เมื่อวันที่ 2 พฤศจิกายน ที่ผ่านมา ณ อนุสาวรีย์ประชาธิปไตย กลุ่มศึกษาข้อตกลงเขตการค้าเสรีภาคประชาชน(เอฟทีเอ ว็อทช์) และ ตัวแทนภาคประชาชนจำนวน 50 คน ประกอบด้วยตัวแทนจากเครือข่ายผู้ติดเชื้อเอชไอวี/เอดส์ ประเทศไทย เครือข่ายผู้ป่วยโรคเรื้อรัง เครือข่ายเกษตรกรรมทางเลือก เครือข่ายผู้บริโภค เครือข่ายองค์กรงดเหล้า กลุ่มคนรักหลักประกันสุขภาพ ได้ร่วมกันจัดทำศิลปะจัดวางไว้อาลัยแด่พื้นที่ประชาธิปไตย…. มาตรา 190 ด้วยการจัดวางพานรัฐธรรมนูญสีดำ จำนวน 190 พาน ด้านหน้าพานรัฐธรรมนูญ จากนั้น น.ส.กรรณิการ์ กิจติเวชกุล ผู้ประสานงานเอฟทีเอ ว็อทช์ได้เป็นตัวแทนอ่าน “คำประกาศไว้อาลัยแด่พื้นที่ประชาธิปไตย มาตรา 190”
“ตามที่การประชุมของรัฐสภาได้ลงมติเมื่อวันที่ 16 ตุลาคม 2556 โดยเสียงข้างมากแก้ไขเนื้อหาบทบัญญัติของรัฐธรรมนูญ มาตรา 190 ไปสู่ทิศทางที่ทำลายเจตนารมณ์ของมาตรานี้ พวกเราในฐานะพลเมืองของประเทศ ขอประกาศคำไว้อาลัยแด่มาตรา 190 เพื่อเป็นส่วนหนึ่งของการบันทึกประวัติศาสตร์การเมืองไว้ ณ ที่นี้
ขอไว้อาลัยแด่ หนังสือสัญญาที่มีผลกระทบต่อความมั่นคงทางเศรษฐกิจหรือสังคมของประเทศอย่างกว้างขวาง หรือมีผลผูกพันด้านการค้า การลงทุน หรืองบประมาณของประเทศอย่างมีนัยสำคัญ แต่เดิมหนังสือสัญญาเหล่านี้ต้องนำเสนอเข้าสู่การพิจารณาของรัฐสภา แต่บัดนี้ถูก…ตัดทิ้งไป
ขอไว้อาลัยแด่ กระบวนการเสนอ “กรอบเจรจา” ต่อรัฐสภาเพื่อขอความเห็นชอบก่อนการดำเนินการเพื่อทำหนังสือสัญญา ซึ่งเป็นการเพิ่มอำนาจต่อรองให้แก่รัฐไทย และทำให้คณะเจรจาต้องดำเนินการเจรจาอย่างมีคุณภาพและรอบคอบ ซึ่งเป็นสิ่งที่อารยประเทศต่างๆ ถือปฏิบัติ แต่บัดนี้ถูก…ตัดทิ้งไป
ขอไว้อาลัยแด่ กระบวนการรับฟังความคิดเห็นของประชาชน กระบวนการมีส่วนร่วมของประชาชน ซึ่งเป็นเนื้อหาสำคัญของระบอบประชาธิปไตย และเป็นกลไกที่ช่วยการเจรจามีความรอบคอบ ช่วยให้ผลการเจรจามีความเป็นธรรมและเกิดประโยชน์โดยรวมต่อประเทศสูงสุด แต่บัดนี้ถูก…ตัดทิ้งไป
ขอไว้อาลัยแด่กระบวนการตรวจสอบถ่วงดุล การมีส่วนร่วม ระหว่างฝ่ายบริหาร ฝ่ายนิติบัญญัติ และภาคประชาชน ซึ่งเป็นหลักการสำคัญในระบอบการเมืองประชาธิปไตยแบบมีส่วนร่วม และช่วยสร้างธรรมาภิบาลในกระบวนการเจรจาจัดทำหนังสือสัญญา แต่บัดนี้ถูก…ตัดทิ้งไป
ขอไว้อาลัยแด่กระบวนการศึกษาวิจัยผลกระทบที่เป็นอิสระ เพื่อช่วยทำให้การเจรจามีความรอบคอบและรอบด้าน และมีความรู้ ข้อมูลเท่าทันกับคู่เจรจา แต่บัดนี้ถูก…ตัดทิ้งไป
ท้ายที่สุดนี้ ขอไว้อาลัยแด่ความล้มเหลวของระบบรัฐสภาไทยที่มุ่งเป้าหมายเพียงการเอาชนะทางการเมือง โดยอ้างเสียงข้างมากในรัฐสภาเป็นเครื่องมือสร้างความชอบธรรม ไม่ได้ยึดถือข้อมูล เหตุผล หรือเห็นหัวประชาชน ไม่ได้สำเหนียกถึงสถานการณ์ปัญหา ความเดือดร้อนที่จะเกิดขึ้นจากการเร่งทำหนังสือสัญญาระหว่างประเทศอย่างขาดสติ
การแก้ไขมาตรา 190 เพื่อละเว้นการปฏิบัติตามกฎกติกาเพื่อการสร้างธรรมาภิบาลในกระบวนการเจรจาจัดทำหนังสือสัญญาในครั้งนี้ เป็นผลประโยชน์ร่วมกันระหว่างฝ่ายการเมืองที่หวังเพียงการกุมอำนาจให้ยาวนานสุด กลุ่มทุนครอบชาติที่หวังเพียงกอบโกย และฝ่ายข้าราชการประจำบางส่วนที่เห็นประชาชนเป็นเพียงเบี้ยไพร่ที่ไม่สมควรมีที่ยืนในกระบวนการทางนโยบายใดๆ
เครือข่ายประชาชนไม่เคยคัดค้านการแก้ไขปรับปรุงรัฐธรรมนูญแต่ขอต่อต้านและประนามการกระทำใดๆ อันเป็นการลดทอนความโปร่งใสและเบียดขับประชาชน หลักการตรวจสอบถ่วงดุลเป็นสิ่งที่พึงรักษาไว้ในระบอบประชาธิปไตย เมื่อใดก็ตามที่ประชาชนเป็นเพียงผู้หย่อนบัตรหรือปกปักษ์กลุ่มการเมืองที่สังกัดจนมืดบอดต่อการตรวจสอบถ่วงดุล เมื่อนั้นระบอบทรราชย์ก็จะปรากฏตัวขึ้น ขอไว้อาลัยแด่มาตรา 190 และระบบรัฐสภาไทย”
ในช่วงท้ายของการไว้อาลัย เอฟทีเอ ว็อทช์ และตัวแทนประชาชน ได้ร่วมกันกล่าวคำมั่นว่า แม้จากนี้ไปการสร้างธรรมาภิบาลในกระบวนการเจรจาจัดทำหนังสือสัญญาและกระบวนการมีส่วนร่วมของประชาชน จะถูกตัดทิ้งไป แต่ประชาชนจะไม่หยุดติดตามตรวจสอบ แต่จะยิ่งตรวจสอบเข้มข้นยิ่งขึ้น