ในการประชุมเอดส์นานาชาติที่กรุงมิวนิค ประเทศเยอรมนี เมื่อวันที่ 22 กรกฎาคม 2567 มีกลุ่มภาคประชาสังคมที่ทำงานด้านเอชไอวีและการเข้าถึงยาในอเมริกาใต้บุกไปหน้าเวทีการประชุมห้องย่อย ในขณะที่ตัวแทนบริษัทยาสัญชาติอังกฤษวีฟ (Viiv) กำลังจะนำเสนอ “บทเรียนจากกรณียาดีทีจี” (Lesson learned from the “DTG” Story) เพื่อเรียกร้องให้บริษัทวีฟ “ถอนฟ้อง” รัฐบาลโคลัมเบีย ที่ประกาศใช้มาตรการใช้สิทธิโดยรัฐหรือซีแอล (CL) กับยาต้านไวรัสเอชไอวี (ยาต้านไวรัสฯ) “โดลูเทกราเวียร์” หรือดีทีจี (Dolutegravir: DTG) (ปล. ยาโดลูเทกราเวียร์เป็นยาต้านไวรัสฯ ที่องค์การอนามัยโลกประกาศให้ใช้เป็นยาต้านไวรัสฯ สูตรพื้นฐาน และหลายประเทศใช้ยานี้รักษาผู้ติดเชื้อเอชไอวีแล้ว รวมถึงประเทศไทยด้วย)
“มาตรการซีแอล” (CL) เป็นมาตรการในกฎหมายสิทธิบัตรของหลายประเทศและความตกลงสากลขององค์การการค้าโลก ที่อนุญาตให้รัฐบาลหรือหน่วยงานรัฐที่กำลังเผชิญภาวะวิกฤตหรือฉุกเฉินด้านสาธารณสุขสามารถนำเข้าหรือผลิตยาที่กำลังติดสิทธิบัตรซึ่งมีราคาสูงได้โดยไม่ถือว่าละเมิดสิทธิบัตร โดยรัฐบาลต้องจ่ายค่าใช้สิทธิให้แก่เจ้าของสิทธิบัตรตามสมควร เพื่อช่วยให้ผู้ป่วยที่จำเป็นต้องใช้ยาเข้าถึงการรักษาได้อย่างทั่วถึง ซึ่งประเทศโคลัมเบียประกาศใช้มาตรการซีแอลกับยาโดลูเทกราเวียร์ไปเมื่อ เม.ย. 2567 แต่ถูกบริษัทยาวีฟ (Viiv) และบริษัทยาแกล็กโซสมิทไคล์ฯ (GlaxoSmithKline: GSK) ที่เป็นเจ้าของสิทธิบัตรยาโดลูเทกราเวียร์ ยื่นคำคัดค้านการประกาศใช้มาตรการซีแอลต่อกระทรวงพาณิชย์ของโคลัมเบีย แต่ถูกปฏิเสธไม่รับคำคัดค้านไปเมื่อ พ.ค. 2567 ต่อมาบริษัทวีฟและบริษัทจีเอสเคร่วมกับสมาคมบริษัทยาข้ามชาติในโคลัมเบียที่มีชื่อว่า AFIDRO ยื่นฟ้องต่อศาลว่าการประกาศใช้มาตรการซีแอลของรัฐบาลโคลัมเบียไม่ชอบด้วยกฎหมายอีกครั้ง จนถึงปัจจุบันรัฐบาลโคลัมเบียยังไม่สามารถบังคับใช้มาตรการซีแอลที่ประกาศได้
สำหรับประเทศไทยเคยประกาศใช้มาตรการซีแอลเมื่อ พ.ศ.2549 และ 2550 กับยาต้านไวรัสฯ ยารักษาโรคหลอดเลือดอุดตัน และยารักษามะเร็ง แต่กฎหมายสิทธิบัตรของโคลัมเบียแตกต่างจากไทยตรงที่ พ.ร.บ. สิทธิบัตรฯ ของไทยไม่อนุญาตให้เจ้าของสิทธิบัตรฟ้องร้องรัฐให้ยกเลิกมาตรการซีแอลที่ประกาศไปได้ ยกเว้นเฉพาะเรื่องค่าใช้สิทธิ แต่กรมทรัพย์สินทางปัญญาของไทยกำลังเสนอให้มีการแก้ไข พ.ร.บ. สิทธิบัตรฯ ในมาตราที่เกี่ยวข้องกับซีแอล โดยอนุญาตให้เจ้าของสิทธิบัตรฟ้องศาลให้มีคำสั่งระงับการประกาศใช้และยกเลิกมาตรการซีแอลที่บังคับใช้ไปแล้วโดยหน่วยงานของรัฐได้
ที่ผ่านมาเครือข่ายผู้ติดเชื้อเอชไอวีฯ สภาองค์กรของผู้บริโภค องค์กรพัฒนาเอกชนด้านเอชไอวี และนักวิชาการที่เกี่ยวข้องได้คัดค้านประเด็นดังกล่าวมาโดยตลอด และเคยทำหนังสือแสดงความคิดเห็นไม่เห็นด้วยกับการแก้ไขในมาตราที่เกี่ยวซีแอลในช่วงที่เปิดรับฟังความคิดเห็นมาแล้ว เพราะหากปล่อยให้มีการแก้ไขกฎหมายในประเด็นดังกล่าว ประเทศไทยก็จะประสบปัญหาเช่นเดียวกับที่ประเทศโคลัมเบียกำลังเผชิญ ที่เปิดให้บริษัทเอกชนต่างชาติท้าทายอำนาจการบริหารประเทศของรัฐ โดยฟ้องร้องให้ยกเลิกมาตรการเพื่อประโยชน์สาธารณะได้