ที่  คอท. ๐๐๔/๒๕๕๙                                  

                                                            วันที่   ๑๔ มีนาคม  ๒๕๕๙

เรื่อง               ขอให้กระทรวงสาธารณสุขร่วมกับกระทรวงศึกษาธิการ มีมาตรการเด็ดขาดกับสถานศึกษาที่ละเมิดสิทธิมนุษยชน บังคับตรวจเลือดก่อนเข้าเรียน

เรียน              นายแพทย์โสภณ  เมฆธน ปลัดกระทรวงสาธารณสุข              

เครือข่ายผู้ติดเชื้อเอชไอวี/เอดส์ ประเทศไทย ได้รับเรื่องร้องเรียนจากผู้ปกครองเด็กอายุ ๔ ขวบ ว่าถูกโรงเรียนประถมศึกษาแห่งหนึ่งในจังหวัดนครพนม บังคับให้ตรวจเลือดหาการติดเชื้อเอชไอวี เนื่องจากโรงเรียนทราบว่าผู้ปกครองเด็กเป็นผู้มีเชื้อเอชไอวี ทั้งที่ผู้ปกครองยืนยันว่าเด็กเคยตรวจเลือดยืนยันหลายครั้ง ไม่พบว่าติดเชื้อเอชไอวี แต่ครูและผู้บริหารโรงเรียนไม่เชื่อ ต้องให้เด็กไปตรวจเลือดและนำผลการตรวจมายืนยันอีกครั้ง โดยผู้อำนวยการโรงเรียนทำหนังสือถึงโรงพยาบาลเพื่อขอให้โรงพยาบาลตรวจเลือดเด็ก ในหนังสือระบุว่า “..เพื่อใช้เป็นหลักฐานในการเข้าศึกษาต่อและการจัดกิจกรรมการเรียนการสอนในชั้นเรียนให้กับนักเรียนร่วม..” การกระทำดังกล่าว เป็นการเลือกปฏิบัติต่อเด็ก เพียงเพราะโรงเรียนรู้ว่าผู้ปกครองของเด็กคนดังกล่าวนี้เป็นผู้ติดเชื้อเอชไอวี ในขณะโรงเรียนไม่ได้บังคับให้เด็กคนอื่นๆไปตรวจเลือดแต่อย่างใด

เหตุการณ์นี้ไม่ใช่ครั้งแรกที่เด็กและครอบครัวนี้ถูกเลือกปฏิบัติ ในเดือนพฤษภาคม พ.ศ. ๒๕๕๗ ผู้ปกครองได้พาเธอไปสมัครเข้าเรียนในศูนย์พัฒนาเด็กเล็กก่อนวัยเรียนที่ตั้งอยู่ในชุมชนใกล้บ้าน ศูนย์ฯและชุมชนไม่ได้ให้เธอเข้าเรียนตามปกติ แต่เพิ่มขั้นตอนการประชุมในชุมชนเพื่อลงคะแนนเสียงว่าจะยอมให้เด็กเข้าเรียนได้หรือไม่ ขณะที่เด็กคนอื่นๆที่จะเข้าเรียนไม่ต้องผ่านขั้นตอนนี้ มีเพียงครอบครัวของเธอเท่านั้นที่ถูกเลือกปฏิบัติเพราะชุมชนรู้ว่าผู้ปกครองมีเชื้อเอชไอวี  จนกระทั่งเครือข่ายฯและองค์กรภาคีในพื้นที่ได้จัดประชุมทำความเข้าใจเรื่องเอชไอวีให้กับชุมชนเพื่อให้เธอได้เข้าเรียน กระนั้นก็ตาม เมื่อเธอเริ่มไปเรียนที่ศูนย์ฯ  ผู้ปกครองเด็กคนอื่นก็ไม่ยอมส่งลูกหลานของตนเองมาเรียนร่วม จนเธอต้องหยุดไปโรงเรียน และเมื่อทีมภาคีเครือข่ายฯในพื้นที่ ได้มีการปรึกษากับศูนย์เด็กฯ แห่งหนึ่งที่อยู่ตำบลใกล้เคียง เพื่อจะหาทางให้เด็กได้ไปเข้าเรียน ก็ได้รับคำตอบว่า เกรงว่าจะมีปัญหาเหมือนที่เกิดขึ้นในศูนย์ฯแห่งแรก ดังนั้นให้กลับไปแก้ปัญหาที่ศูนย์ฯแรกก่อน ไม่มีใครกล้าตัดสินใจรับเด็กเข้าเรียนในศูนย์ฯที่สอง  เธอจึงไม่ได้เข้าเรียนตั้งแต่นั้นมา จนถึงปัจจุบัน เด็กมีอายุถึงเกณฑ์ที่จะไปสมัครที่โรงเรียนประถมศึกษาได้ การเลือกปฏิบัติต่อเธอและครอบครัวจึงเกิดขึ้นซ้ำอีกครั้ง

ในช่วงสองปีที่ผ่านมา เครือข่ายฯและผู้ปกครองเด็ก ได้ยื่นเรื่องร้องเรียนไปยังหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเพื่อให้เด็กได้เข้าเรียน เช่น ผู้ปกครองเด็กไปพบนายอำเภอ แต่ไม่มีความคืบหน้าแต่อย่างใด และเครือข่ายฯร้องเรียนไปที่คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ ก็ไม่มีความคืบหน้าเช่นกัน

