ยุพา สุขเรือง ประธานเครือข่ายผู้ติดเชื้อเอชไอวี/เอดส์ ประเทศไทย ให้ข้อมูลเบื้องต้นว่า ก่อนอื่นต้องเข้าใจก่อนว่า สปสช. (สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ) ให้การตรวจคัดกรองมะเร็งปากมดลูก เป็นชุดสิทธิประโยชน์ด้านสร้างเสริมสุขภาพและป้องกันโรคกับคนไทย 2 กลุ่ม คือ กลุ่มผู้หญิงอายุตั้งแต่ 30 – 59 ปี และกลุ่มผู้หญิงที่มีอายุ 15 – 29 ปี ในกรณีที่มีความเสี่ยงสูง เช่น มีเพศสัมพันธ์ตั้งแต่อายุน้อย มีคู่นอนหลายคน ไม่ใช้ถุงยางอนามัย รับการคัดกรองมะเร็งปากมดลูกทุก 5 ปี ซึ่งเป็นสิ่งดีที่ช่วยส่งเสริมให้ผู้หญิงทุกสิทธิการรักษาเข้าถึงการตรวจมากขึ้น
ยุพา เล่าให้ฟังถึงปัญหาในมุมของผู้ติดเชื้อฯ ที่เจอในตอนนี้ว่า แม้มะเร็งปากมดลูกจะมีอัตราการป่วยและเสียชีวิตค่อนข้างสูงหากเข้าถึงการคัดกรอง วินิจฉัย และรักษาที่ช้า ขณะเดียวกันผู้หญิงที่ติดเชื้อเอชไอวี ก็มีโอกาสเสี่ยงเป็นมะเร็งปากมดลูกสูงกว่าผู้หญิงที่ไม่มีเอชไอวีถึง 6 เท่า แต่ชุดสิทธิประโยชน์ที่ สปสช. กำหนดยังมีช่องว่างในผู้รับบริการบางกลุ่ม เช่น คนที่อายุไม่ถึง 30 ปี หรือตั้งแต่ 60 ปีขึ้นไปก็ไม่ได้รับคัดกรอง หรือต้องเป็นไปตามเงื่อนไขกำหนด ซึ่งโดยส่วนตัวมีข้อสังเกตว่าการนิยาม “ความเสี่ยงสูง” นั้นอาจทำให้เกิดการตีตราเรื่องเพศที่ทำให้ผู้หญิงบางคนไม่กล้าเข้ามารับบริการ และยิ่งถ้าเข้าไปรับบริการที่ รพ.สต. (โรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบล) และยังกังวลถึงการรักษาความลับของคนในชุมชนด้วย
ยุพากล่าวต่อไปว่า เมื่อช่วงเดือนกันยายนปีที่แล้ว เครือข่ายผู้ติดเชื้อฯ ได้ทำหนังสือเป็นข้อเสนอส่งไปยัง สปสช. ให้ช่วยพิจารณาการขยายชุดสิทธิประโยชน์ด้านการตรวจคัดกรองมะเร็งปากมดลูก โดยเน้นให้กับผู้ติดเชื้อเอชไอวี ผู้เป็นโรค SLE และผู้ที่อยู่ในภาวะภูมิคุ้มกันต่ำ ต้องได้รับการตรวจคัดกรองมะเร็งปากมดลูกด้วยวิธี HPV DNA ตั้งแต่อายุ 25 ปี โดยให้ตรวจประจำทุก 3 ปี และไม่กำหนดเพดานอายุในการหยุดตรวจ ซึ่งต้องย้ำว่าเป็นข้อเสนอที่เป็นไปตามแนวทางของราชวิทยาลัยสูตินรีแพทย์ฯ *
แผนต่อจากนี้ยุพาให้ความเห็นว่า เครือข่ายผู้ติดเชื้อฯ วางระดับการทำงานไว้ 3 ส่วน คือ ส่วนแรกจะยังคงติดตามข้อเสนอจาก สปสช. โดยใช้จังหวะที่ สปสช. เปิดเวทีรับฟังความเห็นก็จะย้ำข้อเสนอดังกล่าวต่อไป ส่วนที่ 2 คือ การทำงานกับโรงพยาบาลเริ่มต้นในแห่งที่มีศูนย์องค์รวม ให้ความสำคัญต่อการจัดบริการคัดกรองมะเร็งปาดมดลูกที่หน่วยตามความสะดวกของผู้รับบริการที่มารับยาที่คลินิกยาต้านฯ อยู่แล้ว ก็ไม่ต้องผลักให้ไปรับที่ รพ.สต. อีก และส่วนที่ 3 การทำงานกับเพื่อนผู้ติดเชื้อฯ ให้ตระหนักต่อการเดินไปรับการตรวจคัดกรองมะเร็งปากมดลูกให้เร็วขึ้น เพื่อลดความสูญเสีย
“การตรวจเร็ว รู้ผลไว จะช่วยให้ผู้หญิงสามารถวางแผนชีวิตของตัวเองได้ตั้งแต่เริ่มต้น ทั้งการป้องกันและการรักษาที่ไม่ช้าจนเกินไป” ยุพากล่าวย้ำ
…
* หมายเหตุ: แนวทางเวชปฏิบัติของราชวิทยาลัยสูตินรีแพทย์แห่งประเทศไทย เรื่องการตรวจคัดกรอง มะเร็งปากมดลูกในสตรีที่มีภูมิคุ้มกันตํ่า ได้นิยามกลุ่มสตรีที่มีภูมิคุ้มกันตํ่าไว้ ดังนี้ คือ1) ผู้ติดเชื้อเอชไอวี 2) คนที่เป็นโรค Systemic Lupus Erythematosus (โรค SLE) ทั้งที่ได้และไม่ได้รับยากดภูมิคุ้มกัน 3) เป็นโรค rheumatoid arthritis หรือ inflammatory bowel disease และได้รับยากดภูมิคุ้มกัน 4) ได้รับการเปลี่ยนอวัยวะ 5) เคยได้รับ diethylstilbestrol ตั้งแต่อยู่ในครรภ์มารดา และ 6) โรคหรือภาวะอื่น ๆ ที่ได้รับยากดภูมิคุ้มกัน
โดยในกลุ่มสตรีที่มีภูมิคุ้มกันตํ่าได้รับคำแนะนำให้ได้รับการตรวจคัดกรองมะเร็งปากมดลูกในกรณีตรวจด้วยวิธีเอชพีวี ดีเอ็นเอ (HPV DNA) เริ่มตรวจตั้งแต่อายุ 25 ปี ความถี่ในการตรวจทุก 3 ปี ส่วนในกรณีตรวจด้วยวิธีแปปสเมียร์ (Pap Smear) ให้เริ่มตรวจตั้งแต่อายุ 21 ปี หรือเมื่อมีเพศสัมพันธ์มากกว่า 1 ปี ความถี่ในการตรวจทุก 1 ปี ทั้งนี้องค์การอนามัยโลก (The World Health Organization: WHO) ได้แนะนำให้เลือกใช้วิธีตรวจ high-risk HPV DNA เป็นลำดับแรก