ที่ผ่านมาทั่วโลกพยายามแก้ไขปัญหาเอชไอวีกันอย่างเต็มที่ แต่พบว่าในแต่ละปียังมีผู้ติดเชื้อเอชไอวีรายใหม่มากกว่าหนึ่งล้านคน “ยาลีนาคาพาเวียร์” (Lenacapavir: LEN) ซึ่งเป็นยาต้านไวรัสเอชไอวี (ยาต้านไวรัสฯ) แบบออกฤทธิ์นาน จะช่วยลดการระบาดของเอชไอวีทั่วโลกได้ แต่ยานี้ถูกบริษัทกิลิแอด (Gilead) จดสิทธิบัตรผูกขาด ทำให้ยามีราคาแพง ผู้ติดเชื้อเอชไอวีหลายประเทศที่จำเป็นต้องใช้ยานี้จึงไม่มีโอกาสได้เข้าถึง

“PURPOSE-1” เป็นโครงการทดลองใช้ยาลีนาคาพาเวียร์เพื่อป้องกันการติดเชื้อเอชไอวี โดยทดลองเปรียบเทียบระหว่างการฉีดยาลีนาคาพาเวียร์ทุก 6 เดือนกับการกินยาเพร็พ (PrEP: เป็ยยาที่ใช้ป้องกันการติดเชื้อเอชไอวีก่อนการสัมผัสเชื้อ) ในอาสาสมัครวัยรุ่นหญิงและผู้หญิง 5,338 คนในแอฟริกาใต้และยูกันดา

แต่การทดลองต้องยุติลงก่อนเวลา เพราะผลออกมาว่ายาลีนาคาพาเวียร์มีประสิทธิภาพในการป้องกันการติดเชื้อฯ ได้ดีกว่ายา PrEP แบบกิน กล่าวคือในอาสาสมัครจำนวน 2,134 คนที่ได้รับการฉีดยาลีนาคาพาเวียร์ ‘ไม่มี’ ใครติดเชื้อเอชไอวีเลย แต่ในอาสาสมัครจำนวน 1,068 คนที่กินยา PrEP ที่เป็นยาทีโนโฟเวียร์และยาเอ็มไตรซิทาบีน (Tenofovir/Emtricitabine (TDF/FTC)) มี 16 คนที่ติดเชื้อเอชไอวี และในอาสาสมัคร 2,136 คน ที่กินยาทีโนโฟเวียร์ อะลาเฟนามายด์ หรือทาฟ กับยาเอ็มไตรซิทาบีน (Tenfovir Alafenamide/Emtricitabine (TAF/FTC) มี 39 คนที่ติดเชื้อเอชไอวี

ก่อนหน้านี้ ยาลีนาคาพาเวียร์ถูกใช้รักษาให้ผู้ติดเชื้อฯ ที่ดื้อยาต้านไวรัสฯ หลายชนิดแล้ว และคาดการณ์ว่ายานี้จะได้รับการอนุมัติให้ใช้เป็นยาป้องกันการติดเชื้อเอชไอวีในคนที่ไม่เคยสัมผัสเชื้อเอชไอวีมาก่อน (PrEP) ในปี 2025 ซึ่งบริษัทกิลิแอดเป็นผู้จดสิทธิบัตรยา โดยจะขายยาลีนาคาพาเวียร์ในสหรัฐอเมริกาที่ราคา 40,000 ดอลลาร์ต่อคนต่อปี (1.4 ล้านบาท) ทั้งที่ต้นทุนการผลิตบวกกำไรแล้วราคาควรจะถูกลงกว่านี้

