้องสุขภาพ เศรษฐกิจ และสังคมให้เกิดความยั่งยืนได้

“กรมเจรจาจะต้องไม่ยอมให้เกิดการแทรกแซงนโยบาย และการครอบงำเพื่อโน้มน้าวผู้กำหนดนโยบายให้เอื้อต่อภาคธุรกิจมากกว่าประโยชน์สาธารณะ ซึ่งก่อให้เกิดความเสียหายอย่างรุนแรงต่อเศรษฐกิจ สังคม และสุขภาพ ผ่านการเจรจาเอฟทีเอด้วย ดังนั้นจึงต้องเจรจาด้วยความรอบคอบเพื่อรักษาพื้นที่ทางนโยบายของภาครัฐในการคุ้มครองประชาชน”

นางสาวกรรณิการ์ กิจติเวชกุล รองประธานเอฟทีเอ ว็อทช์

นางสาวกรรณิการ์ กิจติเวชกุล รองประธานเอฟทีเอ ว็อทช์ กล่าวว่า ขณะนี้ทางสหภาพยุโรปพยายามประชาสัมพันธ์ว่า เอฟทีเอฉบับนี้จะทำให้รัฐบาลไทยต้องลงนามเข้าเป็นภาคีอนุสัญญา ILO ฉบับ 87 และ 98 ว่าด้วยเสรีภาพในการสมาคมและสิทธิในการรวมตัวเจรจาต่อรองทั้งแรงงานไทยและแรงงานต่างชาติ “เป็นเรื่องน่ายินดีและให้การสนับสนุนเพราะเป็นหลักประกันสิทธิที่สำคัญของแรงงานในประเทศไทย อย่างไรก็ตาม หากเอฟทีเอฉบับนี้ มีเรื่อง UPOV 1991, TRIPS+ อื่น และข้อห่วงกังวลที่กล่าวมาแล้ว ก็ไม่สามารถยอมรับได้

ทั้งนี้ ในวันพฤหัสบดีที่ 28 พ.ย.นี้ ทางภาคประชาสังคมไทยได้นัดพบเพื่อหารือกับผู้แทนเจรจาของสหภาพยุโรปในไทยซึ่งจะนำเสนอประเด็นในการแถลงครั้งนี้ไปนำเสนอเป็นลายลักษณ์อักษรให้ทีมเจรจารับฟังอีกครั้ง

….

รับชมไลฟ์แถลงข่าว: “เอฟทีเอไทย-อียู: ยาแพง เกษตรกรหนี้เพิ่ม บัตรทองพัง” https://www.facebook.com/ftawatch/videos/1102716491292114/