จริง ๆ แล้ว บทบาทของศูนย์องค์รวม ไม่ได้มีแค่การดูแลผู้ติดเชื้อฯ ในมุมสุขภาพหรือการทานยาเพียงอย่างเดียว แต่ต้องพยายามดูแลผู้ติดเชื้อฯ ไปในด้านอื่น ๆ ด้วย เหมือนกับเรื่องเล่าจากแกนนำกลุ่มศูนย์องค์รวม จ.พัทลุงที่ฉายภาพการทำงานของศูนย์องค์รวมที่พยายามไปให้ถึงคู่ของผู้ติดเชื้อฯ โดยเฉพาะคนที่มีผลเลือดต่าง ซึ่งเป้าสำคัญไม่เพียงแต่จะให้ผู้ติดเชื้อฯ มีความเข้าใจและมั่นใจในการอยู่ร่วมกับเชื้อแล้ว ยังต้องทำให้คู่ของผู้ติดเชื้อฯ เข้าใจและมั่นใจในการใช้ชีวิตอยู่ร่วมกันควบคู่ไปกับการทำให้ผลเลือดของตัวเองเป็นลบให้ยาวนานที่สุดด้วย
“จิต” (นามสมมุติ) มีอาชีพทำสวน กรีดยาง อาศัยอยู่กับสามีและมีลูกสาวด้วยกัน 1 คน เมื่อประมาณต้นปี 2561 สามีของจิตเริ่มป่วยจึงไปหาซื้อยาตามคลินิกมากินเองแต่ไม่หาย จนได้เจอกับ อสม.ที่เป็นแกนนำของ #กลุ่มศูนย์องค์รวม จึงได้รับคำแนะนำให้ลองไปตรวจเลือดเพื่อหาเชื้อเอชไอวีที่โรงพยาบาล
จิตและสามีกลับมาปรึกษากันประมาณ 1 เดือนจึงตัดสินใจมาตรวจเลือดที่โรงพยาบาล ระหว่างรอฟังผลเลือดทั้งคู่ได้รับฟังข้อมูลจากเจ้าหน้าที่พยาบาลหลายเรื่อง เช่น ช่องทางการติดต่อ การอยู่ร่วมกัน การถ่ายทอดเชื้อ เป็นต้น และยังมีโอกาสได้พูดคุยกับแกนนำกลุ่มของศูนย์องค์รวมด้วย
เมื่อผลตรวจเลือดออกมาพบว่า “เป็นบวกทั้งคู่” แต่ทั้งสองก็ทำใจยอมรับได้และเตรียมตัวมาแล้วระดับหนึ่ง หลังจากทั้งคู่ได้พูดคุยเรื่องยาต้านไวรัสฯ และแนวทางการดูแลรักษาจากแกนนำกลุ่มศูนย์องค์รวมและพยาบาลพี่เลี้ยงเพิ่มเติมแล้ว สามีและจิตจึงตกลงรับการรักษาด้วยยาต้านไวรัสฯ ในสัปดาห์ถัดไปทันที พอระยะเวลาผ่านไป 1 ปี จิตมีสุขภาพแข็งแรงขึ้นตามลำดับในขณะที่สามีของจิตเป็นคนค่อนข้างคิดมากจึงตัดสินใจไปอยู่กับญาติแต่ไม่นานสามีของจิตก็เสียชีวิตลง
ผ่านมาประมาณ 1 ปีให้หลังมีผู้ชายคนหนึ่งมาสนใจจิต เธอจึงมาปรึกษากับแกนนำเรื่องการมีคู่ใหม่จนผ่านไปไม่นานจิตได้พาแฟนใหม่มาคุยกับแกนนำด้วย ทำให้ทราบว่าแฟนใหม่ของเธอค่อนข้างเป็นคนที่มีทัศนคติเชิงบวกในเรื่องเอชไอวีดีในระดับหนึ่ง จิตจึงเปิดเผยผลเลือดตัวเองให้แฟนใหม่ทราบ และแฟนใหม่ของเธอยังพูดขึ้นมาอีกว่าก่อนจะมาจีบเธอก็ได้ยินข่าวว่าจิตมีเชื้อเอชไอวีมาเหมือนกัน
เวลาผ่านไปประมาณ 3 – 4 เดือน จิตเข้ามาขอรับคำปรึกษากับแกนนำเรื่องการมีลูก ซึ่งเธอไม่แน่ใจว่าคนมีเชื้อเอชไอวีจะมีลูกได้หรือไม่ แกนนำกลุ่มจึงคุยอยู่หลายเรื่อง เช่น การวางแผนการตั้งครรภ์ของผู้ติดเชื้อฯ โอกาสในการถ่ายทอดเชื้อเอชไอวีจากแม่สู่ลูก และการประเมินความเสี่ยงจากการมีเพศสัมพันธ์โดยไม่ได้ใช้ถุงยางอนามัยให้จิตได้มีข้อมูลก่อน
หลังจากนั้นจิตได้ขอนัดแกนนำมาพูดคุยกับแฟนหนุ่มให้เข้าใจข้อมูลต่าง ๆ เช่นเดียวกับเธอก่อนตัดสินใจมีลูกด้วยกัน เมื่อพูดคุยเข้าใจกันดีแล้วกลุ่มศูนย์องค์รวมจึงส่งต่อบริการของจิตกับแฟนใหม่ไปยังคลินิกฝากครรภ์ (ANC) ของโรงพยาบาล
ตอนที่จิตตั้งท้องก็มีแกนนำลงไปติดตามเยี่ยมบ้าน ให้คำปรึกษาอย่างต่อเนื่อง และทุกครั้งที่จิตมีปัญหาหรือมีอาการผิดปกติเธอจะโทรมาปรึกษาแกนนำตลอด จนเมื่อจิตคลอดลูกสาวออกมา ลูกก็ได้รับการตรวจหาเชื้อเอชไอวีทันทีซึ่งได้ผลเป็นลบ ส่วนแฟนใหม่ของเธอก็ตรวจหาเชื้อเอชไอวีด้วยและมีผลเป็นลบเช่นกัน
ปัจจุบันจิตมีชีวิตใหม่ได้อาศัยอยู่กับสามีและลูกโดยมีพ่อแม่ของสามีที่เข้าใจ และคอยให้กำลังใจอยู่ตลอด ซึ่งทำให้จิตได้เรียนรู้ว่าการมีเชื้อเอชไอวีอยู่ในร่างกายนั้นไม่เป็นอุปสรรคในการใช้ชีวิตเลยหากเจอคนที่เข้าใจก็สามารถอยู่ด้วยกันได้