“ลีนาคาพาเวียร์” (Lenacapavir) เป็นยาใหม่ใช้รักษาเอชไอวีในรูปแบบยาฉีดและออกฤทธิ์นาน (ฉีดทุก 6 เดือน) โดยใช้ร่วมกับยาต้านไวรัสเอชไอวีชนิดอื่นในผู้ติดเชื้อฯ ที่รักษาด้วยยาต้านฯ มานาน หรือเป็นผู้ติดเชื้อฯ ที่ไม่สามารถใช้ยาต้านฯ สูตรอื่นที่มีอยู่ (มีภาวะดื้อยา) และเป็นยาสำหรับป้องกันการติดเชื้อเอชไอวีด้วย โดยในระยะเริ่มต้นของการใช้ยาลีนาคาพาเวียร์ต้องกินแบบเป็นเม็ดในช่วงระยะเวลาสั้น ๆ ก่อน
แม้ว่ายาลีนาคาพาเวียร์ยังอยู่ในขั้นตอนของการศึกษาและทดลองแต่ในสหภาพยุโรปและอเมริกาก็ได้รับการขึ้นทะเบียนยาแล้ว เพราะคาดการณ์ว่ายาดังกล่าวอาจนำมาใช้เป็นยาป้องกันการติดเชื้อฯ และยาสูตรพื้นฐานในอนาคต
สำหรับในไทย เครือข่ายผู้ติดเชื้อฯ เคยจัดประชุมรับฟังความคิดเห็นกับกองโรคเอดส์และโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ แพทย์ผู้เชี่ยวชาญ และองค์กรภาคประชาสังคมอื่นที่เกี่ยวข้องกับการใช้ยาลีนาคาพาเวียร์ ซึ่งที่ประชุมมีความเห็นร่วมกันว่าควรติดตามการใช้ยาดังกล่าวในระดับสากล ทั้งในการศึกษาทดลองการใช้ยานี้เพื่อการป้องกัน การรักษาและการใช้ในกรณีดื้อยาหลายสูตร และในอนาคตเมื่อได้ความชัดเจนในเรื่องประสิทธิภาพแล้ว อาจผลักดันให้มีการพิจารณาเพิ่มยานี้เข้าไปอยู่ในชุดสิทธิประโยชน์ของระบบหลักประกันสุขภาพของประเทศ
แต่จากข้อมูลด้านสิทธิบัตรที่เครือข่ายผู้ติดเชื้อฯ ได้รับจากเครือข่ายความร่วมมือสากลเพื่อการเข้าถึงยาที่ชื่อ Make Medicines Affordable (MMA) (เครือข่ายผู้ติดเชื้อฯ ร่วมเป็นองค์กรภาคีด้วย) เผยให้เห็นว่าการขอจดสิทธิบัตรยาลีนาคาพาเวียร์ในเรื่องโครงสร้างทางเคมีแบบมาร์คุส (Markush) หรือการขอจดสิทธิบัตรเรื่องโครงสร้างทางเคมีของยาลีนาคาพาเวียร์มีเนื้อหาของสารประกอบที่ครอบคลุม กว้างขวาง โดยไม่มีการจำเพาะเจาะจง ซึ่งจะเป็นการกีดกันผู้อื่นในการคิดค้นต่อยอดได้
เมื่อวันที่ 12 มกราคม 2566 เครือข่ายผู้ติดเชื้อฯ จึงได้ไปติดตามและตรวจสอบคำขอรับสิทธิบัตรของยาลีนาคาพาเวียร์ในประเทศไทยที่กรมทรัพย์สินทางปัญญา กระทรวงพาณิชย์ เพื่อยื่นข้อมูลปฏิเสธคำคัดค้านคำขอรับสิทธิบัตรยา “ลีนาคาพาเวียร์” (Lenacapavir) โดยให้เหตุผลหลัก 2 ประการ คือคำขอรับสิทธิบัตรนี้ “ขาดความใหม่” และ “ขั้นตอนการประดิษฐ์ไม่ได้สูงขึ้น”
นายเฉลิมศักดิ์ กิตติตระกูล ผู้จัดการโครงการส่งเสริมการเข้าถึงยา กล่าวว่า การคัดค้านข้อถือสิทธิ์ในเรื่องมาร์คุสค่อนข้างท้าทายและซับซ้อน แต่ถ้าจะสู้เรื่องสิทธิบัตรของยานี้ให้ชนะเด็ดขาด เราจำเป็นต้องยื่นคำคัดค้านคำขอฯ ที่เป็นเรื่องสารประกอบทางเคมี (Chemical Compound) ซึ่งเครือข่ายผู้ติดเชื้อฯ และนักวิชาการพยายามอย่างดีที่สุดที่จะค้นหาข้อมูลทางวิชาการด้านเภสัชศาสตร์และสิทธิบัตรยาที่จะชี้ให้เห็นว่าคำขอฯ นี้ขาดคุณสมบัติที่จะได้รับสิทธิบัตรในไทย เพราะขาดความใหม่ ขาดขั้นตอนการประดิษฐ์ที่สูงขึ้น และขาดความชัดแจ้งและข้อมูลที่เพียงพอยื่นให้กับผู้ตรวจสอบคำขอรับสิทธิบัตรพิจารณา โดยคาดหวังว่าสำนักสิทธิบัตรจะมีคำตัดสินไม่รับจดสิทธิบัตรให้คำขอฯ ฉบับนี้
การต่อสู้เพื่อให้เข้าถึงยาลีนาคาพาเวียร์ยังอีกยาวไกลถึงแม้ปัจจุบันเรายังไม่พบฐานข้อมูลคำขอฯ ในสำนักสิทธิบัตร แต่ภาคประชาสังคมก็ยังต้องเฝ้าระวังและติดตามคำขอฯ อย่างไม่ลดละ เพราะถ้าเราปล่อยให้กรมทรัพย์สินทางปัญญารับคำขอจดสิทธิบัตรจากบริษัทยาได้สำเร็จ ย่อมเป็นบรรทัดฐานให้ยาชนิดอื่น ๆ ที่ตอนนี้มีอีกหลายฉบับใช้เหตุผลเดียวกันในการยื่นขอจดสิทธิบัตรจะทำให้อุปสรรคเรื่องสิทธิบัตรมาขัดขวางการเข้าถึงยาที่จำเป็นของประชาชน
“หากภาคประชาสังคมสามารถยื่นคำคัดค้านได้เป็นผลสำเร็จจะทำให้เกิดการแข่งขันในตลาดยา ทั้งความสามารถในการผลิตหรือนำเข้ายาชื่อสามัญทำให้ยามีราคาลดลง เมื่อยาราคาไม่แพงเพราะไม่มีการผูกขาดด้วยสิทธิบัตรของบริษัทใดบริษัทหนึ่งแล้ว ผู้กำหนดนโยบายและแพทย์ผู้เชี่ยวชาญก็จะตัดสินใจได้ง่ายขึ้นที่จะกำหนดให้ยานี้อยู่ในแนวทางการรักษาของประเทศและชุดสิทธิประโยชน์ของหลักประกันสุขภาพ” ผู้จัดการโครงการฯ กล่าว
อ้างอิงข่าวและภาพบุคคล: https://makemedicinesaffordable.org/tnp-opposes-patent-claims-on-lenacapavir/