เมื่อวันที่ 26 มิถุนายน 2567 นายอภิวัฒน์ กวางแก้ว ผู้แทนจากเครือข่ายผู้ติดเชื้อเอชไอวี/เอดส์ ประเทศไทย ได้ไปยื่นข้อเสนอข้อเสนอเพื่อเพิ่มสิทธิสิทธิประโยชน์และการพัฒนาระบบบริการ ปี 2567 ของเครือข่ายผู้ติดเชื้อเอชไอวีหรือผู้ป่วยเรื้อรังอื่น ในวงประชุม “สรุปผลและข้อเสนอจากการรับฟังความคิดเห็นทั่วไปจากผู้ให้บริการและผู้รับบริการในระบบหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ ประจำปี 2567” ที่สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) เป็นผู้ดำเนินการจัดเวทีรับฟังเป็นประจำทุกปี โดยมีข้อเสนอสำคัญดังนี้
การเพิ่มสิทธิประโยชน์
1. การเข้าถึงการรักษาไวรัสตับอักเสบซี ให้ปรับสิทธิประโยชน์ ดังนี้
1.1 ขยายการรักษา ไม่จำกัดอายุ เพื่อให้ประชาชนทุกวัยได้เข้าถึงการรักษา เนื่องจากเกณฑ์ปัจจุบันกำหนดไว้ที่อายุ18 ปีขึ้นไป ซึ่งเป็นการจำกัดสิทธิการเข้าถึงการรักษาของเด็กและเยาวชน
1.2 ขยายสิทธิการรักษาได้มากกว่า 1 ครั้ง ในสิทธิการรักษาปัจจุบันจำกัดการรักษาได้เพียง 1 ครั้ง ตลอดชีวิต
1.3 ควรจัดหายารักษาเพิ่มเติมเพื่อเป็นทางเลือกการรักษา สำหรับคนที่ดื้อยาหรือคนที่ใช้ยา Sofosbuvir/Velpatasvir (โซฟอสบูเวียร์/เวลพาทาสเวียร์) ไม่ได้ รวมทั้งสูตรยาและรูปแบบยาสำหรับเด็ก
2. การรักษาไวรัสตับอักเสบบี ปัจจุบันสิทธิประโยชน์ด้านการคัดกรอง หน่วยบริการสามารถเบิกชดเชยจาก สปสช. ได้หากพบว่าติดเชื้อ การตรวจวินิจฉัยเพื่อการรักษาและยารักษาไวรัสตับอักเสบบีอยู่ในงบเหมาจ่ายรายหัวของโรงพยาบาล เพื่อเพิ่มการเข้าถึงการรักษาของประชาชนที่ทั่วถึง และหน่วยบริการมีความคล่องตัวมากขึ้น จึงเสนอการบริหารจัดการเพิ่มเติมดังนี้
2.1 สนับสนุนยารักษาไวรัสตับอักเสบบี TAF , TDF และ Entecavir (ทาฟ ทีดีเอฟ และเอนเทคาเวียร์) ให้กับหน่วยบริการจากกองทุนระดับประเทศเช่นเดียวกับการรักษาไวรัสตับอักเสบซี
2.2 สนับสนุนการตรวจปริมาณไวรัสตับอักเสบบี (HBV Viral load – ไวรัลโหลด) ให้หน่วยบริการเบิกชดเชยจาก สปสช.ได้
3. การป้องกันไวรัสตับอักเสบบี โดยให้วัคซีนไวรัสตับอักเสบบีเป็นสิทธิประโยชน์สำหรับประชาชน 2 กลุ่ม คือ 1) ผู้ที่เกิดก่อนปี 2535 และ 2) ผู้ที่ตรวจคัดกรองไวรัสตับอักเสบบีแล้วพบว่าไม่ติดเชื้อไวรัสตับอักเสบบี และตรวจพบว่าไม่มีภูมิคุ้มกันไวรัสตับอักเสบบี
การพัฒนาระบบบริการ
