ในการประชุมเอดส์นานาชาติ (International AIDS Conference) ที่เมืองมิวนิค ประเทศเยอรมันนี เมื่อวันที่ 23 ก.ค. ที่ผ่านมา มีนักกิจกรรมด้านเอชไอวีจากทั่วโลกเดินขบวนรณรงค์บริเวณที่ประชุมให้ข้อมูลกับคนที่มาร่วมประชุม และประนามนโยบายของกิลิแอดที่บูธประชาสัมพันธ์ของบริษัท เพื่อรณรงค์เรียกร้องให้บริษัทยากิลิแอดหยุดการผูกขาดยาต้านไวรัสเอชไอวีที่มีชื่อว่า “ลีนาคาพาเวียร์” (Lenacapavir)
เนื่องจากในการประชุมมีการนำเสนอข้อมูลวิชาการว่ายาต้านไวรัสเอชไอวีที่มีชื่อสามัญทางยาว่า “ลีนาคาพาเวียร์” (Lenacapavir) นั้น ยาต้นแบบที่บริษัทกิลิแอด (Gilead) ผูกขาดสิทธิบัตรมีราคาขายสูงถึง 42,250 ดอลลาร์ต่อคนต่อปี (1.4 ล้านบาทต่อคนต่อปี) ในขณะที่มีการคาดการณ์ว่าถ้ามีการผลิตยาลีนาคาพาเวียร์เป็นยาชื่อสามัญจำนวนมาก ต้นทุนการผลิตในปีแรกๆ จะอยู่ที่ 100 ดอลลาร์ต่อคนต่อปี (3,500 บาทต่อคนต่อปี) และจะลดลงจนเหลือ 40 ดอลลาร์ต่อคนต่อปี (1,400 บาท) เมื่อความต้องการเพิ่มมากขึ้น
ดังนั้นหากเปิดโอกาสให้บริษัทยาชื่อสามัญอื่นๆ สามารถผลิตได้จะทำให้มีราคายาถูกกว่ายาต้นแบบของกิลิแอดถึง 1,000 เท่า คนที่จำเป็นต้องใช้ยาจะเข้าถึงได้มากขึ้น ไม่เฉพาะประเทศที่ร่ำรวยเท่านั้น ทั้งนี้สถานการณ์ทั่วโลกพบว่าในแต่ละปีมีผู้ติดเชื้อเอชไอวีรายใหม่ประมาณ 1.3 ล้านคน และประมาณ 25% ของผู้ติดเชื้อฯ รายใหม่อยู่ในรัสเซีย บราซิล ฟิลิปปินส์ ยูเครน และประเทศไทย ซึ่งส่วนใหญ่ไม่ได้เป็นประเทศที่ร่ำรวย
ทั้งนี้กิลิแอดได้ประกาศผลการวิจัยและทดลองที่มีชื่อโครงการว่า PURPOSE 1 ซึ่งเป็นการทดลองใช้ยาลีนาคาพาเวียร์ป้องกันการติดเชื้อเอชไอวี (PrEP) ในกลุ่มอาสาสมัครที่เป็นคนตรงเพศ (Cisgender เพศสภาพตรงกับเพศสรีระ) และวัยรุ่นเพศหญิง โดยฉีดเข้าใต้ชั้นผิวหนังทุก 6 เดือน ว่ายาดังกล่าวสามารถป้องกันการติดเชื้อเอชไอวีได้ 100%
กิลิแอดเคยออกแถลงการณ์ว่ามีแผนส่งเสริมให้มีการเข้าถึงยาลีนาคาพาเวียร์เพื่อการป้องกันการติดเชื้อเอชไอวีให้กับประเทศที่มีอัตราการติดเชื้อรายใหม่สูงและมีทรัพยากรจำกัด แต่แถลงการณ์ดังกล่าวไม่มีรายละเอียดใดๆ
ที่ผ่านมากิลิแอดมีนโยบายส่งเสริมการเข้าถึงยา โดยใช้มาตรการที่เรียกว่า “การให้ใช้สิทธิโดยสมัครใจ” ที่จะอนุญาตให้บริษัทยาชื่อสามัญผลิตยาที่มีสิทธิบัตรของตนเองและขายให้กับประเทศพัฒนาน้อยที่สุดและกำลังพัฒนาในราคาต่ำกว่ายาต้นแบบของตนเองได้ “แต่มีเงื่อนไข” ที่ทำให้ไม่เกิดการเข้าถึงได้จริง และประเทศที่มีจำนวนผู้ป่วยมากและไม่ได้ร่ำรวยมีงบประมาณด้านสาธารณสุขมากกลับไม่ได้ถูกเลือกให้อยู่ที่รายชื่อประเทศที่จะใช้สิทธิประโยชน์จากมาตรการให้ใช้สิทธิโดยสมัครใจได้