หลายคนอาจรู้สึกว่าสมัยนี้แล้วยังมีปัญหาเด็กที่ได้รับผลกระทบจากเอชไอวีไม่ได้เรียนหนังสือยังมีอยู่อีกหรือ อยากบอกว่าจริงๆ ในพื้นที่มีปัญหาแบบนี้ให้เห็นอยู่ตลอด เพียงแต่หลายคนอาจคุ้นชิน หรือเป็นเรื่องเล็กน้อยจนง่ายที่จะถูกมองข้าม
แต่โดยบทบาทของ ‘แกนนำศูนย์องค์รวม’ ที่ต้องดูแลผู้รับบริการอย่างรอบด้าน การมองเห็นสถานการณ์ที่คนแม้จะเพียง 1 คน ต้องเจอกับการการตีตราและถูกเลือกปฏิบัติจากเอชไอวี หากเป็นเรื่องที่พอแก้ไขได้ ก็ไม่รีรอที่จะเข้าไปจัดการ
เรวดี เกาะห้วยบง เจ้าหน้าที่กิจกรรม เครือข่ายผู้ติดเชื้อฯ ภาคอีสาน เล่าให้ฟังว่า ตั้งแต่ช่วงกลางปีที่แล้ว (2567) มีสมาชิกกลุ่มศูนย์องค์รวมรายหนึ่งนำลูกไปสมัครเรียนที่ศูนย์เด็กเล็กของ อบต. (องค์การบริหารส่วนตำบล) แห่งหนึ่ง เมื่อต้นปี (2568) เป็นช่วงเปิดเรียน เขาพาลูกไปโรงเรียน แต่ครูบอกว่า “ตอนนี้เด็กเข้าเรียนเยอะ อยากให้พ่อเอาลูกกลับไปเลี้ยงก่อน” แล้วครูก็ปิดประตูกั้นไม่ให้เด็กเข้าไป
ในกิจกรรมวันนัดรับยาทางสมาชิกกลุ่มได้นำเรื่องดังกล่าวมาเล่าให้แกนนำฟังเหมือนกึ่งปรึกษากึ่งระบาย แกนนำก็ไม่ปล่อยผ่าน รีบวางแผนลงพื้นที่เก็บข้อมูล โดยเริ่มคุยกับพ่อของเด็กเพื่อให้เล่าที่มาที่ไปของเรื่องราวที่เกิดขึ้นเพิ่มเติม
หลังจากนั้นจึงประสานขอข้อมูลเพิ่มเติมจาก อบต. ในฐานะหน่วยงานที่รับผิดชอบศูนย์เด็กเล็กเพื่อฟังความให้รอบด้าน ทางเจ้าหน้าที่ อบต.ที่รับผิดชอบงานด้านการศึกษาให้ข้อมูลว่าทาง อบต.ให้พ่อของเด็กไปสมัครเรียนแล้ว แต่ไม่ทราบว่าเด็กยังไม่ได้เข้าเรียน แกนนำกลุ่มจึงเล่าเรื่องราวในมุมที่ได้ไปสอบถามจากพ่อของเด็กให้เจ้าหน้าที่ฟัง พร้อมทั้งขอปรึกษาถึงแนวทางแก้ไขปัญหา ซึ่งในวันนั้นแม้วงหารือจะไม่เป็นทางการ แต่มี นายกฯ อบต.สนใจร่วมรับฟังด้วย
แกนนำได้รับคำอธิบายผ่านท้องถิ่นจากที่โรงเรียนเล่าให้ฟังว่าผู้ปกครองหลายคนไม่อยากพาลูกมาเรียนถ้ารับเด็กคนนี้เข้าเรียน แกนนำจึงให้ข้อเสนอไปว่า ถ้าทางโรงเรียนไม่สบายใจหรือกังวลเรื่องการติดเชื้อเอชไอวี ทางแกนนำยินดีเป็นกลไกกลางประสานความร่วมมือกับภาคส่วนต่างๆ รวมถึงนายแพทย์ สสจ. (สำนักงานสาธารณสุขจังหวัด) มาร่วมให้ข้อมูลด้วยกันได้
ต่อมาทางท้องถิ่นบอกว่าโรงเรียนขอใบรับรองแพทย์ เพื่อยืนยันผลเลือดของเด็ก แกนนำจึงชี้แจงว่าการขอใบรับรองแพทย์สามารถทำได้ไม่มีปัญหา แต่ไม่อยากให้เป็นเครื่องการันตีในการรับเด็กเข้าเรียน เพราะเด็กทุกคนไม่ว่า ‘จะมี’ หรือ ‘ไม่มีเชื้อ’ ต้องได้เรียนหนังสือตาม ‘สิทธิขั้นพื้นฐาน’ โดยไม่นำเอชไอวีมาเป็นเงื่อนไขในการกีดกัน พร้อมย้ำว่าไม่มีใครติดเอชไอวีจากการอยู่ร่วมกัน และผู้ติดเชื้อฯ ไม่ได้ต้องการสิทธิพิเศษมากกว่าคนอื่น เพียงแค่เราต้องการเข้าถึงสิทธิขั้นพื้นฐานที่ทุกคนพึงจะได้รับอย่างเท่าเทียมกันเท่านั้นเอง
ท้ายที่สุดเด็กก็ได้เข้าเรียนโดยไม่ต้องใช้ใบรับรองแพทย์
ถ้าถามอะไรคือจุดเปลี่ยนที่ทำให้เด็กน้อยได้มีโอกาสได้เข้าเรียน
เรวดีมองว่าการให้คนหน้างาน คือ แกนนำกับครูในโรงเรียนที่เทศบาลให้เบอร์ติดต่อไว้ได้มีโอกาสสื่อสารถึงกันโดยตรง ทำให้ครูได้มีโอกาสอธิบายถึงเรื่องราวที่เกิดขึ้นว่า ‘เป็นเรื่องของความเข้าใจผิด’ โรงเรียนไม่ได้กีดกันเด็ก แต่กังวลว่าจะดูแลได้ไม่ทั่วถึง เพราะเด็กมากันเยอะจึงอยากให้ทยอยกันมาเรียน ในขณะที่แกนนำเองก็ได้มีโอกาสสื่อสารเรื่องเอชไอวีให้ครูเข้าใจ พร้อมทั้งเสนอเครือข่ายความร่วมมือต่างๆ ในการแก้ไขปัญหาร่วมกับทางโรงเรียนหากมีการร้องขอ
“ที่สำคัญแกนนำกลุ่มศูนย์องค์รวมไม่หลงลืมในการทำหน้าที่ดูแลผู้รับบริการ ‘แบบองค์รวม’ ที่ไม่ใช่แค่เรื่องของสุขภาพ แต่ยังรวมถึงการปกป้องคุ้มครองสิทธิ ที่แม้จะเป็นแค่เรื่องเดียวแต่แกนนำไม่ได้ละเลยให้สมาชิกกลุ่มต้องเผชิญปัญหาเพียงลำพัง แต่ร่วมกันแก้ไขปัญหาไปด้วยกันจนคลี่คลาย” เรวดีกล่าว