“การทำความตกลงเขตการค้าเสรีแบบทวิภาคีระหว่างรัฐบาลไทยกับสหรัฐอเมริกา” (Free Trade Area: FTA) หรือ เอฟทีเอไทย – สหรัฐอเมริกา แม้ส่วนหนึ่งจะมีผลดีในทางเศรษฐกิจและการค้าแต่อีกด้านหนึ่งก็มีผลกระทบที่จะเกิดขึ้นต่อระบบสาธารณสุขของไทยโดยเฉพาะราคายาที่อาจทำให้การเข้าถึงยาที่จำเป็นของประชาชนมีข้อจำกัด
กล่าวคือในกระบวนการเจรจาต่อรองของเอฟทีเอจะมีการพ่วงข้อเสนอของสหรัฐฯ ที่เรียกว่า “การผนวกข้อตกลงเพิ่ม” ที่มากกว่าข้อตกลงด้านทรัพย์สินทางปัญญาขององค์การการค้าโลก หรือที่เรียกว่า “ทริปส์พลัส” (TRIPs+) มีประเด็นสำคัญเกี่ยวกับระบบยา ดังนี้
1. ให้การขยายเวลาคุ้มครองสิทธิบัตรมากกว่า 20 ปี
องค์การการค้าโลกจะให้ระยะเวลาคุ้มครองด้านสิทธิบัตรให้กับบริษัทยาต้นแบบที่เป็นผู้คิดค้นวิจัยและผลิตแต่เพียงผู้เดียว 20 ปี แต่สหรัฐฯ มักอ้างถึงเวลาที่ต้องสูญเสียไปในกระบวนการขอขึ้นทะเบียนสิทธิบัตรยาในประเทศไทย ที่ต้องอาศัยองค์ความรู้ทางเภสัชวิทยา เพื่อตรวจสอบดูว่ายาที่มาจดสิทธิบัตรคิดค้นขึ้นมาใหม่ กรรมวิธีผลิตมีความซับซ้อน และสามารถผลิตได้ในเชิงพาณิชย์ ซึ่งกรมทรัพย์สินทางปัญญาของไทยมีศักยภาพน้อยในการตรวจสอบ อาจใช้เวลานาน หรือต้องอาศัยการตรวจสอบของกรมทรัพย์สินทางปัญญาของประเทศอื่นๆ จึงควรเพิ่มหรือขยายเวลาในการคุ้มครองสิทธิบัตรยาให้มากกว่า 20 ปีเพื่อทดแทนเวลาที่เสียไป
2. ให้สิทธิผูกขาดในข้อมูลผลการทดสอบความปลอดภัยของยาและข้อมูลที่เกี่ยวข้อง
แม้องค์การเภสัชกรรมของไทยจะสามารถผลิตยาชื่อสามัญได้แต่จะไม่สามารถอาศัยผลการทดสอบของยาต้นแบบที่ใช้ในการจดทะเบียนสิทธิบัตรยาได้อีก เพราะในข้อตกลงของสหรัฐฯ ขอให้กรมทรัพย์สินทางปัญญาห้ามเผยแพร่ข้อมูลดังกล่าวในระดับสาธารณะ ส่งผลให้ต้นทุนในการผลิตยาต้นแบบมีราคาสูงขึ้น เพราะต้องดำเนินการทดลองวิจัยทางคลินิกที่ใช้ทุนสูงกว่าการทดสอบค่าชีวสมมูลกับยาต้นแบบจนไม่คุ้มค่ากับการผลิตเอง เพราะราคายาต้นแบบกับยาชื่อสามัญจะใกล้เคียงกัน เป็นการปิดประตูการผลิตยาชื่อสามัญใหม่ๆ ที่จำเป็นต้องใช้ในประเทศ
3. จำกัดการใช้มาตรการบังคับใช้สิทธิ ห้ามเพิกถอนสิทธิบัตร และห้ามการนำเข้าซ้อน
