ขณะนี้กรมทรัพย์สินทางปัญญา กระทรวงพาณิชย์ กำลังปรับปรุง ร่าง พ.ร.บ.สิทธิบัตรฯ อีกครั้ง โดยเน้นไปที่การคุ้มครองสิทธิบัตร ให้ความสะดวกในการขอรับสิทธิบัตรและเพิ่มขั้นตอนการประกาศใช้มาตรการยืดหยุ่นเพื่อแก้ไขวิกฤตและภาวะฉุกเฉินที่ยุ่งยากมากขึ้น โดยอ้างเรื่องการลงทุนจากต่างประเทศและสร้างแรงจูงใจให้มีการคิดค้นสร้างสรรค์สิ่งประดิษฐ์และนวัตกรรมใหม่ๆ มากขึ้น
ในระหว่างการรับฟังความคิดเห็น ภาคประชาสังคมมีจดหมายแสดงความคิดเห็นและคัดค้านร่าง พ.ร.บ. สิทธิบัตรฯ ฉบับที่กำลังปรับปรุงที่จะส่งผลต่อราคายาและระบบหลักประกันสุขภาพ เพราะเอื้อประโยชน์ให้ผู้ทรงสิทธิมากเกินไปและขาดสมดุลระหว่างการคุ้มครองสิทธิของผู้ขอรับสิทธิบัตรและสาธารณะ โดยเฉพาะเรื่องสาธารณสุขและการเข้าถึงยาของประชาชน
หลักสำคัญของการแก้ไขกฎหมายสิทธิบัตร
การแก้กฎหมายที่เกี่ยวข้องกับทรัพย์สินทางปัญญาไม่ควรเข้มงวดไปกว่าความตกลงทริปส์ (TRIPs Agreement) ซึ่งเป็นกติกาและมาตรฐานสากลด้านทรัพย์สินทางปัญญาขององค์การการค้าโลก (WTO) ที่มีประเทศสมาชิก 164 ประเทศรวมถึงประเทศไทยด้วย
“สิทธิบัตร” คือ ทรัพย์สินทางปัญญาประเภทหนึ่งที่ครอบคลุมถึงยารักษาโรค ปัญหาของระบบสิทธิบัตรต่อเรื่องยา คือ การผูกขาดตลาดที่ส่งผลให้ยามีราคาแพงซึ่งมีผลกระทบต่อระบบหลักประกันสุขภาพและการเข้าถึงยาของประชาชน โดยเฉพาะยาจำเป็นและยารักษาโรคเรื้อรัง เช่น เอดส์ มะเร็ง โรคไวรัสตับอักเสบซี โรคหัวใจ ฯลฯ
เพราะเหตุนี้ ในความตกลงทริปส์จึงมีมาตรการยืดหยุ่นหลายอัน เพื่อป้องกันหรือขจัดปัญหาการผูกขาดตลาดด้วยสิทธิบัตรและการเข้าถึงยา โดยประเทศต่างๆ สามารถนำไปบัญญัติไว้ในกฎหมายของตนเองได้ แต่รัฐบาลของประเทศที่ร่ำรวยเห็นว่ามาตรการยืดหยุ่นเหล่านั้นเป็นอุปสรรคต่อการแสวงหาผลประโยชน์ทางการค้าของภาคธุรกิจ จึงพยายามกดดันให้ประเทศที่กำลังพัฒนาแก้ไขกฎหมายสิทธบัตรผ่านรูปแบบต่างๆ เช่น การใช้มาตรการทางกาค้ากดดันให้แก้ไขกฎหมาย และการเจรจาข้อตกลงเขตการค้าเสรี (เอฟทีเอ) ให้มีการผูกขาดได้นานขึ้น ขัดขวางการแข่งขันของยาชื่อสามัญและไม่ให้นำมาตรการยืดหยุ่นอื่นๆ มาใช้
การแก้ไขกฎหมายสิทธิบัตรต้องส่งเสริมการเข้าถึงยาของประชาชน
การแก้ไข พ.ร.บ.สิทธิบัตรฯ ต้องป้องกันไม่ให้มีการขอรับ “สิทธิบัตรยาไม่มีวันสิ้นสุด” (Ever-greening drug patent) ซึ่งเป็นกลยุทธ์ของบริษัทยาข้ามชาติใช้ในการขอรับสิทธิบัตร โดยปรับเปลี่ยนรายละเอียดสิ่งประดิษฐ์เพียงเล็กน้อย เพื่อขอรับความคุ้มครองเพิ่มเติม ให้สิทธิบัตรมีอายุการคุ้มครองยาวนานออกไป และขัดขวางไม่ให้มียาชื่อสามัญแข่งขันในตลาด
สิทธิบัตรแบบนี้เป็นสิทธิบัตรที่ด้อยคุณภาพและไม่สมควรได้รับการคุ้มครอง เมื่อครอบครองตลาดได้ยาวนานขึ้น ไร้คู่แข่ง ผู้ได้รับสิทธิบัตรจะกำหนดราคายาได้ตามชอบ ที่ผ่านมาประเทศไทยมีปัญหาการจดสิทธิบัตรยาแบบไม่มีวันสิ้นสุดเป็นจำนวนมาก และทำให้ประเทศต้องซื้อยาแพงเกินจำเป็น ส่งผลให้ผู้ป่วยเสียโอกาสในการเข้าถึงยาอย่างทั่วถึง
