เรื่องยาต้านไวรัสเอชไอวี (ยาต้านไวรัสฯ) ขาดแคลน เป็นปัญหามหากาพย์ของผู้ติดเชื้อฯ ที่เจอมาต่อเนื่อง จากข้อมูลที่ได้รับจากแกนนำผู้ติดเชื้อฯ ในกลุ่มศูนย์องค์รวม 60 กลุ่มที่มีการทำงานร่วมกับโรงพยาบาล 60 แห่งและจากกล่องข้อความในเพจของเครือข่ายผู้ติดเชื้อฯ ที่ช่วยกันรายงานเรื่องยาขาดมาเป็นระยะ ทำให้เห็นปัญหาหลักๆ คือ จากเดิมที่หมอเคยนัดรับยาต้านไวรัสฯ ทุก 3 – 6 เดือน ช่วงหลังมานี้ต้องเปลี่ยนแผนนัดรับยาทุกเดือน ยิ่งยาบางชนิด เข่น ยาโดลูเทกราเวียร์ หรือ DTG ต้องนัดรับทุก 3 – 10 วันก็มี
.
ผลกระทบที่เกิดขึ้นหลักๆ กับผู้ติดเชื้อฯ มีทั้งต้องลางานบ่อยๆ ขาดรายได้ มีค่าใช้จ่ายในการเดินทางมารับยา เพราะถ้าไม่ได้ทานยาต่อเนื่องอาจมีความเสี่ยงต่อการดื้อยาได้ ประกอบกับเมื่อยาไม่เพียงพอ ผู้ติดเชื้อฯ คนไหนที่ต้องได้รับการปรับเปลี่ยนสูตรยาตามแนวทางการรักษาของประเทศก็จะไม่ได้รับการเปลี่ยน หรือได้รับการปรับเปลี่ยนช้าส่งผลต่อสุขภาพของผู้ติดเชื้อฯ ในระยะยาว
.
ส่วนผู้ให้บริการเองก็ได้รับผลกระทบเช่นกันที่ต้องมีภาระงานเพิ่มขึ้น เพื่อมาบริหารจัดการยาให้ผู้ติดเชื้อฯ ไม่ขาดยา และเพิ่มงานที่ต้องนัดหมายผู้ติดเชื้อฯ มารับบริการถี่ขึ้นอีก ส่วนผลกระทบระดับประเทศหากผู้ติดเชื้อฯ ที่ดื้อยาสูตรพื้นฐานมากขึ้น ทำให้ต้องใช้จ่ายงบประมาณเพิ่มมากขึ้นในการหายต้านไวรัสฯ สูตรสำรองที่ราคาสูงกว่ายาสูตรพื้นฐาน
.
เครือข่ายผู้ติดเชื้อฯ จึงพยายามนัดหารือคุยกับฝ่ายต่างๆ ที่เกี่ยวข้องอยู่เป็นระยะ โดยเมื่อวันที่ 10 กรกฎาคม 2566 อภิวัฒน์ กวางแก้ว ประธานจากเครือข่ายผู้ติดเชื้อเอชไอวี/เอดส์ ประเทศไทย และผู้แทนเครือข่ายผู้ติดเชื้อฯ จากภาคเหนือและภาคตะวันออกเฉียงเหนือไปยังสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) เพื่อพบกับนางยุพดี ศิริสินสุข รองเลขาธิการ สปสช. เพื่อนำประเด็นดังกล่าวเข้าหารือ
.
อภิวัฒน์ สรุปให้ฟังคร่าวๆ ว่า ทั้ง สปสช.และเครือข่ายผู้ติดเชื้อฯ ก็เห็นตรงกันเรื่องปัญหาการขาดแคลนยาของผู้ติดเชื้อฯ ซึ่ง สปสช. ก็ไม่ได้นิ่งนอนใจกับสถานการณ์ที่เกิดขึ้นก็พยายามประสานไปยังหน่วยงานต่างๆ ที่เกี่ยวข้องให้จัดหายามาให้ ทางเครือข่ายผู้ติดเชื้อฯ จึงมีข้อเสนอไปยัง สปสช. ว่าควรมีการจัดตั้งทีมผู้เชี่ยวชาญและผู้เกี่ยวข้องเรื่องการบริหารจัดการยา ติดตามลงไปในหน่วยบริการที่มีปัญหาเร่งด่วน ทั้งด้านวิชาการตามแนวทางการรักษา และด้านการบริหารจัดการยา อีกทั้งให้มีสื่อสารก่อนจะมีการปรับเปลี่ยนแนวทางการรักษา หรือมียาใหม่เข้าสู่ระบบ เพื่อสร้างความเข้าใจให้ทั้งกับหน่วยบริการ และผู้ติดเชื้อเอชไอวีในการจัดการกับผลข้างเคียง และการวางแผนสั่งยาให้เพียงพอ
.
สำหรับข่ายผู้เชื้อฯ ได้เสนอตัวเองด้วยการให้กลุ่มศูนย์องค์รวมร่วมกันสำรวจข้อมูล สะท้อนปัญหาการขาดยารายหน่วยบริการ พร้อมทั้งทำงานร่วมกับสปสช. และสปสช.เขต ในการทำระบบติดตามปัญหายาขาดในหน่วยบริการ เพื่อนำไปเป็นข้อมูลการปรับแผนการจัดซื้อที่ทันต่อสถานการณ์
.
อภิวัฒน์ยังบอกแผนเดินสายล่วงหน้าว่าวันที่ 20 กรกฏาคม 2566 ช่วงบ่ายจะไปขอพบกับผู้อำนวยการองค์การเภสัชกรรม (อภ.) คนใหม่ ในฐานะผู้ผลิตยาชื่อสามัญรายใหญ่ของประเทศ เพื่อคุยถึงแนวทางในการบริหารจัดการและการแจกจ่ายยาต้านไวรัสฯ ไปยังโรงพยาบาลให้เพียงพอกับความต้องการของผู้รับบริการ ส่วนวันที่ 4 สิงหาคม 2566 ช่วงบ่ายเช่นกันจะไปสำนักงานประกันสังคม (ปกส.) เพื่อหารือถึงแนวทางและมาตรฐานการรักษาและการป้องกันให้กับผู้ติดเชื้อฯ ที่เป็นผู้ประกันตนด้วย