เมื่อวันที่ 4 สิงหาคม 2566 เครือข่ายผู้ติดเชื้อเอชไอวี/เอดส์ ประเทศไทย เข้าพบ น.ส.ปาริฉัตร จันทร์อำไพ ผู้อำนวยการสำนักจัดระบบบริการทางการแพทย์ และ น.ส.นิตยา บุญญะกิจวัฒนา ผู้อำนวยการกลุ่มงานคุ้มครองสิทธิทางการแพทย์ สำนักจัดระบบบริการทางการแพทย์ ที่สำนักงานประกันสังคม กระทรวงแรงงาน เพื่อร้องเรียนเรื่องผู้ประกันตนในระบบประกันสังคมไม่ได้รับยาต้านไวรัสฯ อย่างต่อเนื่อง รวมถึงการพัฒนาชุดสิทธิประโยชน์ในด้านต่างๆ ของผู้ประกันตนให้มีความสอดคล้องกับมาตรฐานการรักษาที่เป็นปัจจุบัน พร้อมรับฟังถึงแนวทางจัดการปัญหาที่เกี่ยวข้องกับมาตรฐานการรักษาเอชไอวีจากสำนักงานประกันสังคม

ผู้ประกันตนในกทม. รายหนึ่งเล่าให้ฟังว่า “ตนเองเป็นผู้ประกันตนของโรงพยาบาลเอกชนแห่งหนึ่งใน กทม. ซึ่งในระยะหลังมานี้สังเกตว่าทางโรงพยาบาลนัดมารับยาต้านไวรัสฯ บ่อยขึ้นจากเดิมนัด 3 เดือนครั้งต้องเปลี่ยนมาเป็นรับยาทุก 15 วัน จึงต้องลางานบ่อยๆ เพื่อมารับยาตามนัดจึงรู้สึกกังวลใจอย่างมากว่าที่ทำงานอาจมองว่าเราทำงานให้ได้ไม่เต็มเม็ดเต็มหน่วย อีกทั้งยังเสียทั้งเวลาและรายได้จากการลางานและยังเสียค่าใช้จ่ายในการเดินทางมาโรงพยาบาลบ่อยขึ้น ในขณะที่เพื่อนผู้ติดเชื้อฯ บางคนซึ่งเจอปัญหาคล้ายๆ แต่ไม่ได้เปิดเผยสถานะของผลเลือดให้ที่ทำงานทราบจึงไม่สะดวกลางานได้บ่อยๆ บางคนสิทธิการรักษาอยู่ต่างจังหวัดแต่มาทำงานใน กทม. ก็ไม่อยากเดินทางกลับไปรับยาทุกๆ ครึ่งเดือนจึงตัดสินใจซื้อยากินเอง หรือบางคนหยุดใช้ยาไปเลยก็มี ในฐานะผู้ประกันตนที่ถูกหักเงินจากประกันสังคมทุกเดือนจึงเกิดความสงสัยว่าเกิดอะไรขึ้นกับระบบการเบิกจ่ายยาที่ทำให้ผู้ประกันตนไม่ได้รับความสะดวกในการใช้บริการ”

น.ส.ณชา อบอุ่น แกนนำเยาวชนจากกลุ่มลิตเติ้ลเบิร์ด ให้ความเห็นเพิ่มเติมว่า “แม้ว่าผู้ติดเชื้อฯ เข้าถึงยาต้านไวรัสฯ ได้สะดวกมากขึ้นจนทำให้มีร่างกายแข็งดี แต่หลายคนก็ค่อนข้างจะมีความยากลำบากในการเข้าสู่ตลาดแรงงาน เพราะต้องเผชิญกับเงื่อนไขของสถานประกอบการบางแห่งที่บังคับตรวจเลือดก่อนเข้าทำงานจึงต้องเลือกทำงานในสถานประกอบการที่ไม่มีเงื่อนไขดังกล่าว พอเข้าไปทำงานได้แล้วก็ต้องลางานไปรับยาบ่อยๆ จนที่ทำงานสงสัยว่าเกิดอะไรขึ้น ทำให้คนทำงานรู้สึกอึดอัดใจ ยิ่งบางคนพึ่งได้งานใหม่ก็ยังไม่กล้าลางานไปบ่อยๆ หลายคนจึงตัดสินใจเลือกที่จะทำงานแทนที่จะลางานไปรับยา”

“ผู้ติดเชื้อฯ เหมือนเป็นประชากรชั้น 2 เราเห็นระบบบัตรทองไม่ค่อยมีปัญหาในการรับยาต้านไวรัสฯ เท่ากับผู้ประกันตนจึงรู้สึกว่าเราทุกคนเป็นมนุษย์เท่าเทียมกัน แต่กลับไม่ได้รับการรักษาที่เป็นมาตรฐานเดียวกัน และจะน่าเศร้ามากถ้าสุดท้ายผู้ติดเชื้อฯ หลายคนตัดสินใจเลือกที่จะทำงานเพราะไม่อยากอดตาย แต่สุดท้ายก็ต้องมาเสียชีวิตจากเอชไอวีอยู่ดี และสาเหตุก็ไม่ใช่มาจากการตัดสินใจของเราเองที่อยากหยุดยา แต่ระบบการจ่ายยาไม่ได้เอื้ออำนวยให้เราสามารถทำงานได้อย่างเต็มที่” ณชากล่าว

