จากไลฟ์บรรยายของ ศ.นพ.ประพันธ์ ภานุภาค ที่ปรึกษาอาวุโสด้านการวิจัยและนโยบายสถาบันเพื่อการวิจัยและนวัตกรรมด้านเอชไอวี (IHRI) ผ่านทางเพจ “สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ” ในประเด็น “เส้นทางและวิธีการไปสู่เป้าหมายให้สำเร็จในอีก 7 ปีข้างหน้า (พ.ศ.2573) ที่ประเทศไทยจะยุติปัญหาเอดส์” เห็นว่ามีหลายประเด็นเกี่ยวกับเอชไอวีที่น่าสนใจที่เป็นตัวแปรสำคัญที่จะทำให้วงจรเอดส์ยุติลง ซึ่ง นพ.ประพันธ์กล่าวว่า โดยส่วนตัวมีความเชื่อมาตั้งแต่แรกว่าประเทศไทยจะสามารถยุติปัญหาเอดส์ได้ในระยะเวลาที่กำหนดหรือก่อนระยะเวลาที่กำหนด เพราะมีความพร้อมของนโยบาย 4 ส่วนคือ นโยบายที่ 1 “การตรวจได้เร็ว” ทุกคนสามารถตรวจเอชไอวีได้ฟรีปีละ 2 ครั้ง เป็นการสนับสนุนให้คนเข้าถึงการตรวจได้เร็วก่อนที่จะแพร่ไปให้คนอื่น ก่อนที่จะป่วย จะตาย
นโยบายที่ 2 “การรักษาเร็ว” หมายถึงคนที่ติดเชื้อสามารถได้รับยาต้านไวรัสเอชไอวี (ยาต้านฯ) ภายในวันเดียวกับที่พบการติดเชื้อ หรือ Same Day ART เพื่อให้ผู้ติดเชื้อฯ รายนั้นไม่สามารถแพร่เชื้อให้กับใครได้อีกแม้แต่คนเดียว (Zero Transmission) ภายใน 6 เดือนหลังจากรับการรักษา
นโยบายที่ 3 “เข้าถึงเพร็พ (PrEP) ได้เร็ว” เมื่อมีคนเข้ารับการตรวจเอชไอวีแล้วไม่เจอเชื้อ แต่ยังเลิกพฤติกรรมเสี่ยงไม่ได้ ก็แจกชุดป้องกัน (Prevention Package) ที่มีเรื่องเพร็พ (PrEP) อยู่ในนั้นให้ไปเลยตั้งแต่วันแรกที่ตรวจไม่เจอเชื้อ เพราะสามารถป้องกันการติดเชื้อเอชไอวีได้ถึง 99.5% ขึ้นไป ไม่ใช่บอกแค่ให้ใส่ถุงยางอนามัยเพียงอย่างเดียว เพราะบางคนไม่สามารถใส่ได้ตลอด ถ้าหมอไม่ยอมแจกเพร็พให้เขา เขาอาจจะกลับมาเป็นผู้ติดเชื้อฯ ได้ เราจะเห็นได้ว่าเมื่อติดเชื้อแล้วได้กินยาต้านฯ ทันทีจะไม่สามารถถ่ายทอดให้เชื้อเอชไอวีให้ใครได้เลย 100% เมื่อกินเพร็พป้องกันก็ไม่สามารถรับเชื้อได้ 99.5% สรุปแล้ว “วงจรเอดส์ก็จะจบ” เพราะรับเชื้อก็ไม่ได้ ถ่ายทอดเชื้อให้ใครก็ไม่ได้ ฉะนั้นเอดส์จึงยุติได้
นโยบายที่ 4 คือ “การลดการตีตราและเลือกปฏิบัติ และลดความเหลื่อมล้ำ” เพื่อให้ทุกคนกล้าเข้าถึงบริการทั้งการป้องกันและรักษาได้อย่างมีประสิทธิผล
