เมื่อวันที่ ๑ ตุลาคม ที่ผ่านมา เครือข่ายผู้ติดเชื้อเอชไอวี/เอดส์ ประเทศไทย ร่วมกับมูลนิธิเข้าถึงเอดส์ จัดกิจกรรม “เอดส์ รู้เร็ว รักษาได้” ขึ้น เพื่อให้เป็นวันรณรงค์เพื่อเข้าถึงการรักษา ที่เกาะพญาไท อนุสาวรีย์ชัยสมรภูมิ
นายนิมิตร์ เทียนอุดม ผู้อำนวยการมูลนิธิเข้าถึงเอดส์ ให้สัมภาษณ์ว่า ตั้งแต่ปี พ.ศ.๒๕๔๘ ที่เริ่มมีการรักษาเอชไอวี/เอดส์ ด้วยยาต้านไวรัสในระบบหลักประกันสุขภาพ แต่ยังคงมีอัตราการเสียชีวิตของคนที่ติดเชื้อฯ อยู่ประมาณปีละ ๒๐,๐๐๐ คน ซึ่งถ้าคนที่ติดเชื้อฯ ได้รับการรักษาเร็ว ตามมาตรฐานและดูแลสุขภาพตัวเองอย่างต่อเนื่อง ก็จะไม่มีใครเสียชีวิตจากโรคฉวยโอกาสแล้ว
“ทั้งที่เราเรียกร้องจนรัฐบาลจ่ายยาต้านฯ ให้กับระบบหลักประกันสุขภาพทุกระบบ แต่ยังมีคนเสียชีวิตอยู่ เพราะคนจำนวนมากไม่คิดว่าตัวเองเสี่ยงต่อการติดเชื้อฯ และกว่าจะรู้ก็มีอาการป่วยจากโรคฉวยโอกาสแล้ว และมีความเสี่ยงที่จะเสียชีวิตระหว่างการรักษา สิ่งสำคัญคือ มันไม่มีใครเป็นเจ้าภาพหลัก หรือหน่วยงานรัฐยังไม่ได้รณรงค์ หรือชวนให้คนตื่นตัว ให้คนเข้าถึงการรักษา เลยเป็นภารกิจของภาคประชาสังคม เพื่อลดอัตราการตายจากเอดส์ให้ได้” นายนิมิตร์บอก
ผู้อำนวยการมูลนิธิฯ กล่าวเพิ่มเติมว่า ช่องว่างอีกอย่างคือ เมื่อผู้ติดเชื้อฯ เข้าสู่การรักษาแล้ว เขามีร่างกายแข็งแรง มีชีวิตได้เหมือนเดิม แต่ไปเจอกับโจทย์ใหญ่คือ ถูกรังเกียจจากการอยู่ร่วมกันในชุมชน หรือการสมัครงาน เช่น สถานประกอบการตรวจเลือดหาเชื้อเอชไอวีก่อนเข้าทำงาน ตรวจเลือดประจำปี หรือสถานศึกษาไม่ให้เด็กที่ติดเชื้อฯ เรียนหนังสือ
“มันจะมีประโยชน์อะไร ถ้าเราทุ่มเทให้กับการรักษา แล้วคนกว่า ๒๐๐,๐๐๐ คน เข้าสู่การรักษาแล้ว แต่คนเหล่านี้ไม่ได้รับโอกาสที่จะมีชีวิตเหมือนคนทั่วไป ทั้งที่เขาแข็งแรงแล้ว ถ้าเขามีงานทำ หรือได้เรียนหนังสือ เขาก็พร้อมที่จะรับผิดชอบตัวเอง เราจึงต้องส่งเสียงดังๆ ให้เห็นว่าเราอยู่ร่วมกันได้ ผู้ติดเชื้อฯ ก็ต้องการโอกาสที่เหมือนกับคนอื่น ไม่ใช่กีดกันด้วยผลของการติดเชื้อฯ” นายนิมิตร์ กล่าว
ด้านนายอภิวัฒน์ กวางแก้ว ประธานเครือข่ายผู้ติดเชื้อฯ กล่าวว่า เขาต้องการเห็นมาตรฐานการรักษาที่ไม่เลือกปฏิบัติ ไม่ว่ากับใคร ไม่ว่าจะเป็นแรงงานข้ามชาติ หรือคนไร้สถานะทางกฎหมาย ซึ่งการดูแลรักษาเอชไอวี/เอดส์ ต้องเป็นระบบที่มีมาตรฐานเดียว ดูแลทุกคนอย่างเสมอภาคและเท่าเทียมกัน เพราะตอนนี้ไม่ว่าผู้ติดเชื้อฯ จะมีระดับภูมิต้านทาน (CD4) เท่าไหร่ก็สามารถเริ่มรักษาด้วยยาต้านไวรัสได้เลย ไม่ต้องรอให้ป่วยก่อน
นายอภิวัฒน์ กล่าวเพิ่มเติมว่า กิจกรรมในวันนี้ ต้องการยืนยันให้กับคนในสังคมเห็นว่าการทำอาหารโดยผู้ติดเชื้อฯ ให้คนทั่วไปทั้งที่มีเชื้อเอชไอวี และไม่มีเชื้อฯ รับประทานนั้น รับประกันได้ว่าไม่ติดเชื้อเอชไอวีแน่นอน รวมทั้งต้องการส่งสัญญาณไปยังผู้ประกอบการร้านอาหารว่า การเลือกปฏิบัติ โดยที่ไม่รับผู้ติดเชื้อฯ เข้าทำงาน เพราะกลัวว่าคนจะไม่รับประทานอาหารที่ผู้ติดเชื้อฯ ทำนั้น เป็นเรื่องเข้าใจผิด ทุกคนควรรับประทานอาหารสะอาด ปลอดภัย ถูกสุขลักษณะ ไม่ว่าจะทำจากใคร มีเชื้อเอชไอวีหรือไม่
ทั้งนี้ ภายในงานมีการเล่าถึงประวัติศาสตร์การได้มาซึ่งยาต้านไวรัสเอชไอวีตั้งแต่เมื่อปี พ.ศ.๒๕๔๘ การเล่นดนตรี และการทำอาหารแจกจ่ายให้ประชาชนที่มาร่วมงานโดยเครือข่ายผู้ติดเชื้อฯ