วันที่ ๑๘ – ๑๙ กันยายน นี้ กลุ่มศึกษาข้อตกลงเขตการค้าเสรีภาคประชาชน (FTAWatch) และเครือข่ายภาคประชาสังคม จะจัดกิจกรรมรณรงค์และติดตามการเจรจาเอฟทีเอ รอบที่ ๒ ที่ประตูท่าแพ จ.เชียงใหม่ โดยที่ การเจรจาเอฟทีเอระหว่างไทยกับสหภาพยุโรป รอบที่ ๒ นั้นจะมีขึ้นระหว่างวันที่ ๑๖ – ๒๐ กันยายน นี้ ณ โรงแรมเมอริเดียน จ.เชียงใหม่
นายวิฑูรย์ เลี่ยนจำรูญ ผู้อำนวยการมูลนิธิชีววิถี ระบุว่า ข้อเรียกร้องของสหภาพยุโรป ใน ๓ เรื่องหลักคือ ต้องเป็นภาคี UPOV 1991, ภาคีสนธิสัญญาบูดาเปส และ ยอมรับสิทธิบัตรสิ่งมีชีวิตนั้น จะส่งผลกระทบต่อเกษตรกรและทรัพยากรชีวภาพของประเทศอย่างรุนแรงและกว้างขวาง
“ความหลากหลายทางชีวภาพของไทยเป็นเรื่องสำคัญเพราะคิดเป็น ๑๐ เปอร์เซ็นต์ของความหลากหลายทางชีวภาพของโลก โดยเฉพาะประเด็นเรื่องให้ไปเป็นภาคี UPOV 1991 จะมีผลให้เกษตรกรต้องจ่ายพันธุ์พืชในราคาที่แพงขึ้น จากงานวิจัยพบว่า ราคาพันธ์พืชจะขึ้นอย่างต่ำ ๒ – ๓ เท่าจนถึง ๖ เท่าตัว ตอนนี้มูลค่า ๒๘,๐๐๐ ล้านบาทจะเพิ่มเป็นอย่างต่ำ ๘๐,๐๐๐ ล้าน และอาจถึง ๑๔๐,๐๐๐ ล้านบาทต่อปี ไม่คุ้มค่ากับการได้ต่อสิทธิ GSP ที่ทางการไทยประเมินว่าจะสูญเสียแค่ ๓๔,๐๐๐ ล้านบาทต่อปีเท่านั้น นี่ยังไม่รวมเรื่องจุลินทรีย์ และความหลากหลายทางชีวภาพ ที่ประเมินค่าไม่ได้”
ผู้อำนวยการมูลนิธิชีววิถี กล่าวว่า เกษตรกรจะได้รับผลกระทบอย่างกว้างขวาง ทั้งเกษตรกรผู้ใช้เมล็ดพันธุ์ที่จะต้องจ่ายแพงขึ้น การเก็บรักษาพันธุ์เพื่อปลูกต่อหรือแลกเปลี่ยนจะมีความผิดถึงขั้นจำคุกและต้องจ่ายค่าเสียหายแก่บริษัท และวิสาหกิจชุมชนที่ปรับปรุงพันธุ์พืชจากพันธุ์พืชใหม่ ก็ไม่สามารถทำได้ อย่างวิสาหกิจชุมชน ที่ อ.พร้าว จ.เชียงใหม่ ที่เกษตรกรพัฒนาพันธุ์พืช อาจต้องเลิกการประกอบกิจกรรมของวิสาหกิจท้องถิ่นนี้ไปในที่สุด ขณะที่นักปรับปรุงพันธุ์ โดยเฉพาะพวกบริษัทเมล็ดพันธุ์ จะไม่ถูกบังคับให้แบ่งปันผลประโยชน์แก่รัฐหรือชุมชนเจ้าของพันธุ์ดังที่เคยเป็นตามกฎหมายคุ้มครองพันธุ์พืชฉบับปัจจุบัน