งานวิจัยที่สนับสนุนโดยภาคีรณรงค์เพื่อการเข้าถึงยาราคาไม่แพง (Make Medicines Affordable: MMA) ที่นำเสนอในการประชุมเอดส์โลกที่กรุงมิวนิค ประเทศเยอรมันนีเมื่อกรกฏาคมที่ผ่านมา ให้ข้อมูลว่ายาลีนาคาพาเวียร์ที่เป็นยาชื่อสามัญผลิตออกมาในช่วงแรกน่าจะมีราคาอยู่ที่ 63 – 93 ดอลลาร์ต่อคนต่อปี (2,200 – 3,200 บาท) และราคาจะลดลงมาเหลือ 26 – 40 ดอลลาร์ต่อคนต่อปี (910 – 1,400 บาท) เมื่อผลิตได้มากถึงสิบล้านโดส

แม้ว่าบริษัทกิลิแอดได้ประกาศว่าจะใช้ “มาตรการให้ใช้สิทธิโดยสมัครใจ” (Voluntary license: VL) กับยาลีนาคาพาเวียร์ให้กับประเทศที่มีรายได้ปานกลางที่เป็นการทำสัญญาระหว่างเจ้าของสิทธิบัตรกับคู่สัญญาที่เป็นบริษัทยาชื่อสามัญ ซึ่งจะอนุญาตให้คู่สัญญาผลิตยาชนิดเดียวที่เป็นยาชื่อสามัญและขายในราคาที่ถูกว่าได้ตามเงื่อนไขที่บริษัทกำหนด

แต่ประเทศรายได้ปานกลางอย่างบราซิลที่มีผู้ติดเชื้อเอชไอวีจำนวนมาก กลับไม่รวมอยู่ในสัญญานี้ของกิลิแอด ผู้ติดเชื้อฯ ในบราซิลจะถูกบีบให้จ่ายค่ายาราคาแพงตามที่กิลิแอดกำหนด

รวมถึงประเทศไทยด้วย

บริษัทกิลิแอดเพิ่งแถลงผลโครงการทดลอง PURPOSE-2 กับยาลีนาคาพาเวียร์ ซึ่งประเทศไทยก็เป็นกลุ่มเป้าหมายหนึ่งที่ร่วมในโครงการทดลองเฟส 2 นี้ด้วย ว่าประสบความสำเร็จในการทดลองไม่แตกต่างจากโครงการ PURPOSE-1 ในเฟสแรก

แต่ไทยกลับถูกกันไม่ให้มีสิทธิในสัญญาซื้อยาราคาถูกที่เรียกว่า “มาตรการการให้ใช้สิทธิโดยสมัครใจ” เช่นเดียวกับบราซิล ทั้งที่บริษัทกิลิแอดใช้ทรัพยากรในประเทศไทยและใช้อาสาสมัครคนไทยในการวิจัยทดลองยาลีนาคาพาเวียร์ในโครงการรอบ 2

ไม่เพียงเท่านั้นบริษัทกิลิแอดได้ยื่นขอจดสิทธิบัตรยาลีนาคาพาเวียร์ไว้หลายฉบับในหลายประเทศ ทั้งที่เป็นสิทธิบัตรหลักและสิทธิบัตรรอง ได้แก่ บราซิล จีน โคลัมเบีย อินเดีย คาซัคสถาน แคนยา โมร็อคโค โมซัมบิก รัสเซีย อัฟริกาใต้ ทาซาเนีย ยูกันดา ยูเครน อุเบกิสถาน เวียดนาม รวมถึง “ไทย” โดยใช้ยุทธวิธีจดสิทธิบัตรแบบไม่มีวันสิ้นสุด (Ever-greening) เพื่อจะขยายเวลาการผูกขาดยาลีนาคาพาเวียร์ด้วยสิทธิบัตรให้นานมากกว่า 20 ปี

แต่ภาคประชาสังคมด้านเอชไอวีในระดับนานาชาติ โดยเฉพาะองค์กรในภาคีรณรงค์ MMA ได้ร่วมกันยื่นคำคัดค้านคำขอรับสิทธิบัตรยาลีนาคาพาเวียร์ในประเทศตนเองไปแล้ว ได้แก่ องค์กร Fundacion GEP ในอาร์เจนตินา DNP+ ในอินเดีย IAC ในอินโดนีเซีย VNP+ ในเวียดนาม และเครือข่ายผู้ติดเชื้อเอชไอวี/เอดส์ ประเทศไทย (TNP+)

