เมื่อวันที่ 2 กันยายน 2567 เครือข่ายผู้ติดเชื้อเอชไอวี/เอดส์ ประเทศไทย ส่งจดหมายถึง สปสช. (สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ) ให้พิจารณาขยายชุดสิทธิประโยชน์การตรวจคัดกรองมะเร็งปากมดลูกให้กับผู้ติดเชื้อเอชไอวี

แม้ปัจจุบัน สปสช.กำหนดชุดสิทธิประโยชน์ด้านสร้างเสริมสุขภาพและป้องกันโรค โดยกำหนดให้มีการตรวจคัดกรองมะเร็งปากมดลูก 1 ครั้ง ทุก 5 ปี ในกลุ่มเป้าหมาย ดังนี้ 1) หญิงไทย อายุตั้งแต่ 30 – 59 ปี และ 2) หญิงไทยที่มีอายุ 15 – 29 ปี ในกรณีที่มีความเสี่ยงสูง ได้แก่ มีเพศสัมพันธ์ตั้งแต่อายุน้อย มีคู่นอนหลายคน และไม่ใช้ถุงยางอนามัย

แต่ทั้งนี้จากแนวทางเวชปฏิบัติของราชวิทยาลัยสูตินรีแพทย์แห่งประเทศไทย  เรื่องการตรวจคัดกรอง มะเร็งปากมดลูกในสตรีที่มีภูมิคุ้มกันตํ่า ได้นิยามกลุ่มสตรีที่มีภูมิคุ้มกันตํ่าไว้ ดังนี้ คือ1) ผู้ติดเชื้อเอชไอวี 2) คนที่เป็นโรค Systemic Lupus Erythematosus (โรค SLE) ทั้งที่ได้และไม่ได้รับยากดภูมิคุ้มกัน  3) เป็นโรค rheumatoid arthritis หรือ inflammatory bowel disease และได้รับยากดภูมิคุ้มกัน 4) ได้รับการเปลี่ยนอวัยวะ 5) เคยได้รับ diethylstilbestrol ตั้งแต่อยู่ในครรภ์มารดา และ 6) โรคหรือภาวะอื่น ๆ ที่ได้รับยากดภูมิคุ้มกัน

โดยในกลุ่มสตรีที่มีภูมิคุ้มกันตํ่าได้รับคำแนะนำให้ได้รับการตรวจคัดกรองมะเร็งปากมดลูกในกรณีตรวจด้วยวิธีเอชพีวี ดีเอ็นเอ (HPV DNA) เริ่มตรวจตั้งแต่อายุ 25 ปี ความถี่ในการตรวจทุก 3 ปี ส่วนในกรณีตรวจด้วยวิธีแปปสเมียร์ (Pap Smear) ให้เริ่มตรวจตั้งแต่อายุ  21 ปี หรือเมื่อมีเพศสัมพันธ์มากกว่า 1 ปี ความถี่ในการตรวจทุก 1 ปี  ทั้งนี้องค์การอนามัยโลก (The World Health Organization: WHO) ได้แนะนำให้เลือกใช้วิธีตรวจ high-risk HPV DNA เป็นลำดับแรก

ยุพา สุขเรือง ประธานเครือข่ายผู้ติดเชื้อเอชไอวี/เอดส์ ประเทศไทย ให้ความเห็นว่ามะเร็งปากมดลูกจัดอยู่ในอันดับ 5 ของมะเร็งที่พบบ่อยในผู้หญิงไทยและมีอัตราการเสียชีวิตสูง ขณะเดียวกันผู้หญิงที่ติดเชื้อเอชไอวี ก็มีโอกาสเสี่ยงเป็นมะเร็งปากมดลูกสูงกว่าผู้หญิงที่ไม่มีเอชไอวีถึง 6 เท่า การตรวจและวินิจฉัยมะเร็งปากมดลูกได้ในระยะเริ่มแรก สามารถรักษาให้หายได้ ซึ่งจะช่วยลดการป่วยและเสียชีวิตด้วยมะเร็งปากมดลูกในผู้หญิงไทยลงได้

ยุพา กล่าวเพิ่มเติมว่า  จริงๆ แล้วสิทธิประโยชน์เรื่องการตรวจคัดกรองมะเร็งปากมดลูกที่ สปสช. กำหนดถือว่าช่วยส่งเสริมให้ผู้หญิงเข้าถึงการตรวจได้มากขึ้น แต่มีข้อสังเกตว่าการนิยาม “ความเสี่ยงสูง” นั้นอาจทำให้เกิดการตีตราในเรื่องเพศที่ทำให้ผู้หญิงบางคนไม่กล้าเข้ามารับบริการ อีกทั้งข้อมูลจากราชวิทยาลัยสูตินรีแพทย์ฯ เห็นว่าชุดสิทธิประโยชน์ที่ สปสช. กำหนดยังมีช่องว่างในผู้รับบริการบางกลุ่มที่ยังไม่ครอบคลุมตามมาตรฐานที่ควรจะได้รับ

“ทางเครือข่ายผู้ติดเชื้อฯ จึงได้ยื่นหนังสือให้กับทาง สปสช. ได้พิจารณาการขยายชุดสิทธิประโยชน์การสร้างเสริมสุขภาพและป้องกันโรคในการตรวจคัดกรองมะเร็งปากมดลูก สำหรับผู้ติดเชื้อเอชไอวี ผู้เป็นโรค SLE และผู้ที่อยู่ในภาวะภูมิคุ้มกันต่ำต้องได้รับการตรวจคัดกรองมะเร็งปากมดลูกด้วยวิธี HPV DNA เริ่มที่อายุ 25 ปี ให้ตรวจประจำทุก 3 ปี และไม่กำหนดเพดานอายุในการหยุดตรวจ เพื่อส่งเสริมให้ผู้หญิงที่มีเชื้อเอชไอวีและผู้มีภาวะเสี่ยงได้รับการตรวจคัดกรองมะเร็งปากมดลูกตามมาตรฐานที่กำหนด” ยุพากล่าว

อ่านเพิ่มเติม: “แนวทางเวชปฏิบัติของราชวิทยาลัยสูตินรีแพทย์แห่งประเทศไทย เรื่อง การตรวจคัดกรองมะเร็งปากมดลูกในสตรีที่มีภูมิคุ้มกันตํ่า” https://www.rtcog.or.th/files/1698830224_1b379b28fbba649c69e9.pdf