คุณเคยมีเซ็กส์แบบไม่ได้ป้องกันหรือเปล่า? แล้วคุณเคยนึกถึงเรื่องเอชไอวี/เอดส์ไหม?
หากคุณเคยมีเซ็กส์กับแฟน กับเพื่อน กับกิ๊ก หรือไม่ว่าใครก็ตาม โดยไม่ใช้ถุงยางอนามัย เราอยากให้คุณนึกถึงเรื่องเอชไอวี/เอดส์ เพราะตอนนี้คนไทยกว่า 500,000 คน มีเชื้อเอชไอวี และ 250,000 คน ไม่รู้ว่าตัวเองมีเชื้อฯ และเราก็ไม่สามารถสังเกตอาการได้ว่ารับเชื้อเอชไอวีมาแล้วหรือไม่
วิธีการเดียวที่จะรู้ได้ว่ามีเชื้อเอชไอวีหรือเปล่า คือ การตรวจเลือดหาเชื้อฯ ซึ่งคนไทยสามารถตรวจเลือดได้ฟรี ปีละ 2 ครั้ง ตามสถานพยาบาลของรัฐทุกแห่ง หรือหากต้องการปรึกษาปัญหาก็สามารถโทรสายด่วนปรึกษาเอดส์ 1663 ได้ทุกวัน
วันที่ 1 กรกฎาคม กระทรวงสาธารณสุข (สธ.) ประกาศให้เป็นวันรณรงค์ตรวจเลือดเอชไอวีแห่งชาติ ตั้งแต่ปี พ.ศ.2556 ที่ผ่านมา เพื่อรณรงค์ให้คนเห็นความสำคัญของการรู้ผลการติดเชื้อเอชไอวีของตัวเอง ซึ่งการรู้ผลเลือดเร็วจะเกิดผลดีต่อการดูแลสุขภาพในระยะยาว
อย่างที่ ณรงค์ สหเมธาพัฒน์ ปลัด สธ. บอกว่า วันที่ 1 กรกฎาคม เป็นต้นไป จะเป็นการรณรงค์ให้คนมาเข้ารับการตรวจเลือดทั้งเดือน เพราะการตรวจเลือดเป็นประโยชน์ จะทำให้คนเข้าถึงบริการ โดยสถานพยาบาลที่มีการตรวจเลือด จะมีการให้คำปรึกษาและเป็นบริการที่รักษาความลับอยู่แล้ว
เช่นเดียวกับที่ สมศักดิ์ อรรฆศิลป์ รองอธิบดีกรมควบคุมโรค สธ. กล่าวถึงประโยชน์ของการตรวจหาเชื้อเอชไอวีว่า เป็นประโยชน์เพื่อให้ตัวเองรู้ เพราะหากติดเชื้อฯ สามารถรักษาได้ทันที ไม่ต้องรอให้ป่วย หรือถ้ารู้ว่าตัวเองยังไม่ติดเชื้อฯ ก็จะได้ป้องกันไม่ให้ติดเชื้อฯ ต่อไป
“ยิ่งรู้เร็ว รักษาเร็ว ยิ่งดี” สมศักดิ์ บอก
ไม่เพียงแต่จะเป็นบริการฟรีในโรงพยาบาลเท่านั้น แต่พื้นที่ต่างๆ ก็จะมีกิจกรรมให้บริการตรวจเลือดหาเชื้อเอชไอวี โดยเข้าไปให้บริการถึงในชุมชน อย่างพื้นที่ อ.ลี้ จ.ลำพูน ที่ พงศ์เพ็ญ วรรณเวศ อาสาสมัครกลุ่มศูนย์องค์รวม กลุ่มลี้ โรงพยาบาลลี้ และประธานเครือข่ายผู้ติดเชื้อเอชไอวี/เอดส์ จ.ลำพูน ให้สัมภาษณ์ว่า ในวันที่ 1 กรกฎาคม ซึ่งเป็นวันรณรงค์ตรวจเลือดเอชไอวีแห่งชาติ ทางกลุ่มและโรงพยาบาลจะร่วมกันจัดกิจกรรมให้บริการตรวจเลือดเอชไอวีในชุมชน หรือที่เรียกว่า โมบาย วีซีซีที (Mobile VCCT)
