เมื่อวันที่ ๑๙ กันยายน ที่ผ่านมา ประชาชนจำนวนกว่า ๒,๐๐๐ คน เดินมุ่งหน้าจากประตูท่าแพ จ.เชียงใหม่ ไปยังโรงแรมเลอเมอริเดียน เพื่อยื่นหนังสือให้กับคณะเจรจาข้อตกลงการค้าเสรี (เอฟทีเอ) ของประเทศไทย โดยมีนายอัครเรศน์ สายกระจ่าง ที่ปรึกษาหัวหน้าคณะเจรจาฝ่ายไทยรับมอบหนังสือ
นายอุบล อยู่หว้า ตัวแทนจากกลุ่มศึกษาข้อตกลงเขตการค้าเสรีภาคประชาชน (FTA Watch) กล่าวว่า ภาคประชาสังคมขอมอบตระกร้าพันธุกรรมท้องถิ่น ซึ่งถือเป็นความหลากหลายทางพันธุกรรม ทรัพยากร และมรดกของประเทศ เพื่อให้คณะเจรจาฝ่ายไทยตระหนัก และรู้จักปกป้องทรัพยากรของประเทศ
นายอัครเรศน์ กล่าวภายหลังรับมอบหนังสือจากภาคประชาชนแทน นายโอฬาร ไชยประวัติ หัวหน้าคณะเจรจาฯ ฝ่ายไทย ว่า ในนามของผู้แทนหัวหน้าคณะเจรจาฯ ของไทยจะทำทุกอย่างเพื่อประโยชน์ของชาติ ประเทศ และประชาชนชาวไทยเป็นสำคัญ และยืนยันว่าคณะเจรจาฯ ทุกคนทำในฐานะของประชาชนที่รักแผ่นดินไทย โดยที่นายโอฬาร และรองหัวหน้าคณะฯ คำนึงตลอดเวลาว่าต้องพิทักษ์รักษาผลประโยชน์ของชาติเป็นสำคัญ
นางสาวกรรณิการ์ กิจติเวชกุล ผู้ประสานงานกลุ่ม FTA Watch กล่าวว่า ภาคประชาชนจะยื่นจดหมายให้กับคณะกรรมการรางวัลโนเบลเพื่อเพิกถอนรางวัลจากสหภาพยุโรป (อียู) เพื่อให้อียูหยุดคุกคามสิทธิเสรีภาพผ่านการตกลงการค้าเสรี
“ถ้าอียูมีพฤติกรรมดีขึ้น เราก็จะไม่ทำ แต่ถ้ามีสัญญาณชัดเจนเมื่อไหร่ เราจะรณรงค์ทั่วโลกเพื่อให้คณะกรรมการเพิกถอนรางวัล ทั้งในไทยและต่างประเทศ อย่างมาเลเซีย หรือละตินอเมริกา” ผู้ประสานงานกลุ่มฯ กล่าว
ด้านนายอันโตนิโอ เบอร์เรงเกอร์ ผู้แทนอียู ประจำประเทศไทย กล่าวว่า นี่เป็นโอกาสดีที่จะได้พูดคุยกับภาคประชาชน โดยคณะเจรจาทั้ง ๒ ฝ่ายจะทำเพื่อประโยชน์ของคนในประเทศ และขอขอบคุณภาคประชาสังคมที่ชุมนุมกันอย่างสงบ
ทั้งนี้ เนื้อหาของจดหมายที่ภาคประชาสังคมมอบให้คณะเจรจาฯ ฝ่ายไทยนั้น แสดงถึงจุดยืน ๓ ข้อคือ ๑.ไม่ให้นำสินค้าแอลกอฮอล์มาค้าเสรี ๒.ห้ามคุ้มครองการลงทุน หากการลงทุนนั้นมีผลต่อนโยบายสาธารณะในเรื่องสิ่งแวดล้อม สุขภาพ เศรษฐกิจ การคลังของประเทศ และ ๓.ละเว้นการเจรจาในเรื่องที่มีผลกระทบกับประชาชนในด้านสุขภาพ สาธารณูปโภค และสวัสดิการทางสังคม
นอกจากนี้ ในตระกร้าความหลากหลายทางพันธุกรรม ที่ภาคประชาชนมอบให้คณะเจรจาฝ่ายไทยนั้นนอกจากมีผักผลไม้พื้นบ้านแล้ว ยังมียาชื่อสามัญบรรจุอยู่ในตระกร้าด้วย
เมื่อปี พ.ศ. ๒๕๕๕ อียูเคยได้รับรางวัลโนเบลสาขาสันติภาพ จากการสนับสนุนสันติภาพ และสร้างความสมานฉันท์ ส่งเสริมประชาธิปไตย และสิทธิมนุษยชนในยุโรป อย่างไรก็ตาม เครือข่ายภาคประชาสังคมกว่า ๒,๐๐๐ คนมาจาก ๒๘ องค์กร ประกอบด้วยตัวแทนจากเครือข่ายผู้ติดเชื้อเอชไอวี/เอดส์ ประเทศไทย เครือข่ายองค์กรงดเหล้า เครือข่ายเกษตรกรรมทางเลือก เป็นต้น โดยเครือข่ายภาคประชาชนรวมตัวกันที่ประตูท่าแพ เพื่อจัดกิจกรรมรณรงค์สร้างความเข้าใจในเรื่องเอฟทีเอ ตั้งแต่วันที่ ๑๘ กันยายน ที่ผ่านมา และเมื่อผู้ชุมนุมมอบหนังสือให้กับคณะเจรจาฯ ฝ่ายไทยเสร็จนั้น ก็ได้แยกย้ายกันกลับ โดยมีคำมั่นสัญญาร่วมกันว่าจะติดตามการเจรจาเอฟทีเออย่างใกล้ชิด