กาเบรียลา ชาเวส (Gabriela Chaves) ผู้ประสานงานของทีมวิทยาศาสตร์ของภาคีรณรงค์ MMA อธิบายว่า “การคัดค้านคำขอรับสิทธิบัตรเป็นเครื่องมือสำคัญที่จะช่วยให้ผู้ป่วยเข้าถึงยาจำเป็นได้ การยื่นคำคัดค้านฯ จำเป็นต้องอาศัยข้อมูลทางวิชาการ ทีมของเราได้พัฒนาคำคัดค้านต้นแบบไว้ยื่นคัดค้านคำขอรับสิทธิบัตรยาลีนาคาพาเวียร์ขึ้น ซึ่งองค์กรภาคประชาสังคมอื่นสามารถนำเป็นปรับใช้และยื่นคำคัดค้านในประเทศของตัวเองได้”

โลรีนา ดิ จิเอโน (Lorena Di Giano) จากองค์กร Fundacion GEP ประเทศอาร์เจนตินา กล่าวว่า “ยาลีนาคาพาเวียร์เป็นยาใหม่ที่จำเป็นและสำคัญ เรายอมรับไม่ได้ที่บริษัทยายักษ์ใหญ่จะผูกขาดยานี้และทำให้คนที่จำเป็นต้องใช้เข้าไม่ถึง”

ดอง โด แดง (Dong Do Dang) จากองค์กร VNP+ ในเวียดนาม กล่าวว่า “เรายื่นคำคัดค้านคำขอรับสิทธิบัตรยาลีนาคาพาเวียร์ เพราะเราเชื่อว่าสิทธิบัตรที่ไม่เป็นธรรมจะผูกขาดยาจำเป็นสำหรับช่วยชีวิตคนไม่สมควรได้รับการอนุมัติ”

ลูน กางเต (Loon Gangte) จากองค์กร DNP+ ในอินเดีย กล่าวว่า “มีบริษัทยาชื่อสามัญที่มีศักยภาพจำนวนมากที่ผลิตยาต้านไวรัสเอชไอวีส่งไปทั่วโลก  เราได้เริ่มต่อสู้คัดค้านการจดสิทธิบัตรผูกขาดยาลีนาคาพาเวียร์ เพื่อที่ผลิตในประเทศได้ เราเชื่อว่าทุกคนที่จำเป็นต้องใช้ยานี้ทั่วโลกควรจะเข้าถึงมันได้”

เฉลิมศักดิ์ กิตติตระกูล จากเครือข่ายผู้ติดเชื้อเอชไอวี/เอดส์ ประเทศไทย (TNP+) กล่าวว่า “การป้องกันไม่ให้มีการจดสิทธิบัตรแบบไม่มีวันสิ้นสุดหรือ ever-greening เป็นเรื่องสำคัญ เพราะจะส่งเสริมให้เกิดการผลิตยาภายในประเทศ และยังช่วยส่งเสริมให้มีการแข่งขันมากขึ้นด้วย โดยเฉพาะจากบริษัทยาชื่อสามัญที่ไม่อยู่ในสัญญาการให้ใช้สิทธิโดยสมัครใจ”

————————————————

อ้างอิงข้อมูล:
1. “ภาคประชาสังคมด้านเอชไอวีร่วมแรงคัดค้านการจดสิทธิบัตรยาต้านไวรัสตัวใหม่” จาก https://shorturl.at/ImVxb
2. HIV Community-Based Organizations are Fighting Patent Monopolies on Lenacapavir จาก https://makemedicinesaffordable.org/hiv-community-based-organizations-are-fighting-patent-monopolies-on-lenacapavir/