สหรัฐฯ เรียกร้องให้การใช้สิทธิตามสิทธิบัตรโดยรัฐ ตามมาตรา 51 พ.ร.บ.สิทธิบัตรไทยฯ จำกัดอยู่ภายใต้การตีความแบบเดิม คือ การใช้มาตรการบังคับใช้สิทธิจะใช้ได้ต่อเมื่อรัฐบาลไทยมีความสามารถผลิตยาชื่อสามัญ (Generic) ได้เอง ไม่อนุญาตให้รัฐบังคับใช้สิทธิแบบนำเข้าจากบริษัทยาในประเทศอื่นๆ เช่น จากอินเดีย บราซิล รวมทั้งต้องส่งเรื่องเข้าสู่กระบวนการทางอุญาโตตุลาการ เพื่อให้พิจารณาว่ารัฐบาลนั้น ๆ มีเหตุผลเพียงพอที่จะขอใช้มาตรการดังกล่าวหรือไม่ ซึ่งจะต้องใช้ระยะเวลาที่ยาวนานกว่าจะมีการตัดสิน ทำให้เจตนารมณ์เดิมของกฎหมายที่ต้องการความรวดเร็วในการบังคับใช้สิทธิในกรณีเร่งด่วนที่จำเป็นต่อชีวิตของประชาชนทำไม่ได้ทำให้การพิทักษ์รักษาผลประโยชน์ทางสุขภาพของประชาชนหมดความสำคัญลง
นี่คือความเสียเปรียบที่ได้ศึกษาบทเรียนจากสหรัฐฯ ที่เจรจาเอฟทีเอกับประเทศสิงคโปร์ หากประเทศไทยอ่อนข้อยอมตามการกดดันของสหรัฐฯ อาจทำให้ประเทศไทยสูญเสียโอกาสในการพัฒนากระบวนการผลิตยาที่กฎหมายสิทธิบัตรใหม่ขยายจากเดิมที่คุ้มครองเฉพาะกรรมวิธีการผลิตเป็นคุ้มครองตัวยาด้วย ทำให้บริษัทยาในประเทศไทย ซึ่งเป็นอุตสาหกรรมยาในขั้นปลาย คือผลิตยาที่วิจัยมาแล้ว ไม่สามารถคิดค้นผลิตยาชื่อสามัญ โดยใช้กรรมวิธีใหม่ได้ ส่งผลให้ผู้ป่วยที่ต้องใช้ยาที่มีสิทธิบัตรและมีราคาแพงต้องขาดการรักษาอย่างต่อเนื่อง และที่เห็นได้ชัดคือไม่ได้รับสิทธิการรักษาในระบบหลักประกันสุขภาพ หรือถ้าประชาชนจำเป็นต้องใช้ก็ต้องจ่ายเงินเอง
ส่งผลให้ความมั่นคงด้านสุขภาพของประชาชนสั่นคลอน ประชาชนที่เจ็บป่วยได้รับการดูแลรักษาไม่สมศักดิ์ศรีและเสียชีวิต ทำให้ประเทศต้องสูญเสียทรัพยากรบุคคลจำนวนมหาศาลด้วยโรคที่เข้าไม่ถึงยาที่จำเป็นในราคาที่เหมาะสม
การปกป้องราคายาจึงเป็นภารกิจที่รัฐต้องตระหนักว่าเป็นสิทธิขั้นพื้นฐานของประชาชน ไม่สามารถนำไปแลกบนโต๊ะเจรจาทางการค้าที่เสียเปรียบ หรือยอมแลกกับธุรกิจการค้าสินค้าของนายทุนอื่น ๆ ได้
ดังนั้น รัฐบาลไทยต้องไม่ยอมรับในข้อเสนอจากสหรัฐฯ ที่เกี่ยวข้องกับ ‘ทริปส์พลัส’ ทั้งหมด รวมทั้งเรียกร้องให้รัฐสภาเปิดโอกาสให้ภาคประชาชนได้ชี้แจงผลกระทบที่เกิดขึ้น เพื่อให้เกิดความโปร่งใสในการดำเนินการเจรจาของรัฐบาล