เมื่อวันที่ 30 มกราคม 2568 เครือข่ายนักวิชาการและองค์กรภาคประชาสังคมที่ทำงานรณรงค์เพื่อการเข้าถึงยา 13 องค์กร/เครือข่าย ส่งความเห็นค้ดค้านการแก้ไข ร่างพระราชบัญญัติ (พรบ.) สิทธิบัตร พ.ศ. … ในมาตราที่เกี่ยวข้องกับ “การใช้สิทธิตามสิทธิบัตรโดยรัฐ”  หรือ “มาตรการซีแอล” ตามที่กรมทรัพย์สินทางปัญญาเปิดรับฟังความคิดเห็นออนไลน์ (อ้างอิง: bit.ly/40W64iX) ตั้งแต่วันที่ 16 ธันวาคม 2567 – 31 มกราคม 2568

นายเฉลิมศักดิ์ กิตติตระกูล ผู้จัดการโครงการส่งเสริมการเข้าถึงยา เครือข่ายผู้ติดเชื้อเอชไอวี/เอดส์ ประเทศไทย ในฐานะตัวแทน 13 เครือข่าย ได้จัดส่งเอกสารแสดงความคิดเห็นจำนวน 19 หน้า ไปยังกรมทรัพย์สินทางปัญญา กระทรวงพาณิชย์ผ่านทางเว็บไซต์รับฟังความคิดเห็น รวมถึงส่งอีเมลไปยังกองกฎหมายของกรมทรัพย์สินทางปัญญาเมื่อวันที่ 30 มกราคมที่ผ่านมา เพื่อแสดงจุดยืน ‘ไม่เห็นด้วย’ กับการแก้ไขสาระสำคัญในการใช้สิทธิตามมาตรการซีแอลในมาตรา 51 ของ พรบ. สิทธิบัตรฉบับปัจจุบัน ซึ่งอยู่ในมาตรา 62 ในร่าง พรบ. สิทธิบัตรฯ ฉบับที่กำลังแก้ไข

ในเอกสารแสดงความคิดเห็นส่วนหนึ่งระบุว่า เครือข่ายนักวิชาการและภาคประชาสังคมฯ ไม่เห็นด้วยอย่างยิ่งต่อความในมาตรา 62 ของร่าง พรบ.สิทธิบัตรฯ ใน 2 ประเด็น คือ 1) การใช้สิทธิตามสิทธิบัตรโดยรัฐ ‘ต้องได้รับความเห็นชอบจากคณะรัฐมนตรี’ ก่อนที่กระทรวง ทบวง หรือกรมจะประกาศคำสั่ง และ 2) การอนุญาตให้ผู้ทรงสิทธิบัตรหรือผู้ได้รับอนุญาต ‘แต่เพียงผู้เดียว’ สามารถอุทธรณ์คำสั่งการใช้สิทธิตามสิทธิบัตรโดยรัฐต่อศาล

เหตุผลสำคัญของการคัดค้าน เพราะถือเป็นการสร้างเงื่อนไขที่เป็นอุปสรรคที่จะทำให้การประกาศใช้มาตรการซีแอลที่มีวัตถุประสงค์เพื่อประโยชน์สาธารณะและป้องกันหรือบรรเทาความเดือดร้อนของประเทศ เป็นไปได้ยากและไม่ทันเวลาต่อสถานการณ์ โดยเฉพาะในช่วงวิกฤต อยู่ในภาวะฉุกเฉิน หรือเพื่อประโยชน์ของประชาชน ที่สำคัญความทุกข์ของประชาชนไม่อาจรอการถ่วงเวลาของผู้ทรงสิทธิบัตรที่ใช้สิทธิโดยไม่ชอบด้วยการใช้มาตรา 62 ในการอุทธรณ์คำสั่งการใช้ซีแอลโดยรัฐต่อศาล

พร้อมทั้งมีข้อเสนอว่าให้การประกาศใช้มาตรการซีแอล ‘ไม่ต้อง’ ผ่านความเห็นชอบจากคณะรัฐมนตรี และไม่อนุญาตให้เจ้าของสิทธิบัตรอุทธรณ์คำสั่งการใช้มาตรการซีแอล เว้นแต่เรื่องค่าตอบแทนการใช้สิทธิที่สามารถอุทธรณ์ต่อคณะกรรมการสิทธิบัตรได้ ทั้งนี้หน่วยราชการควรดำเนินการไปก่อนได้โดยไม่ถือเป็นการละเมิดสิทธิและไม่ต้องรอคำวินิจฉัยเรื่องค่าตอบแทน

