พญ.อัญชลี อวิหิงสานนท์ หัวหน้าแพทย์ศูนย์ประสานความร่วมมือ เนเธอร์แลนด์ ออสเตรเลีย ประเทศไทย ด้านการวิจัยโรคเอดส์ มาให้ข้อมูลเรื่องแนวทางการดูแลรักษาผู้ติดเชื้อเอชไอวี ในเวทีประชุมสรุปผลการทำงานของศูนย์องค์รวมและทิศทางการพัฒนางานเครือข่ายฯ เมื่อวันที่ 8 สิงหาคมที่ผ่านมาว่า ปัจจุบันยาต้านไวรัสเอชไอวี (ยาต้านไวรัสฯ) สูตรพื้นฐานที่ประเทศไทยจ่ายให้กับผู้ติดเชื้อฯ โดยเฉพาะรายใหม่ เป็นไปตามคำแนะนำขององค์การอนามัยโลก คือ สูตร TAF (ทาฟ)+FTC (เอฟทีซี)+DTG (ยาโดลูเทกราเวียร์) หรือยาสูตร TDF (ทีดีเอฟ)+3TC (3 ทีซี)+DTG ถือเป็นสูตรยาที่ “ไม่ด้อยไปกว่าประเทศอื่น”
ทั้งนี้ยาต้านไวรัสฯ ที่มีส่วนผสมของยาโดลูเทกราเวียร์ (DTG) ที่ประเทศไทยเลือกใช้สามารถกดเชื้อไวรัสฯ ได้ดี มีผลข้างเคียงน้อย (ในขณะที่ยาดารุนาเวียร์ค่อนข้างกินยาก เพราะมักมีอาการคลื่นไส้ร่วมด้วย) อีกทั้งโอกาสในการดื้อยามีน้อย (ดื้อยายากกว่ายาเอฟฟาไวเรนซ์) และเกิดปฏิกิริยาระหว่างยาด้วยกันเองน้อย เช่น ถ้าผู้ติดเชื้อฯ ต้องรักษาโรคไวรัสฯ ซีสามารถกินยาต้านไวรัสฯ สูตรแนะนำได้เลยไม่ต้องปรับเปลี่ยนสูตรยารักษาใหม่
ยาต้านไวรัสฯ ทั้ง 2 สูตรเป็นแบบรวมเม็ดที่สามารถกินตอนไหนก็ได้ไม่เกี่ยวกับมื้ออาหาร เพียงแต่ต้องกินให้ตรงเวลาวันละ 1 ครั้ง แต่ถ้าผู้ติดเชื้อฯ ลืมกินยาต้านไวรัสฯ ให้กินทันทีที่นึกได้ แต่ถ้าลืมกินยาเกิน 12 ชั่วโมงให้เริ่มกินมื้อใหม่ไปเลย อย่างไรก็ตามถ้าผู้ติดเชื้อฯ มีวินัยในการกินยาตรงเวลา กินยาดีมาตลอดแต่ลืมกินยาไป 1 มื้อก็ไม่ต้องเครียด เพราะระดับยาในเลือดแม้จะค่อยๆ ต่ำลงแต่ยังควบคุมเชื้อในกระแสเลือดได้นานถึง 70 ชั่วโมง
ส่วนยาต้านไวรัสฯ สูตร 2 ตัว คือ ยา DTG+ 3TC นั้น องค์การอนามัยโลกยัง “ไม่แนะนำ” ให้ใช้เป็นสูตรเริ่มต้นทันทีที่ตรวจพบเชื้อเอชไอวี เพราะยังไม่ได้ตรวจระดับไวรัสในเลือด และยังไม่ได้ตรวจคัดกรองเรื่องวัณโรคและไวรัสฯ บี ต้องรักษาโรคทั้ง 2 อย่างให้หายก่อน โดยเฉพาะวัณโรคในรายที่ยังไม่เป็นจะต้องได้รับยาป้องกันวัณโรคระยะแฝงก่อนถึงจะเริ่มยาต้านไวรัสฯ สูตร 2 ตัวได้ ส่วนคนที่เคยดื้อยา 3ทีซีมาก่อนก็ไม่สามารถใช้ยา 2 ตัวได้
แล้วยาต้านไวรัสฯ สูตร 2 ตัวเหมาะกับใคร
