เมื่อบ่ายวันที่ 24 ก.ค.67 ในการประชุมเอดส์นานาชาติ ครั้งที่ 25 (The 25th International AIDS Conference) ที่เมืองมิวนิค ประเทศเยอรมันนี นักกิจกรรมทั่วโลกร่วมกันเดินขบวนประท้วงบริษัทยาวีฟ (Viiv) และบริษัทจีเอสเค (GlaxoSmithKlien: GSK) ที่ยื่นฟ้องรัฐบาลโคลัมเบียกรณีที่ประกาศใช้มาตรการใช้สิทธิโดยรัฐหรือซีแอล (Compulsory License) เพื่อให้ผู้ติดเชื้อเอชไอวีเข้าถึงการรักษาด้วยยาโดลูเทกราเวียร์ (Dolutegravir: DTG) จึงทำให้รัฐบาลยังไม่สามารถบังคับใช้มาตรการนี้ได้ และอาจมีคำสั่งให้รัฐบาลยกเลิกการประกาศใช้

รัฐบาลโคลัมเบียประกาศใช้มาตรการซีแอลกับยาโดลูเทกราเวียร์เมื่อ 23 เม.ย. 2567 ซึ่งจะทำให้สามารถนำเข้าหรือผลิตยาโดลูเทกราเวียร์ที่เป็นยาชื่อสามัญ และจะทำให้ยามีราคาถูกกว่ายาต้นแบบของบริษัทวีฟถึง 17 เท่า ยาโดลูเทกราเวียร์ต้นแบบของบริษัทวีฟราคา 102 ดอลลาร์ (3,570 บาท) ต่อคนต่อเดือน ในขณะที่ยาสามัญมีราคาเพียง 3.70 ดอลลาร์ (130 บาท) ต่อคนต่อเดือน

แต่บริษัทวีฟและบริษัทจีเอสเคร่วมกับสมาคมบริษัทยาข้ามชาติในโคลัมเบียยื่นฟ้องต่อศาล คัดค้านมาตรการซีแอลที่รัฐบาลประกาศใช้ ซึ่งทำให้ยังไม่สามารถบังคับใช้มาตรการนี้ได้ และอาจมีคำสั่งให้รัฐบาลยกเลิกการประกาศใช้

ทั้งนี้ยาโดลูเทกราเวียร์เป็นยาที่องค์การอนามัยโลกแนะนำให้แต่ละประเทศใช้เป็นยาต้านไวรัสเอชไวอีสูตรพื้นฐาน เพราะใช้รักษาเอชไอวีได้ดี กดปริมาณเชื้อได้เร็ว เกิดภาวะดื้อยาได้ยาก อาการไม่พึงประสงค์น้อย และไม่ค่อยมีปัญหาในการใช้ร่วมกับยาอื่น

แม้โคลัมเบียมีผู้ติดเชื้อเอชไอวีที่เป็นผู้ใหญ่และเด็ก 190,000 คน แต่ยาโดลูเทกราเวียร์ในโคลัมเบียตอนนี้กลับมีราคาแพงมาก แต่ยังทำซีแอลไม่ได้เพราะบริษัทยากำลังฟ้องร้องอยู่

มาตรการใช้สิทธิโดยรัฐหรือซีแอลเป็นมาตรการยืดหยุ่นที่กำหนดไว้ในความตกลงทรัพย์สินทางปัญญาขององค์การการค้าโลกและในกฎหมายสิทธิบัตรของประเทศต่างๆ และมีไว้เพื่อแก้ไขปัญหาการผูกขาดด้วยสิทธิบัตรจนทำให้ประชาชนเข้าถึงไม่ยาจำเป็น

….

อ่านเพิ่มเติม: ภาคประชาสังคมเอดส์ละตินอเมริกาเรียกร้องบริษัทยา Viiv ถอนฟ้องรัฐบาลโคลัมเบียที่ประกาศใช้ซีแอลกับยาต้านไวรัสฯ https://thaiplus.net/contents/3078