ตอนที่ 1 สิทธิบัตรคืออะไร
“สิทธิบัตร” คือ หนังสือหรือเอกสารสิทธิที่คุ้มครอง “การประดิษฐ์” หรือ “การออกแบบผลิตภัณฑ์” ตามที่กฎหมายกำหนดโดย“สิทธิบัตรการประดิษฐ์” หมายถึง คุ้มครองการคิดค้นเกี่ยวกับลักษณะ องค์ประกอบ โครงสร้าง กรรมวิธีในการผลิต การเก็บรักษา หรือการปรับปรุงคุณภาพของผลิตภัณฑ์ให้ดีขึ้น หรือทำให้เกิดผลิตภัณฑ์ใหม่ที่แตกต่างไปจากเดิม เช่น ผงซักฟอก สบู่ ยาสีฟัน เครื่องดื่ม เป็นต้น ส่วน “สิทธิบัตรการออกแบบผลิตภัณฑ์” คุ้มครองรูปร่าง องค์ประกอบที่เป็นลักษณะภายนอกของผลิตภัณฑ์ที่ต่างไปจากเดิม
เหตุผลที่ต้องมีระบบสิทธิบัตร
เป็นการสร้างแรงจูงใจให้มีคนประดิษฐ์คิดค้นสิ่งใหม่ๆ โดยให้รางวัลเป็นสิทธิผูกขาดตลาดแต่เพียงผู้เดียว คนอื่นจะแสวงหาประโยชน์จากสิ่งประดิษฐ์ที่จดสิทธิบัตรไว้ไม่ได้ ไม่ว่าจะผลิต ใช้ ขาย หรือนำเข้าโดยไม่ได้รับอนุญาตไม่ได้ แต่ผู้จดสิทธิบัตรต้องเปิดเผยรายละเอียดการประดิษฐ์นั้นต่อสาธารณะเมื่อได้รับสิทธิบัตร เพี่อให้ผู้อื่นศึกษาและพัฒนาต่อยอด ความรู้ หรือปรับปรุงสิ่งประดิษฐ์ที่มีอยู่เดิมให้ดีขึ้น ทั้งนี้ตามกฎหมายของไทยและสากล สิทธิบัตรมีอายุการคุ้มครองการผูกขาดนาน 20 ปี โดยการให้สิทธิบัตรในไทยจะได้รับความคุ้มครองนับตั้งแต่วันที่ยื่นคำขอรับสิทธิบัตร
เงื่อนไขในการพิจารณาให้สิทธิบัตรมีอะไรบ้าง
ข้อมูลจากหนังสือ “ทรัพย์สินทางปัญญาสำหรับผู้ประกอบการ: สิทธิบัตรและอนุสิทธิบัตร ของกรมทรัพย์สินทางปัญญา กระทรวงพาณิชย์ (https://www.ipthailand.go.th/images/Promote/4_book_Patent.pdf) ให้ข้อมูลถึงสิ่งที่จะได้รับความคุ้มครองตามกฎหมายสิทธิบัตรในส่วนของการประดิษฐ์ (ซึ่งการขอรับสิทธิบัตรยาอยู่ในประเภทสิทธิบัตรด้านการประดิษฐ์นั้น) ต้องเข้าเงื่อนไข 3 ข้อ ดังต่อไปนี้
เงื่อนไขที่ 1 ประดิษฐ์ขึ้นใหม่ เป็นการประดิษฐ์ที่แตกต่างจากเดิม ไม่เป็นที่รู้จัก ไม่เคยมีใช้แพร่หลาย ไม่เคยมีจำหน่าย หรือยังไม่เคยได้รับสิทธิบัตรมาก่อน
เงื่อนไขที่ 2 มีขั้นการประดิษฐ์สูงขึ้น ต้องแสดงให้เห็นถึงความก้าวหน้าอย่างเพียงพอในแง่ของความใหม่ล่าสุดก่อนที่จะมีการผลิต ไม่เป็นการประดิษฐ์ที่อาจทำได้ง่ายโดยผู้ที่มีความรู้ในระดับสามัญในสาขาวิชาการด้านนั้นๆ
เงื่อนไขที่ 3 สามารถนำไปใช้ประโยชน์ได้จริง ต้องสามารถผลิตหรือนำใช้ประโยชน์ในทางอุตสาหกรรม เกษตรกรรม พาณิชยกรรม หรือหัตถกรรมได้จริง
“สิทธิบัตร: สิทธิทางการค้า” กับ “สิทธิมนุษยชน: สิทธิในการมีชีวิตและได้รับการรักษา
‘สิทธิบัตร’ ไม่ได้หมายถึงแค่ผลิตภัณฑ์หรือสิ่งประดิษฐ์ใหม่ๆ เท่านั้น แต่ยังเกี่ยวข้องกับ ‘อุตสาหกรรมยา’ ที่มีความสำคัญต่อการรักษาชีวิตและสุขภาพของประชาชนเมื่อเจ็บป่วย ทั้งนี้ “ยา” เป็นสินค้าที่สามารถขอสิทธิบัตรได้ การให้สิทธิบัตรเกี่ยวกับ “ยารักษาโรค” ในไทยเป็นการคุ้มครองสิทธิบัตรประเภทการประดิษฐ์ องค์กรภาคประชาสังคมทั้งในไทยและต่างประเทศตั้งข้อสังเกตว่าการให้สิทธิบัตรยาที่มีระยะเวลา “ผูกขาด” กว่า 20 ปี ย่อมส่งผลให้ยามีราคาแพง เพราะไม่มียาชนิดเดียวกันจากบริษัทอื่นมาขายแข่ง จะกลายเป็นอุปสรรคสําคัญของระบบสาธารณสุข เพราะคนจะเข้าไม่ถึงยาที่จำเป็นได้อย่างทั่วถึง เนื่องจากงบประมาณมีจำกัด
อ่าน —> ข้อห่วงกังวลของภาคประชาสังคมต่อการแก้ไข (ร่าง) พ.ร.บ.สิทธิบัตรฯ ที่อาจเป็นอุปสรรคสำคัญที่ส่งผลกระทบในเชิงลบต่อการเข้าถึงยาที่จำเป็น พร้อมกับข้อเสนอแนะที่ช่วยให้แก้ไขกฎหมายสิทธิบัตรในรอบนี้มีประสิทธิภาพและเกิดความเป็นธรรม https://thaiplus.net/contents/2739