1. การรักษาด้วยยาต้านไวรัสเอชไอวี เพื่อเพิ่มการเข้าถึงการรักษาเอชไอวีอย่างต่อเนื่อง ประเทศต้องมีระบบให้ผู้ติดเชื้อเอชไอวีฯ เข้ารับการรักษาที่หน่วยบริการใดก็ได้ในทุกระบบหลักประกันสุขภาพ ไม่ต้องจำกัดอยู่ในหน่วยบริการตามสิทธิของตนเองเท่านั้น ไม่ว่าจะเป็นผู้มีสิทธิในระบบหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า ผู้ประกันตนที่ใช้สิทธิประกันสังคม ฯลฯ เพื่อให้ผู้ติดเชื้อเอชไอวีเข้าถึงการดูแลรักษาด้วยยาต้านไวรัชเอชไอวี และการรักษาอื่นๆ ที่เป็นมาตรฐานเดียวกันและสะดวกในการเข้ารับการรักษาอย่างต่อเนื่อง ทั้งนี้ ให้ สปสช. ทำหน้าที่ประสานงาน เชื่อมต่อระบบบริการและเป็นหน่วยงาน Clearing house ให้กับทุกกองทุน
2. การบำบัดทดแทนไต ดำเนินการให้หน่วยไตเทียมทุกแห่งให้บริการบำบัดทดแทนไตผ่านเครื่องไตเทียม (HD) โดยไม่เลือกปฏิบัติต่อผู้ติดเชื้อเอชไอวี ปัจจุบันแม้ว่าการเข้าถึงบริการบำบัดทดแทนไตเป็นสิทธิประโยชน์ที่ผู้รับบริการมีสิทธิเลือกวิธีการที่สอดคล้องกับวิถีชีวิตของตนเอง ทั้งการล้างไตผ่านช่องท้องแบบต่อเนื่องด้วยตนเอง (CAPD) การล้างไตทางช่องท้องอัตโนมัติ (APD) และบริการบำบัดทดแทนไตผ่านเครื่องไตเทียม (HD) แต่ในกรณีผู้ติดเชื้อเอชไอวีพบว่ามีหน่วยบริการหลายแห่งไม่ให้บริการ HD กับผู้ติดเชื้อฯ การบำบัดด้วยวิธีนี้จึงไม่ถูกพิจารณาให้เป็นทางเลือกของผู้ติดเชื้อเอชไอวีตั้งแต่แรก
ปัจจุบันผู้ติดเชื้อเอชไอวีที่รับการรักษาด้วยยาต้านไวรัสเอชไอวีที่รักษาต่อเนื่องจนตรวจไม่พบเชื้อในเลือด ไม่สามารถส่งผ่านเชื้อให้ผู้อื่นได้ (U=U: ยูเท่ากับยู) จึงไม่มีเหตุผลนำมาอ้างหากมีความกังวลเรื่องการติดเชื้อเอชไอวี
3. ด้านระบบการจัดซื้อยารวมระดับประเทศ สปสช.ต้องมีกลไกที่ทำบทบาทหน้าที่อย่างเข้มแข็ง และทันต่อสถานการณ์ เพื่อวิเคราะห์การใช้ยา ติดตามการวางแผนจัดซื้อ จัดส่งยา การสำรองยาให้มีประสิทธิภาพ เนื่องจากที่ผ่านมาเกิดปัญหายาต้านไวรัสเอชไอวีขาดช่วงเป็นระยะตั้งแต่ปี 2565 เป็นต้นมา ยาต้านไวรัสเอชไอวีหลายชนิดขาดช่วง หลายครั้งผู้ติดเชื้อฯ ไปรับยาที่โรงพยาบาลตามนัดหมายแต่ได้รับยาไม่ครบตามจำนวน ทำให้ต้องมาโรงพยาบาลบ่อยครั้งเป็นภาระให้ประชาชนในการเดินทางมารับบริการ อีกทั้งทั้งผู้ให้บริการและผู้ติดเชื้อเอชไอวีก็เกิดความไม่มั่นใจว่าจะมียาให้ได้อย่างต่อเนื่องหรือไม่