“ถ้าประมวลโดยรวมแล้ว ผลกระทบจากการถูกตัดสิทธิ GSP มีน้อยมาก ส่วนใหญ่เป็นอุตสาหกรรมข้ามชาติ เช่น ชิ้นส่วนยานยนต์ และบริษัทยักษ์ใหญ่ส่งออกอาหารไก่-กุ้ง แต่การเอาผลกระทบของเกษตรกรอย่างต่ำนับแสนล้านบาทเพื่อแลกผลประโยชน์เหล่านี้เป็นเรื่องไม่คุ้มค่า และเรื่องการผูกขาดเมล็ดพันธุ์นั้น ประโยชน์โดยตรงกับอุตสาหกรรมเกษตรยักษ์ใหญ่ของไทยที่กุมตลาดเมล็ดพันธุ์โดยตรงและโดยอ้อม โดยทำลายรากฐานการผลิตของเมล็ดพันธุ์ ของเกษตรกร และทำลายรากฐานของประเทศ ดังนั้น การเคลื่อนไหวติดตามการเจรจาของประชาชนครั้งนี้ เพื่อให้รัฐบาลตัดสินใจจากจุดยืนของเกษตรกร และประชาชนทั้งหมด ไม่ใช่เพื่อประโยชน์กลุ่มอุตสาหกรรมบางกลุ่ม” นายวิฑูรย์ กล่าว
ด้านนางสาวสุภัทรา นาคะผิว ประธานคณะกรรมการองค์การพัฒนาเอกชนด้านเอดส์ และผู้อำนวยการมูลนิธิศูนย์คุ้มครองสิทธิด้านเอดส์ กล่าวว่า จากเอกสารของ อย. พบว่า ผลการศึกษาวิจัยจากสำนักวิจัยชั้นนำของประเทศมีข้อสรุปในทำนองเดียวกันว่า การเจรจาความตกลงการค้าเสรีในส่วนทรัพย์สินทางปัญญาที่เกินกว่าความตกลงทริปส์ จะก่อให้เกิดการผูกขาดตลาดอย่างยาวนาน และทำให้ราคายาแพงขึ้นอย่างมากมาย ประเทศชาติต้องแบกรับค่าใช้จ่ายด้านยาเพิ่มขึ้นมหาศาล, ประชาชนไม่สามารถเข้าถึงยาได้, ส่งผลกระทบด้านลบต่อการพัฒนาอุตสาหกรรมยาสามัญภายในประเทศ ที่สำคัญคือ ประโยชน์ส่วนใหญ่จะตกอยู่กับบรรษัทยาข้ามชาติเท่านั้น
“ถ้ายอมทริปส์พลัสด้านยา อาทิ ยอมขยายการคุ้มครองสิทธิบัตรยาเพิ่มขึ้นอีก ๕ ปี มีผลทำให้ค่าใช้จ่ายด้านยาเพิ่มขึ้นอีกเป็น ๒๗,๘๘๓ ล้านบาท/ปี ยอมปล่อยให้มีการผูกขาดข้อมูลการขึ้นทะเบียนตำรับยา จะมีผลทำให้ค่าใช้จ่ายด้านยาของไทย เพิ่มขึ้น ๘๑,๓๕๖ ล้านบาทต่อปี
แต่ขณะนี้มีความพยายามกดดันจากภาคธุรกิจให้ฝ่ายไทยยอมรับทริปส์พลัส และกับการถ่ายทอดเทคโนโลยี ซึ่งไม่เป็นจริง ดังนั้น ผู้เจรจาต้องมีความฉลาดและเท่าทัน การถ่ายทอดเทคโนโลยีที่ยอมรับได้มีเพียงประการเดียวเท่านั้น คือ ยาที่ติดสิทธิบัตรต้องมาตั้งโรงงานและผลิตในประเทศไทย”
