ย้อนไปเมื่อวันที่ 6 มิถุนายน 2565 บอร์ด สปสช. มีมติเห็นชอบให้ “องค์กรภาคประชาสังคมที่จัดบริการด้านเอชไอวีและโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ในชุมชน” สามารถขอรับการขึ้นทะเบียนเป็นสถานบริการสาธารณสุขอื่น ตามมาตรา 3 ของ พ.ร.บ.หลักประกันสุขภาพแห่งชาติฯ ได้

“กลุ่มศูนย์องค์รวม” ที่เป็นการรวมกลุ่มผู้ติดเชื้อฯ เพื่อดูแลคุณภาพชีวิตของผู้ติดเชื้อเอชไอวี/ผู้ป่วยเอดส์ ครอบคลุมทั้งด้านกาย ใจ และสังคมร่วมกับโรงพยาบาลมาตั้งแต่ปี 2546 เห็นว่าการขึ้นทะเบียนกลุ่มศูนย์องค์รวมให้เป็นหน่วยบริการรับส่งต่อเฉพาะด้านเอชไอวีในครั้งนี้จะยกระดับการทำงานของศูนย์องค์รวม ให้สามารถวางแผนการดูแลคุณภาพชีวิตของผู้ติดเชื้อฯ ที่เหมาะสมได้อย่างต่อเนื่อง

กิจกรรมหลักๆ ที่แกนนำกลุ่มศูนย์องค์รวมให้บริการ เช่น การให้คำปรึกษาทั้งแบบกลุ่มและแบบส่วนตัว การเยี่ยมบ้าน การพบกลุ่มประจำเดือน การวางแผนนัดประชุมกับทีมพี่เลี้ยง เพื่อประเมินปัญหาของผู้รับบริการที่จะนำไปออกแบบการให้บริการได้สอดคล้องกับปัญหาของแต่ละเคส การติดตามผู้ติดเชื้อฯ ที่หายไปจากระบบให้กลับเข้ามารักษาใหม่ การหนุนเสริมภายในจิตใจของผู้ติดเชื้อฯ เพื่อไม่ให้เกิดการตีตราและลดคุณค่าภายในตัวเอง รวมถึงการทำงานป้องกันเชิงรุกร่วมกับท้องถิ่น เป็นต้น

แม้ศูนย์องค์รวมจะเป็นการจัดบริการโดยภาคประชาชน แต่ทุกขั้นตอนของการเตรียมความพร้อมเพื่อขอขึ้นทะเบียนมีเกณฑ์ชัดเจน ซึ่งช่วยให้ผู้รับบริการเกิดความเชื่อมั่นในคุณภาพและมาตรฐานการให้บริการที่จะได้รับ

ขั้นตอนแรก คือ การขอหนังสือรับรองกลุ่มศูนย์องค์รวมจากหน่วยงานของรัฐก่อน เช่น การขึ้นทะเบียนเป็นองค์กรสาธารณะประโยชน์ของสำนักงานพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์จังหวัด (พมจ.) หรือเป็นสมาชิกสภาองค์กรของผู้บริโภคของสำนักปลัดนายกรัฐมนตรี หมายความว่ากลุ่มต้องมีผลงานเชิงประจักษ์และต้องมีความเป็นกลุ่มที่ชัดเจนจึงจะถูกหน่วยงานรัฐรับรอง

ขั้นตอนที่ 2 แกนนำกลุ่มศูนย์องค์รวมต้องผ่านการอบรม 90 ชั่วโมงจากหลักสูตร “การให้บริการด้านเอชไอวี/เอดส์ แบบองค์รวมโดยการมีส่วนร่วมของภาคประชาชน” ที่ได้รับการรับรองจากวิทยาลัยราชสุดา มหาวิทยาลัยมหิดล โดยแบ่งเป็นภาคทฤษฎีที่เติมข้อมูลและทำข้อสอบอย่างเข้มข้น 45 ชั่วโมง ส่วนอีก 45 ชั่วโมง ต้องไปฝึกงานในคลินิกยาต้านฯ ของโรงพยาบาลประจำกลุ่ม โดยมีเจ้าหน้าที่จากคลินิกยาต้านไวรัสฯ มาเป็นทีมประเมินและให้คะแนน หากผ่านเกณฑ์ทั้งหมดจะได้ใบประกาศนียบัตรรับรอง

ขั้นตอนที่ 3 ให้โรงพยาบาลประเมินคุณภาพและมาตรฐานการให้บริการของกลุ่ม ซึ่งกระบวนการนี้เป็นเรื่องภายในที่โรงพยาบาลต้องแต่งตั้งทีมประเมินผลเอง และเมื่อคะแนนผ่านเกณฑ์ ทาง ผอ.รพ.จะออกหนังสือรับรอง เพื่อให้กลุ่มใช้เป็นเอกสารยื่นขอขึ้นทะเบียนตามมาตรา 3 กับ สปสช.

ตอนนี้มีศูนย์องค์รวมที่ผ่านการขึ้นทะเบียนรับรองจาก สปสช. ทั้งหมด 16 กลุ่ม แบ่งเป็นภาคเหนือ 9 กลุ่ม ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ 5 กลุ่ม และภาคตะวันออกอีก 2 กลุ่ม ดังนี้

อยากรู้จักงาน “ศูนย์องค์รวม” เพิ่มเติม อ่านได้ที่นี่ https://thaiplus.net/contents/2357