ส่วน “มาตรการใช้สิทธิโดยรัฐ” หรือซีแอล (Compulsory Licensing: CL) เป็นมาตรการยืดหยุ่นข้อหนึ่งในข้อตกลงทริปส์ ที่ให้อำนาจรัฐบาลระงับการคุ้มครองสิทธิบัตรได้ชั่วคราว ในยามวิกฤตหรือภาวะฉุกเฉิน และนำเข้าหรือผลิตยาชื่อสามัญที่เป็นยาเดียวกันกับยาที่มีสิทธิบัตร มาใช้รักษาคนในประเทศ โดยไม่ถือว่าเป็นการละเมิดสิทธิบัตรและรัฐบาลต้องจ่ายค่าใช้สิทธิให้กับเจ้าของสิทธิบัตรตามสมควร แต่การแก้ไขกฎหมายสิทธิบัตรครั้งนี้ไม่ได้ออกแบบมาเพื่อช่วยป้องกันและแก้ไขปัญหาสิทธิบัตรแบบไม่มีวันสิ้นสุดได้มากเท่าไรนัก ยิ่งไปกว่านั้นยังเสนอให้แก้ไขมาตราที่เกี่ยวกับมาตรการใช้สิทธิโดยรัฐ โดยสร้างเงื่อนไขและทำให้บังคับใช้ได้ยากขึ้น เพราะ 1) ต้องได้รับความเห็นชอบจากคณะรัฐมนตรี 2) เจ้าของสิทธิบัตรฟ้องร้องต่อศาลให้ระงับการประกาศใช้หรือให้ยกเลิกมาตรการที่ประกาศไปแล้วได้ และ 3) ค่าใช้สิทธิอาจแพงจนรัฐบาลจ่ายไม่ไหวหรือจ่ายได้ไม่พอที่จะรักษาผู้ป่วยได้ทุกคน
ข้อเสนอของภาคประชาสังคมต่อการแก้ไขกฎหมายสิทธิบัตร
1. กำหนดคุณสมบัติของสิ่งประดิษฐ์ที่เกี่ยวกับยาและสมควรได้รับสิทธิบัตร รวมถึงสิ่งประดิษฐ์ที่ห้ามรับจดสิทธิบัตรให้ชัดเจนรัดกุม โดยคำนึงประโยชน์ด้านสาธารณสุขมากกว่าการค้าเป็นหลัก ตามที่ระบุในปฏิญญาสากลว่าด้วยความตกลงทริปส์และการสาธารณสุข รวมถึงต้องไม่รับจดสิทธิบัตรที่ขอเรื่อง “วิธีการวินิจฉัย บำบัด ศัลยกรรม หรือการรักษาโรค รวมทั้งการป้องกันและรักษาโรคด้วยยาของมนุษย์หรือสัตว์”
2. ผู้คัดค้านคำขอรับสิทธิบัตรต้องไม่จำกัดเฉพาะ “ผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย” แต่ควรเปิดกว้างให้กับ “ผู้ใด” เพื่อให้ทุกภาคส่วนมีส่วนร่วมตรวจสอบคำขอสิทธิบัตร เพราะมีผลกระทบต่อการสาธารณสุขของประเทศ
3. ไม่ควรลดหรือจำกัดอำนาจของเจ้าหน้าที่ผู้ตรวจคำขอและอธิบดีกรมทรัพย์สินทางปัญญาในการปฏิเสธคำขอรับสิทธิบัตรที่ขาดคุณสมบัติได้ตลอดทุกขั้นตอนการพิจารณา เพื่อขจัดคำขอฯ ที่ด้อยคุณภาพออกจากระบบตั้งแต่ขั้นตอนแรกๆ ซึ่งจะช่วยลดปัญหาการผูกขาดที่ไม่ชอบธรรม ลดภาระงานของเจ้าหน้าที่ในการพิจารณา และเพิ่มการเข้าถึงยาจำเป็น
4. ปรับปรุงให้มีการเข้าถึงข้อมูลคำขอฯ (การประกาศโฆษณา) ให้มีระยะเวลาที่ชัดเจนและรวดเร็วขึ้น และขจัดการใช้ประโยชน์จากช่องว่างทางกฎหมาย โดยให้ผู้ขอรับสิทธิบัตรต้องแจ้งให้ดำเนินการตรวจสอบโดยละเอียดเป็นประโยชน์ให้เร็วขึ้น ทั้งนี้ เพื่อให้โอกาสกับผู้ไม่เห็นด้วยกับคำขอฯ ได้ร่วมตรวจสอบและให้ข้อมูลแก่เจ้าหน้าที่ผู้ตรวจ โดยการยื่นคำคัดค้านได้ทันเวลา และเร่งรัดให้ผู้ขอฯ แจ้งดำเนินการตรวจสอบคำขอฯ เร็วขึ้น
5. การยื่นเอกสารประกอบการพิจารณาและการยื่นคัดค้านควรเปิดกว้าง ทำได้ตลอดเวลาตั้งแต่วันที่ประกาศโฆษณาครั้งแรกไปจนวันที่อนุมัติให้สิทธิบัตร และขยายระยะเวลาการคัดค้านจาก 90 วัน เป็น 180 วัน เพื่อให้ผู้คัดค้านมีเวลาเพียงพอในการเตรียมข้อมูลและเอกสารคัดค้าน
………………………………
>>> อ่าน —> “สิทธิทางการค้า” กับ “สิทธิมนุษยชน” (ตอนที่ 1) ได้ที่ https://thaiplus.net/contents/2721