นายนิมิตร์ เทียนอุดม ผู้อำนวยการมูลนิธิเข้าถึงเอดส์ กล่าวว่า ข้อเรียกร้องที่เอารัดเอาเปรียบของสหภาพยุโรป โดยเฉพาะในประเด็นเรื่องทรัพยากรชีวภาพนั้น เป็นประเด็นที่ไปคุยกับคนทุกสีเสื้อที่มีความเห็นต่างกันทางการเมือง มีความรู้สึกร่วมว่า เป็นเรื่องที่อยู่เฉยไม่ได้ เป็นประเด็นสำคัญที่ต้องระมัดระวัง
“การเจรจาเอฟทีเอรอบนี้มีความหมายมาก เพราะจะเป็นประเด็นรวมของคนที่เห็นต่างทางการเมือง แต่เห็นประโยชน์ของคนทุกคนในสังคมเช่นเดียวกัน มาร่วมงานทำกิจกรรมกัน เป็นกิจกรรมเปิดหูเปิดตาประชาชน ถ้าอียูเอาเปรียบรัฐบาลไทย เอาเปรียบคนไทยแบบนี้จะเกิดอะไรขึ้น แล้วเราจะส่งเสียงในฐานะของคนในสังคมให้หัวหน้าคณะเจรจาของสหภาพยุโรปรับรู้ว่า ข้อเรียกร้องที่ไม่เป็นธรรม เหมือนการล่าอาณานิคมทางเศรษฐกิจยุคใหม่ เช่นนี้ คนไทยไม่ยอมรับ อีกนัยยะหนึ่งส่งเสียงบอกรัฐบาลไทย จุดยืนของประเทศครั้งนี้สำคัญมาก เพราะรัฐบาลบอกเสมอว่า จะเจรจาไม่ให้มีปัญหากระทบการเข้าถึงยา ไม่กระทบเกษตร ทรัพยากรของประเทศ จะทำให้นโยบายที่สร้างมาเพื่อประชาชนเป็นจริง ไม่ถูกการค้าที่อ้างว่าเสรีแต่ไม่เป็นธรรมแทรกแซง เราจะเฝ้ามองว่า รัฐบาลจะมั่นคงแค่ไหน คนไทยจำนวนหนึ่งตื่นแล้ว เราจะชวนให้คนอื่นมากขึ้น หนุนจุดยืนที่รัฐบาลยืนยันให้ทำเพื่อประโยชน์คนไทยจริงๆ นอกจากนี้ อยากฝากบอกนักธุรกิจส่งออกของไทยบางส่วน ที่ผ่านมาคุณทำการค้าง่ายๆ ได้สิทธิพิเศษในช่วงที่ประเทศยังไม่พัฒนา เมื่อประเทศพัฒนามากขึ้น รายได้ดีขึ้น สิทธิพิเศษเหล่านี้ก็ต้องหมดไป นักธุรกิจส่งออกของไทยเหล่านี้ ต้องรู้จักปรับตัวเสียบ้าง ต้องหยุดการเอาเงื่อนไขบางอย่างที่ส่งผลกระทบระยะยาวและกว้างของคนทั้งสังคมไปแลก นักธุรกิจไทยควรมีสำนึกมากๆ” ผู้อำนวยการมูลนิธิเข้าถึงเอดส์ ในฐานะสมาชิกเอฟทีเอ ว็อทช์กล่าว
ทั้งนี้ กิจกรรมการรณรงค์ติดตามการเจรจาเอฟทีเอ ไทย-สหภาพยุโรปครั้งนี้จะมีขึ้นที่ลานท่าแพ อ.เมือง จ.เชียงใหม่ ระหว่างวันที่ ๑๘ – ๑๙ กันยายน นี้ มีกิจกรรมการเรียนรู้เรื่องอิสรภาพทางพันธุกรรมผ่านการรวบรวมเมล็ดพันธุ์พื้นบ้านจากทั่วประเทศ กิจกรรมศิลปะรณรงค์เพื่ออธิปไตยทางพันธุกรรม กิจกรรมเรียนรู้แบบมีส่วนร่วม เรื่องผลกระทบเอฟทีเอกับสหภาพยุโรป ในประเด็นต่างๆ และมหกรรมตลาดเกษตรอินทรีย์