ถ้าเป็นผู้ติดเชื้อฯ ที่เป็นผู้ติดเชื้อฯ รายใหม่ หรือมีอายุต่ำกว่า 50 ปีแล้วไม่มีโรคร่วมอื่นๆ สามารถใช้ยาต้านไวรัสฯ สูตรพื้นฐานที่แนะนำสูตรใดก็ได้ตามดุลยพินิจของหมอที่ให้การรักษา แต่ถ้าเป็นผู้ติดเชื้อฯ ที่มีอายุ 50 ปีขึ้นไป หรือมีโรค อื่นๆ ร่วมด้วย ควรได้รับการปรับเปลี่ยนมาใช้ยาต้านไวรัสฯ สูตร 2 ตัว รวมถึงในกรณีของคนที่กินยาต้านไวรัสฯ เกิน 1 ปี ถ้าซีดี 4 น้อยกว่า 200 การรักษาล้มเหลว ต้องล้างไต กินยาไม่ดี ต้องให้กินยาต้านฯ สูตร 2 ตัวได้เลย แต่ต้องแน่ใจว่าไม่มีวัณโรค หรือต้องได้รับการป้องกันก่อนถึงจะเริ่มยาได้
เหตุผลที่ไม่อยากให้ผู้ติดเชื้อฯ ใช้ยา TAF หรือ TDF ต่อเนื่องในระยะยาว เพราะยาทั้ง 2 ชนิด โดยเฉพาะยา TDF ถ้าใช้ต่อเนื่องเป็นเวลานานจะมีผลต่อไต เช่น มีโปรตีนในปัสสาวะ การทำงานของไตลดลง เกิดไตวายเรื้อรัง เกิดเยื่อพังผืดที่ไต และไตไม่สามารถกลับมาทำงานได้เป็นปกติแม้จะหยุดยาไปแล้ว
เมื่อปี 2566 เคยมีการเก็บข้อมูลผลการศึกษาของผู้ติดเชื้อฯ จากโรงพยาบาลพุทธชินราช จ.พิษณุโลก และโรงพยาบาลนครพิงค์ จ.เชียงใหม่ พบว่าคนที่กินยา TDF มาระยะหนึ่งเกิดปัญหาไตทำงานลดลง การกรองของไตลดลง ค่าครีเอตินีนสูงขึ้น อาจจะมีโปรตีนในปัสสาวะโดยที่ค่าเคตินีนยังปกติ ตรวจเลือดแล้วมีน้ำตาลในปัสสาวะโดยไม่เป็นเบาหวาน ซึ่งแสดงให้เห็นว่าท่อไตส่วนต้นเริ่มมีปัญหา ในอนาคตอาจเกิดเยื่อผังพืดและแม้จะหยุดยาแล้วไตสามารถกลับมาทำงานได้แค่ 13% ที่สำคัญถ้าผู้ติดเชื้อฯ เป็นไตวายก็จะหาที่ฟอกไตยากขึ้นอีกและอาจเกิดโรคหัวใจร่วมด้วย เราจึงไม่ควรปล่อยให้การทำงานของไตลดลง ยิ่งไตทำงานแย่ลงระดับยา TDF ในเลือดยิ่งสูงขึ้น เพราะไตไม่สามารถขับออกมาได้ดี หากหมอลดปริมาณยา TDF ลงแสดงว่าระดับยาในเลือดเริ่มสูงแล้ว
แต่ถ้าผู้ติดเชื้อฯ คนใดที่เข้าสู่ภาวะสูงวัย (ผู้ติดเชื้อฯ มีภาวะสูงวัยอยู่ที่อายุ 50 ปีขึ้นไป) กินยามานานค่าไตยังไม่มีปัญหาให้ลองต่อรองกับหมอขอเปลี่ยนยา อย่ารอจนไตพังแล้วค่อยเปลี่ยน ถ้าอัตราการกรองของไตน้อยกว่า 50% ไม่ควรใช้ยา TDF แล้ว ถ้าไตทำงานแย่ลง ไขมันขึ้น น้ำหนักขึ้นขอให้หมอเปลี่ยนมาใช้ยาต้านไวรัสฯ สูตร 2 ตัวได้เลย
ดังนั้น ไม่ต้องกลัวว่าจะไม่มียาในระบบแต่ต้องรีบปรับเปลี่ยนสูตรยาก่อนที่ไตจะมีปัญหา และถ้าในอนาคตคนกินยาต้านไวรัสฯ สูตร 2 ตัวมากขึ้น จะได้มีข้อมูลไปต่อรองให้องค์การเภสัชกรรมทำยา DTG+ 3ทีซีแบบรวมเม็ดออกมาด้วย