นอกจากนั้น ในปี ๒๕๕๘ เครือข่ายฯยังได้ทำหนังสือร้องเรียนไปยังอธิบดีกรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่น กระทรวงมหาดไทย และได้รับหนังสือ รายงานผลการตรวจสอบข้อเท็จจริงกลับมาว่า “..ยังไม่อาจสรุปได้ว่ามีการละเมิดสิทธิมนุษยชนและการเลือกปฏิบัติต่อผู้ติดเชื้อเอชไอวี/เอดส์ตามที่ได้ร้องเรียน..” โดยในรายงานผลการตรวจสอบข้อเท็จจริง มีเพียงการสอบปากคำพยานที่เป็นประธานกรรมการบริหารศูนย์ฯ, ผู้ใหญ่บ้าน, พนักงานส่วนตำบลและครูผู้ดูแลเด็ก โดยไม่มีข้อมูลจากฝ่ายผู้ร้องเรียน หรือภาคีเครือข่ายที่เกี่ยวข้องเช่น โรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบล หรือโรงพยาบาลชุมชนและครอบครัวของเด็ก 

การกระทำดังกล่าวข้างต้นของศูนย์พัฒนาเด็กก่อนวัยเรียน ,โรงเรียน เป็นเพียงตัวอย่างที่สะท้อนถึงความไม่เข้าใจในเรื่องเอชไอวีของผู้บริหาร ครูและชุมชน และที่สำคัญมาจากการขาดมุมมองด้านการเคารพสิทธิมนุษยชนและศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ของหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ทั้งในระดับบุคคลและระดับองค์กร

เหตุการณ์ที่เกิดขึ้นนี้ยังขัดแย้งกับยุทธศาสตร์การป้องกันและแก้ไขปัญหาเอดส์แห่งชาติ ปี ๒๕๕๗-๑๕๕๙ ที่มีมาตรการด้านการลดการตีตราและการแก้ไขปัญหาละเมิดสิทธิ อีกทั้งกระทรวงสาธารณสุขเพิ่งได้ประกาศไปเมื่อวันที่ ๑ มีนาคม ที่ผ่านมา ที่ประเทศไทยเข้าร่วมกับโครงการโรคเอดส์แห่งสหประชาชาติ ร่วมรณรงค์การยุติการเลือกปฎิบัติ เพื่อมุ่งสู่เป้าหมายการยุติปัญหาเอดส์ภายในปี ๒๕๗๓

 

เครือข่ายฯ จึงขอเรียกร้องให้ กระทรวงสาธารณสุขในฐานะเป็นหน่วยงานที่รับผิดชอบหลักในเรื่องป้องกันและแก้ไขปัญหาเอชไอวี/เอดส์ของประเทศ ได้เป็นตัวกลางเชื่อมประสานหน่วยงานต่างๆเพื่อดำเนินการดังต่อไปนี้

๑.      กระทรวงสาธารณสุขประสานงานเร่งด่วนกับกระทรวงศึกษาธิการดำเนินการสอบสวนข้อเท็จจริงและมีการลงโทษทางวินัยโรงเรียนที่บังคับตรวจเลือดเด็กนักเรียนและชดเชยเยียวยาผู้เสียหายจากการละเมิด ในกรณีที่เกิดขึ้นที่จังหวัดนครพนม

๒.     กระทรวงสาธารณสุขและกระทรวงศึกษาธิการประกาศแนวทางการปฏิบัติเพื่อยุติการเลือกปฏิบัติเรื่องเอชไอวีในโรงเรียนและสถาบันการศึกษา โดยมีคำสั่งห้ามสถาบันการศึกษาทุกแห่ง บังคับตรวจเลือดหาการติดเชื้อเอชไอวีเพื่อเข้ารับการศึกษา หากสถาบันใดฝ่าฝืนให้มีบทลงโทษทางวินัยที่ชัดเจนแก่ผู้บริหารและผู้มีส่วนเกี่ยวข้อง รวมทั้งต้องมีมาตรการชดเชยและเยียวยานักเรียน นักศึกษาที่ถูกละเมิดสิทธิ  และให้มีการประกาศนโยบายผ่านสื่อต่างๆเพื่อให้เกิดการรับรู้โดยทั่วกัน

๓.     กระทรวงสาธารณสุข กระทรวงศึกษาธิการและกระทรวงมหาดไทย ควรมีแผนงานร่วมกันที่เป็นรูปธรรมและต่อเนื่องในการสร้างความเข้าใจเรื่องเอชไอวี/เอดส์ให้กับผู้บริหารและครูในโรงเรียน ศูนย์พัฒนาเด็กเล็กในชุมชน และผู้นำชุมชนให้มีข้อมูลที่ถูกต้อง และมีทัศนคติที่ดีต่อการมีเชื้อเอชไอวี เพื่อไม่ให้เกิดการรังเกียจ การเลือกปฏิบัติและการละเมิดสิทธิเด็กเกิดขึ้นอีกในอนาคต

๔.     กระทรวงสาธารณสุขแต่งตั้งผู้รับผิดชอบหลักหรือมอบหมายหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง โดยระบุภารกิจให้ชัดเจนในการรับเรื่องร้องเรียนและพร้อมที่จะประสานงานกับกระทรวงศึกษาธิการและติดตามลงพื้นที่ที่เกิดปัญหาอย่างทันท่วงที โดยร่วมมือกับเครือข่ายฯ หรือองค์กรพัฒนาเอกชน เพื่อดำเนินการปกป้อง คุ้มครองสิทธิอย่างเร่งด่วนเมื่อเกิดการละเมิดสิทธิโดยโรงเรียนหรือสถานศึกษา

 

จึงเรียนมาเพื่อดำเนินการอย่างเร่งด่วน

 

                                                                     ขอแสดงความนับถือ

                  

 

                               (นายอนันต์  เมืองมูลไชย)

                                                                   ประธานเครือข่ายผู้ติดเชื้อเอชไอวี/เอดส์ ประเทศไทย

 

โทรศัพท์มือถือ  ๐๘๑ ๐๒๕ ๖๕๗๐  tatum2507@gmail.com