หลังจากประเทศไทยประกาศใช้สิทธิตามสิทธิบัตรยาโดยรัฐ หรือซีแอล มาตั้งแต่ปลายปี 2549 เป็นต้นมา ทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงในวงการสาธารณสุขขึ้นมากมาย ไม่ว่าจะเป็นบริษัทยาข้ามชาติหลายแห่งเริ่มลดราคายาต้นแบบลงจากเดิมหลายเท่า รวมถึงยังมีประเทศกำลังพัฒนาหลายประเทศเริ่มใช้มาตรการดังกล่าวตามประเทศไทย เช่น ประเทศบราซิล
อย่างไรก็ตาม ยังมีบริษัทยาบางแห่งที่ไม่ยอมลดราคายาลงแต่เลือกที่จะไม่ขึ้นทะเบียนยาใหม่ในไทยจนกว่าเราจะประกาศยกเลิกมาตรการดังกล่าว เช่น บริษัทแอ๊บบอต ลาบอแรตอรีส จำกัด (แอ๊บบอตฯ)
บริษัท แอ๊บบอตฯ ได้ยื่นหนังสือถึงกองควบคุมยา สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) เพื่อเพิกถอนคำขอขึ้นทะเบียนยาใหม่ในประเทศไทย ได้แก่ Zemplar สำหรับผู้ป่วยโรคไตเรื้อรัง Simdax ยารักษาโรคหัวใจล้มเหลว Humira ยารักษาโรคภูมิต้านเนื้อเยื่อของตนเอง หรือ Autoimmune Disease และยาต้านไวรัสฯ Aluvia tablet ฯลฯ จนกว่ารัฐบาลจะเปลี่ยนท่าทีในการประกาศบังคับใช้สิทธิในยาต้านไวรัสฯ โลพินาเวีย/ริโทนาเวีย
“แอ๊บบอตไม่ยื่นขอขึ้นทะเบียนยาใหม่และเพิกถอนคำขอขึ้นทะเบียนยาใหม่ จนกว่ารัฐบาลจะให้ความสำคัญกับทรัพย์สินทางปัญญา รวมทั้งยกเลิกมาตรการบังคับใช้สิทธิเหนือสิทธิบัตร” ตามรายงานข่าวของหนังสือพิมพ์มติชน และ The Wall Street Journal
ทางเครือข่ายผู้ติดเชื้อเอชไอวี/เอดส์ ประเทศไทย มูลนิธิเข้าถึงเอดส์ ศูนย์พิทักษ์สิทธิด้านเอดส์ คณะกรรมการองค์การพัฒนาเอกชนด้านเอดส์ (กพอ.) และมูลนิธิเพื่อผู้บริโภค จึงประณามบริษัท แอ๊บบอตฯ ที่ใช้กลวิธีดังกล่าวกดดัน กีดกันและขัดขวางการเข้าถึงยาของประชาชน ทั้งที่การประกาศบังคับใช้สิทธิเพื่อนำเข้ายาชื่อสามัญ 3 ตัวนั้นถูกต้องชอบธรรม ทั้งในกฎหมายไทยและข้อตกลงระหว่างประเทศ แสดงให้เห็นถึงพฤติกรรมของอุตสาหกรรมยาข้ามชาติที่ละโมบ กอบโกยผลประโยชน์ไม่รู้จักพอ และไม่คำนึงถึงชีวิตของประชาชน
นอกจากนั้นทางภาคประชาสังคมไทยยังทำกิจกรรมรณรงค์คว่ำบาตรสินค้าและผลิตภัณฑ์ของ “แอ๊บบอต” เช่น นม อาหารเสริม พร้อมสนับสนุนให้อุตสาหกรรมยาในประเทศใช้โอกาสนี้ในการผลิตและขึ้นทะเบียนยาชื่อสามัญให้มากขึ้น