ในวันที่ ๕ สิงหาคมนี้ ที่โรงแรม ทาวน์อินทาวน์ กรุงเทพฯ เครือข่ายผู้ติดเชื้อเอชไอวี/เอดส์ ประเทศไทย ร่วมกับมูลนิธิเข้าถึงเอดส์ เปิดตัวหนังสั้นชุด “อยู่ด้วยกัน” ภายใต้โครงการพัฒนาคุณภาพชีวิตเด็กโดยชุมชน (CHILDLIFE) ซึ่งได้รับการสนับสนุนจากกองทุนโลก รอบที่ ๑๐
นายอภิวัฒน์ กวางแก้ว ประธานเครือข่ายฯ กล่าวว่า เมื่อเร็วๆ นี้ มีเหตุการณ์เกิดขึ้นในภาคอีสาน เด็กอายุ ๕ ขวบที่มีเชื้อเอชไอวีไม่ได้เข้าเรียนชั้นอนุบาล เนื่องจากคนในชุมชนกลัวว่าลูกหลานของตัวเองที่เรียนร่วมจะได้รับเชื้อฯ ไปด้วย ไม่เพียงเท่านั้น เดือนมิถุนายนที่ผ่านมา เครือข่ายฯ ได้รับเรื่องร้องเรียนว่ามีการตรวจเลือดนักศึกษาคณะพยาบาลศาสตร์ ชั้นปีที่ ๓ ในมหาวิทยาลัยเอกชนแห่งหนึ่งในเขตปริมณฑล และเมื่อพบว่านักศึกษามีเชื้อเอชไอวี มหาวิทยาลัยแจ้งผู้ปกครองให้ทราบและก็ให้ย้ายไปเรียนคณะอื่นทันที จนนักศึกษารู้สึกกดดันและต้องออกจากมหาวิทยาลัย ซึ่งเรื่องราวแบบนี้เกิดขึ้นเรื่อยมา เพียงแต่อาจจะไม่ได้ถูกพูดถึงในสังคมวงกว้างมากนัก ทั้งที่เรื่องเหล่านี้ เป็นการละเมิดสิทธิมนุษยชนอย่างเห็นได้ชัด
นายอภิวัฒน์ กล่าวต่อไปว่า จากสถานการณ์ต่างๆ เหล่านี้ เครือข่ายฯ ได้ผลิตหนังสั้นชุด “อยู่ด้วยกัน” ทั้งสิ้น ๒๙ เรื่อง ผลิตโดยเยาวชน แกนนำผู้ติดเชื้อฯ ซึ่งเป็นผู้ที่มีประสบการณ์ตรง ร่วมกับอาสาสมัครทำหนัง โดยหนังสั้นชุดนี้ สร้างขึ้นมาเพื่อใช้เป็นสื่อสร้างความเข้าใจให้กับคนในสังคม เพื่อลดการตีตรา และแบ่งแยกเด็ก/เยาวชนที่ได้รับผลกระทบจากเอชไอวี/เอดส์ เด็กเร่ร่อน เด็กที่อยู่ในกระบวนการยุติธรรม รวมถึงเด็กที่ถูกตีตราจากสาเหตุอื่นๆ เพื่อให้เขาเหล่านี้อยู่ร่วมในสังคมได้อย่างปกติสุข และมีคุณภาพชีวิตที่ดี ซึ่งหนังสั้นทั้ง ๒๙ เรื่องจะเผยแพร่ในช่อง Mango TV รายการ Mango Rama ทุกวันจันทร์ – ศุกร์ เวลา ๑๕.๓๐ น. เร็วๆ นี้หรือหากมีผู้สนใจอยากนำหนังสั้นชุดนี้ไปใช้ ก็สามารถติดต่อเข้ามาได้ที่หมายเลข ๐๒ ๓๗๗ ๕๐๖๕
ด้านนายนิมิตร์ เทียนอุดม ผู้อำนวยการมูลนิธิเข้าถึงเอดส์ กล่าวเพิ่มเติมว่า แผนงานที่ทำอยู่นั้นเป็นส่วนหนึ่งของยุทธศาสตร์ระดับประเทศ ที่จะสร้างกลไกหรือพัฒนาให้เกิดคณะทำงานด้านเด็กในชุมชน หรือ CAG (Child action Group) ในพื้นที่ ๑,๖๘๐ ตำบล ใน ๒๙ จังหวัด เพื่อให้ชุมชนเป็นผู้มีบทบาทหลักในการทำงานเพื่อส่งเสริมคุณภาพชีวิตเด็กในชุมชนของตนเอง ให้เกิดความยั่งยืนในการทำงาน และแก้ปัญหาได้ตรงจุดที่สุด ซึ่งหนังสั้นทั้ง ๒๙ เรื่องนี้จะถูกนำไปใช้ในการทำงานของชุมชนด้วย
ผู้อำนวยการฯ กล่าวอีกว่า เรื่องสำคัญคือ ต้องผลักดันให้เกิดการแก้ไขนโยบายที่มีการเลือกปฏิบัติ โดยเฉพาะในหน่วยงานราชการและสถานศึกษาหลายแห่งที่ยังมีการบังคับตรวจเลือดอยู่