แต่นโยบายเหล่านี้ก็ยังพบว่ามีปัญหาในทางปฎิบัติ รวมถึงมีความท้าทายหลายอย่างที่ต้องอาศัยความร่วมมือของทุกภาคส่วนช่วยกันทะลายข้อจำกัดบางอย่างไปให้ได้ ซึ่งหมอประพันธ์ได้ตั้งข้อสังเกตของปัญหาในแต่ละนโยบาย รวมถึงข้อเสนอแนะที่น่าสนใจให้กับทุกภาคส่วนได้นำไปขบคิดต่อ เพื่อทำให้เป้าหมายของการยุติเอดส์ทำได้จริงภายใต้กรอบระยะที่กำหนดนับจากนี้ไปอีก 7 ปี ดังนี้ “ปัญหาของนโยบายที่ 1 การตรวจเร็ว” คือ คนไม่รู้ว่าตัวเองต้องตรวจ เพราะไม่คิดว่าตัวเองเสี่ยง แต่ ณ เวลานี้คนที่ติดเชื้อทั่วโลกเป็นกลุ่มที่ “ไม่” เรียกว่ากลุ่มเสี่ยง เพราะที่ผ่านมาประเทศไทยมีการทำงานอย่างเข้มข้นใน “กลุ่มเสี่ยง” มาเกือบ 10 ปีแล้ว แต่คนที่ไม่คิดว่าตัวเองเป็นกลุ่มเสี่ยงกลับกลายเป็นกลุ่มหลักในการติดเชื้อรายใหม่เกือบทุกประเทศ
การมีเพศสัมพันธ์เพียงครั้งเดียวกับใครก็ตาม รวมไปถึงคู่ที่เป็นสามีภรรยาโดยไม่ได้ใช้ถุงยางอนามัยก็ถือว่าเสี่ยงแล้ว เพราะไม่รู้ว่าคู่ของเราไปรับเชื้อมาจากใครก่อนหรือไม่ ดังนั้น ต้องประชาสัมพันธ์ให้ชัดเจนไปเลยว่า “ความเสี่ยงนั้นคืออะไร” เพื่อรณรงค์ให้ “ทุกคนต้องได้รับการตรวจเอชไอวี” ต้องรณรงค์ให้ทุกคนมีความเข้าใจและอยากเดินเข้ามาตรวจเอชไอวีด้วยตัวเอง
แต่บางคนก็ไม่รู้จะไปตรวจที่ไหน ไม่รู้จะเริ่มต้นสื่อสารกับหมออย่างไรว่าขอตรวจเอชไอวี ไม่รู้ว่าสิ่งที่ทำมีประโยชน์อย่างไร ไม่รู้ข้อมูลเรื่องการตรวจเลือดได้ฟรีในทุกสิทธิการรักษา บางคนยังกลัวถูกตีตราหรือมองในแง่ไม่ดีหากไปขอรับการตรวจเอชไอวี ฯลฯ เพราะฉะนั้นต้องมีการประชาสัมพันธ์ให้ชัดเจนในทุกช่องทางของสื่อผ่านการนำเสนอของคนที่เป็นขวัญใจประชาชนและต้องทำบ่อยๆ แบบต่อเนื่องไม่ใช่เฉพาะช่วงเทศกาลเอดส์โลกเพียงอย่างเดียว เพื่อทำให้การตรวจเอชไอวี “เป็นสิ่งปกติ” ของการดูแลสุขภาพ เหมือนกับการตรวจเบาหวาน ไขมัน ซึ่งอย่างน้อยทุกคนควรตรวจเลือดครั้งหนึ่งในชีวิต
ปัญหาอีกอย่างคือรัฐเข้าถึงกลุ่มเป้าหมายยาก ดังนั้นรัฐโดยกระทรวงสาธารณสุขต้อง “ไม่กระดาก ไม่อาย” และจริงใจที่จะขอและสนับสนุนให้องค์กรชุมชนที่ทำงานใกล้ชิดกับกลุ่มเป้าหมายให้เข้ามาช่วยสนับสนุน นอกจากนั้นต้องทำให้ รพ.สต. (โรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบล) สามารถตรวจเอชไอวีได้ด้วย เพราะอยู่ใกล้ชิดประชาชน รวมถึงยังมีการแจกอุปรณ์ชุดตรวจเอชไอวีด้วยตนเองผ่านแอปฯ เป๋าตังอีกทางหนึ่ง จึงต้องประชาสัมพันธ์ให้คนได้รู้จักช่องทางในการเข้าถึงอุปกรณ์และการใช้งานที่ถูกวิธี