นายอภิวัฒน์ กวางแก้ว ประธานเครือข่ายผู้ติดเชื้อเอชไอวี/เอดส์ ประเทศไทย กล่าวกับประกันสังคมถึงข้อเสนอในประเด็นดังกล่าวว่าประกันสังคมจำเป็นต้องมีช่องทางด่วน หรือสายด่วนรับเรื่องร้องเรียนกรณียาขาดโดยตรงและดำเนินการคืนเงินให้ผู้ประกันตนที่ต้องไปซื้อยาต้านฯ เอง เนื่องจากเป็นชุดสิทธิประโยชน์ด้านการรักษาที่ต้องดูแลให้กับผู้ติดเชื้อฯ อยู่แล้ว

นอกจากนี้ยังเสนอว่าผู้ประกันตนควรมีสิทธิเลือกรับบริการที่หน่วยบริการของรัฐทุกแห่งนอกเหนือจากหน่วยบริการที่เป็นคู่สัญญากับประกันสังคม เพื่ออำนวยความสะดวกให้ผู้ติดเชื้อฯ ในการเลือกรับยาได้ตามความสะดวกใจ และที่สำคัญประกันสังคมในฐานะผู้ซื้อบริการจากโรงพยาบาลคู่สัญญาควรมีระบบกำกับ ติดตามคุณภาพบริการในเรื่องเอชไอวี ไวรัสตับอักเสบซี วัณโรค ให้เป็นไปตามแนวทางการรักษาของกระทรวงสาธารณสุข โดยเปิดโอกาสให้ผู้ติดเชื้อฯ เข้ามามีส่วนร่วมในการกำกับติดตามด้วย

ผู้อำนวยการสำนักจัดระบบบริการทางการแพทย์ ยอมรับว่าที่ผ่านมาการจ่ายยาต้านไวรัสฯ ไม่ต่อเนื่องนั้นเป็นปัญหาที่เกิดขึ้นจริง เพราะโรงพยาบาลหลายแห่งหันมายาต้านไวรัสฯ สูตรทีแอลดีมากขึ้นจึงดำเนินการจัดซื้อจัดจ้างไม่ทัน ประกอบกับคณะอนุกรรมการกลั่นกรองการจัดซื้อยาพึ่งหมดวาระไป ทำให้เกิดการติดขัดในการจัดซื้อแต่ตอนนี้ได้แต่งคณะอนุกรรมการฯ ชุดใหม่เรียบร้อยแล้ว คาดการณ์ว่าการจัดซื้อยาสามารถดำเนินการได้ใกล้เคียงแลัสอดคล้องกับบริบทการรักษามากขึ้น

ด้านผู้อำนวยการกลุ่มงานคุ้มครองสิทธิทางการแพทย์ให้ข้อมูลเพิ่มเติมว่าอยากให้ผู้ประกันตนมั่นใจว่าปัญหายาต้านไวรัสฯ ที่ขาดช่วงนั้นกำลังจะได้รับการคลี่คลาย เพราะขณะนี้เริ่มมียาต้านไวรัสฯ เข้าสู่ระบบแล้ว เช่น ยาทีแอลดีมียามียาในระบบประมาณ 200,000 กว่าขวด ทยอยเข้ารอบแรกวันที่ 4 สิงหาคมประมาณ 20,000 ขวด และวันที่ 11 สิงหาคมอีกประมาณ 40,000 ขวด ยาเดทรูกาเวียร์ประมาณเดือนสิงหาคมจะเข้ามาประมาณหมื่นกว่าและยาดารุนาเวียร์ก็เริ่มทะยอยเอาเข้าสู่ระบบเช่นเดียวกัน อีกทั้งโดยปกติประกันสังคมจัดซื้อยาล่วงหน้า 12 เดือนและบวกเพิ่มอีก 20% จึงมั่นใจว่าปริมาณการสั่งเพียงพอกับความต้องการอย่างแน่นอน

“หากผู้ประกันตนมีปัญหาจากการรับบริการในเรื่องเอชไอวี เช่น ยาขาดหรือถูกเรียกเงินตามสิทธิที่ต้องได้รับ นอกจากสายด่วนประกันสังคม 1506 แล้วยังสามารถร้องเรียนผ่านโทรศัพท์หมายเลข 02-9562500/02-9562503/02-9562505 และ 02-9562506 ได้อีกช่องทางหนึ่ง แต่ทั้งนี้ขอให้ผู้ประกันตนเก็บหลักฐานหรือเอกสารที่จำเป็น เช่น ใบสั่งยา ใบเสร็จรับเงินอย่างเป็นลายลักษณ์อักษรเพื่อให้ประกันสังคมได้พิจารณาช่วยดำเนินการและประสานงานกับโรงพยาบาลคู่สัญญาตามข้อร้องเรียนที่เกิดขึ้น” ผอ.นิตยา กล่าวย้ำ

ส่วนประเด็นข้อร้องเรียนอื่นๆ น.ส.ปาริฉัตรกล่าวว่าขอรับเรื่องไปเสนอและหารือในวงประชุมของคณะกรรมการ (บอร์ด) ประกันสังคมต่อไป