พงศ์เพ็ญ เล่าภาพกิจกรรมที่เธอเคยทำโมบาย วีซีซีที เมื่อเดือนเมษายน ที่ผ่านมาว่า ภายในซุ้มจะมีกิจกรรมสอยดาว ตอบคำถามเรื่องเอชไอวี/เอดส์ บริการให้คำปรึกษาและตรวจเลือดหาเชื้อเอชไอวี รวมทั้งเดินรณรงค์ เพื่อประชาสัมพันธ์ให้คนมาตรวจเลือด
“ก่อนวันงาน เราก็เขียนสคริปต์ให้ทางวิทยุชุมชนประกาศว่าจะมีกิจกรรมที่ไหน อย่างไร” อาสาสมัครกลุ่มลี้ กล่าวและว่า กิจกรรมนี้เป็นการวางแผนร่วมกันกับทีมของโรงพยาบาล ว่าจะออกแบบกิจกรรมแบบไหน แล้วก็แบ่งบทบาทกัน ซึ่งการทำกิจกรรมนี้ยังทำให้เกิดกระบวนการทำงานระหว่างทีมโรงพยาบาล ทีมอาสาสมัคร กับงานป้องกันในพื้นที่ ที่ได้วางแผนทำกิจกรรมร่วมกัน และเชื่อมงานกันในระดับอำเภอ
พงศ์เพ็ญ เล่าว่า กิจกรรมโมบาย วีซีซีที ที่ลงไปทำในชุมชนนั้นจะทำให้คนในชุมชนได้ลองประเมินความเสี่ยงต่อการติดเชื้อฯ ของตัวเองก่อน ถ้าเขาประเมินได้ จะได้เข้าสู่บริการดูแลรักษา และรู้สถานะการติดเชื้อฯ ของตัวเอง โดยไม่ต้องไปถึงโรงพยาบาล แต่สามารถเจาะเลือดที่นั่นได้เลย
“สถานการณ์เดี่ยวนี้คนเข้าสู่ระบบด้วยอาการป่วยแล้ว ถ้าเรารู้ตัวโดยที่ยังไม่ป่วย หรือรู้สถานะการติดเชื้อฯ ของตัวเอง จะได้เตรียมการป้องกันตัวเองได้ อย่างถ้ามีผลเลือดเป็นบวกจะดูแลตัวเองอย่างไร และถ้าผลเลือดเป็นลบจะลบตลอดไปได้อย่างไร” ประธานเครือข่ายผู้ติดเชื้อฯ บอก
“คนที่เข้ามาตรวจเลือดก็มีผู้นำชุมชน น้องๆ เยาวชนก็มี” พงศ์เพ็ญ บอก
ไม่เพียงแค่ในอำเภอลี้ จ.ลำพูนเท่านั้นที่จัดกิจกรรมโมบาย วีซีซีที นี้ แต่มีการจัดกิจกรรมในพื้นที่ต่างๆ ทั่วประเทศ ทั้งตลาดนัดในชุมชน โรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบล (รพ.สต.) หรือสวนสาธารณะ ดูข้อมูลเพิ่มเติมได้ในล้อมกรอบ
หากคุณประเมินแล้วว่า ตัวเองมีความเสี่ยงในการติดเชื้อเอชไอวี อย่าลังเลที่จะเข้าไปตรวจเลือด เพราะการรู้ผลเลือดเร็ว จะช่วยให้เราวางแผนดูแลสุขภาพในระยะยาวได้
มา “ตรวจเพื่อก้าวต่อ” กันเถอะ!