ประเด็นรณรงค์เรื่อง U=U ที่หมายความว่าถ้าผู้ติดเชื้อฯ ทานยาต้านไวรัสฯ อย่างต่อเนื่องจนตรวจไม่พบเชื้อในเลือด (Undetectable) เท่ากับว่าจะไม่สามารถถ่ายทอดเชื้อเอชไอวีให้คนอื่นได้ (Untransmittable) ซึ่งเป็นแนวทางหนึ่งในการลดการตีตราภายในให้กับผู้ติดเชื้อฯ และจะทำให้ผู้ติดเชื้อฯ มีกำลังใจในการทานยาต้านฯ ได้นั้น
พญ.วัชรา ริ้วไพบูลย์ ที่ปรึกษาด้านวิชาการของเครือข่ายผู้ติดเชื้อเอชไอวี/เอดส์ ประเทศไทย ตั้งข้อสังเกตไว้ในวงประชุมการประเมินผลหลักสูตรศูนย์องค์รวมว่า แม้หลายภาคส่วนจะพยายามผลักดันให้ผู้ติดเชื้อฯ เข้าถึงบริการด้านสุขภาพให้ได้ตามมาตรฐาน แต่ยังไม่อาจการันตีผลลัพธ์ได้ทั้งหมดว่าหากผู้ติดเชื้อฯ ทานยาต้านฯ อย่างต่อเนื่อง จะทำให้มีงานทำที่ดีขึ้น หรือสถานะทางสังคมดีขึ้น หรือมีความสุข หรือความพึงพอใจในชีวิตมากขึ้น
เพราะนอกจากเรื่องการเข้าถึงบริการด้านสุขภาพ (Health Service) ที่ได้มาตรฐานแล้ว ผู้ติดเชื้อฯ ก็ยังต้องการบริการด้านสังคม (Social service) ซึ่งไม่ได้หมายความว่า “เป็นสิทธิพิเศษ” มากกว่าคนอื่น แต่ต้องเป็นมาตรฐานเดียวกันกับคนที่ไม่ติดเชื้อ เช่น ถ้าป่วยเอดส์จนพิการ ผู้ติดเชื้อฯ รายนั้นก็ต้องได้รับสิทธิในการดูแลแบบคนพิการ “ไม่ใช่” ได้รับสิทธิพิเศษที่แยกออกไปดูแลต่างหาก เพราะติดเชื้อเอชไอวี
แต่เราก็ยังพบเห็นสถานการณ์ที่ผู้ติดเชื้อฯ ถูกละเมิดสิทธิอยู่เป็นระยะ เช่น การถูกบังคับให้ตรวจเลือดก่อนเรียนหรือก่อนเข้าทำงาน บางคนติดเชื้อฯ แล้วมาพร้อมกับอาการป่วย ยากจน และไม่มีที่พักฟื้นระหว่างเข้ารับการรักษา เพราะหน่วยงานรัฐบางแห่งปฏิเสธไม่พร้อมที่จะรับผู้ติดเชื้อฯ ที่อยู่ในอาการป่วยเข้ามาดูแลได้ชั่วคราว หรือไม่มีบริการของรัฐเข้ามาช่วยรับส่งต่อผู้ติดเชื้อฯ ที่มีปัญหาด้านสุขภาพให้สามารถเข้าไปพบหมอได้ตามนัด เนื่องจากกังวลในแง่ไม่มีองค์ความรู้ในการดูแลผู้ติดเชื้อฯ จึงอยากให้มีบ้านพักแยกเฉพาะของผู้ติดเชื้อฯ ไปเลยนั้น ทำให้องค์กรพัฒนาเอกชนที่รับเรื่องของผู้ติดเชื้อฯ ที่ถูกเลือกปฏิบัติ ต้องแก้ไขปัญหาเป็นรายกรณีไป ตั้งแต่การเจรจาไกล่เกลี่ย การประสานงานไปยังหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เช่น หารือในคณะอนุฯ คุ้มครองสิทธิด้านเอดส์ ภายใต้คณะกรรมการเอดส์ชาติ ไปจนถึงการช่วยดำเนินการฟ้องร้องคดีกับสถานศึกษาหรือสถานประกอบการที่บังคับให้ตรวจเลือด เป็นต้น
จากสถานการณ์ดังกล่าวสะท้อนให้เห็นว่าการรณรงค์เรื่อง U=U ต้องให้ความสำคัญทั้งในเชิงการให้บริการด้านสุขภาพ (Health Service) และบริการด้านสังคม (Social Service) ด้วย เพราะถ้าคนเข้าถึงบริการสุขภาพที่ได้มาตรฐานเพียงอย่างเดียวแต่ในทางสังคมยังมีทัศนคติเชิงลบ หรือมีความเข้าใจที่ไม่ถูกต้องเกี่ยวกับเรื่องเอชไอวีย่อมส่งผลให้สถานการณ์ของการรังเกียจหรือเลือกปฏิบัติต่อผู้ติดเชื้อฯ ก็ยังคงอยู่
ภาคประชาสังคมจึงจำเป็นต้องผลักดันให้หน่วยงานของรัฐอำนวยความสะดวกให้กับคนทุกคนในสังคมอย่างสมเหตุสมผล (Reasonable Accommodation) บนฐานเคารพความเป็นมนุษย์ เพราะปลายทางแล้วไม่มีใครอยากไปถึงสถานการณ์ฟ้องร้อง แต่ทุกคนอยากพัฒนาสถานการณ์ให้ดีขึ้น บนฐานของความเข้าใจ
ไม่เช่นนั้น “การทำงานเรื่อง U=U ไม่มีทางสำเร็จ”