นอกจากนี้ยังเสนอว่ามาตรการซีแอลนอกจากใช้กับยาแล้วควรเพิ่มไปยังวัตถุดิบการผลิตยาและผลิตภัณฑ์หรือสิ่งประดิษฐ์ที่ใช้ในการวินิจฉัย ป้องกัน และรักษาโรคด้วย เช่น วัคซีน อุปกรณ์ทางการแพทย์ เวชภัณฑ์ต่างๆ เป็นต้น

“ในช่วงระหว่างและหลังการระบาดของโรคโควิด 19 หลายประเทศ รวมทั้งประเทศในสหภาพยุโรปออกกฎหมายในภาวะฉุกเฉินเพื่อแก้ไขกฎหมายสิทธิบัตร เพื่อจัดหายาและวัคซีนให้กับประชาชนได้โดยไม่มีเรื่องการผูกขาดด้วยสิทธิบัตรมาเป็นอุปสรรค แม้กระทั่งเมื่อการระบาดของโควิด-19 คลี่คลายแล้ว ก็ยังมีการเสนอกฎหมายต่อสภายุโรปเกี่ยวกับการใช้มาตรการซีแอลได้สะดวกขึ้นภายใต้ภาวะโรคระบาดและน่าวิตกกังวล เหตุใดกรมทรัพย์สินทางปัญญาจึงกลับแก้กฎหมายให้การทำซีแอลทำยากขึ้นและยุ่งยากขึ้น” นายเฉลิมศักดิ์ กล่าว

ทางเครือข่ายนักวิชาการและภาคประชาสังคมเพื่อการเข้าถึงยายังได้แสดงความคิดเห็นทั้งหมด 32 ประเด็นและเกี่ยวกับมาตราต่างๆ มากกว่า 40 มาตรา เช่น ความหมายของงานที่ปรากฏอยู่แล้ว การประดิษฐ์ที่มีขั้นการประดิษฐ์สูงขึ้น สิ่งที่ห้ามรับจดสิทธิบัตร การตรวจสอบและการคัดค้านคำขอรับสิทธิบัตร การใช้ทรัพยากรพันธุกรรม ทรัพยากรชีวภาพ หรือภูมิปัญญาท้องถิ่น เป็นต้น

ทั้งนี้ กรมทรัพย์สินทางปัญญาเคยเปิดรับฟังความคิดเห็นต่อ ร่าง พรบ. สิทธิบัตรฉบับนี้เมื่อปี 2563 และนำเรื่องส่งให้สำนักคณะกรรมการกฤษฎีกาพิจารณาพร้อมกับความคิดเห็นที่เปิดรับฟัง  หลังจากที่คณะกรรมการกฤษฎีกาส่งเรื่องกลับมาที่กรมฯ จึงมีการรับฟังความคิดเห็นอีกครั้งก่อนให้รัฐสภาพิจารณา

อนึ่ง 13 องค์กร/เครือข่าย ฝ่ายวิชาการและภาคประชาสังคม ประกอบด้วย กลุ่มศึกษาข้อตกลงเขตการค้าเสรีภาคประชาชน (FTA Watch) กลุ่มศึกษาปัญหายา (กศย.)  เครือข่ายผู้ติดเชื้อเอชไอวี/เอดส์ ประเทศไทย มูลนิธิเข้าถึงเอดส์ มูลนิธิชีววิถี (BioThai)  มูลนิธิพัฒนาการแพทย์แผนไทย (มพท.) มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค (มพบ.) มูลนิธิเพื่อสิทธิความหลากหลาย (FAIR) มูลนิธิเภสัชศาสตร์เพื่อสังคม (มภส.) มูลนิธิสาธารณสุขกับการพัฒนา (มสพ.) ศูนย์วิชาการคุ้มครองผู้บริโภคด้านสุขภาพ (คคส.) ศูนย์วิชาการเฝ้าระวังและพัฒนาระบบยา (กพย.) และสภาองค์กรของผู้บริโภค

เอกสาร: ความคิดเห็นต่อร่างพระราชบัญญัติสิทธิบัตร พ.ศ. …. ที่ประกาศรับฟังความคิดเห็นผ่านเว็บไซด์ระบบกลางทางกฎหมาย เมื่อวันที่ 16 ธันวาคม 2567 ถึง 31 มกราคม 2568 โดยเครือข่ายนักวิชาการและองค์กรภาคประชาสังคมในเรื่องการเข้าถึงยา