“ปัญหาในนโยบายที่ 2 การรักษาเร็ว” พบว่าหมอบางคนพอตรวจเจอผู้ป่วยที่มีเอชไอวีก็รู้สึกไม่อยากรีบรักษา ทิ้งระยะไว้นานจนผู้ติดเชื้อฯ หายไปจากระบบ ดังนั้นถ้าตรวจพบเร็วสามารถเริ่มยาต้านฯ ได้ทันทีไม่ต้องรอให้ซีดี 4 ตก หรือรอให้ป่วยเท่านั้นถึงค่อยเริ่มยาต้านฯ ซึ่งต้องมีกระบวนการติวเข้มให้หมอได้เข้าใจแนวทางปฏิบัติที่กรมควบคุมโรคกำหนดอย่างเคร่งครัด
ทั้งนี้หมอที่สามารถสั่งจ่ายยาต้านฯ ได้นั้นส่วนใหญ่ยังเข้าใจว่าต้องให้เฉพาะหมอที่ดูแลด้านการติดเชื้อฯ หรืออายุรแพทย์เท่านั้น แต่หมอทุกคนสามารถสั่งจ่ายยาต้านฯ ได้เลย เว้นแต่ผู้ป่วยรายใดที่ป่วยหนักเข้ามาก็ค่อยให้หมออายุรแพทย์เข้ามาดูแลโดยตรง จะได้มีหมอที่พร้อมสั่งยาต้านฯ ได้ทุกวันไม่ต้องรอวันที่มีคลินิกยาต้านฯ เท่านั้น เพื่อให้คนเข้าถึงการรักษาได้เร็วและคงอยู่ในระบบอย่างต่อเนื่อง
ปัญหาเรื่องสิทธิ์การรักษาก็ยังพบว่ามีความไม่เท่ากัน เช่น บัตรทองถ้าพบว่าติดเชื้อก็ให้จ่ายยาต้านฯ ในวันนั้นได้ แต่ประกันสังคมต้องให้ไปรับบริการที่โรงพยาบาลที่ขึ้นทะเบียนใช้สิทธิอยู่ จึงเสนอให้มีการรวมสิทธิประโยชน์ของระบบหลักประกันสุขภาพทุกสิทธิการรักษาให้อยู่ในแนวทางเดียวกันมาตรฐานเดียวกัน โดยเน้นในเรื่องเอชไอวีเป็นหลัก ส่วนชุดสิทธิประโยชน์บัตรทองที่กำหนดให้ผู้ติดเชื้อฯ สามารถเข้าไปรับยาต้านฯ ได้จากทุกโรงพยาบาลของรัฐนั้นพบว่าบางที่ยอมจ่าย บางที่ต้องจ่ายเงินเองก่อน ฝ่ายที่เกี่ยวข้องก็ต้องประกาศแนวทางออกมาให้ชัดเจน ให้เป็นจริงได้ในทางปฏิบัติ
ในกรณีที่ผู้ติดเชื้อฯ บางรายกังวลว่าถ้ากินยาแล้วจะถูกตีตราและเลือกปฏิบัติ เราก็ต้องใช้ยูเท่ากับยู (รักษาด้วยยาต้านฯ จนตรวจไม่พบเชื้อ = ถ่ายทอดเชื้อให้กับคนอื่นไม่ได้) เป็นสิ่งจูงใจให้คนเดินเข้ามารับบริการว่าถ้าเราแข็งแรง เราก็ไม่แพร่เชื้อ และถ้าให้องค์กรชุมชนหรือร้านขายยาสามารถจ่ายยาได้ตามหมอสั่งก็จะทำให้ผู้ติดเชื้อฯ บางรายที่รู้สึกลำบากใจในการไปรับบริการที่โรงพยาบาลจังหวัดมีทางเลือกในการรับยาซึ่งจะเป็นการเพิ่มโอกาสให้คนอยากกินยาเพิ่มขึ้น
“ปัญหาของนโยบายที่ 3 การเข้าถึงเพร็พเร็ว” ตอนนี้พบว่าการให้ “ยาเพร็พ” (PrEP) ยังต่ำกว่าเป้าหมายประมาณ 15 – 20 % ของเป้าหมายที่ควรจะได้รับ เราพบว่าแพทย์ในโรงพยาบาลไม่มีเวลามากพอที่จะคุยเรื่องเพร็พ ไม่ถนัดคุยแต่ถนัดรักษาทำให้แพทย์ไม่จ่ายยาเพร็พเท่าที่ควร ดังนั้น ควรสนับสนุนให้แพทย์โดยเฉพาะแพทย์เวชปฏิบัติ หรือพยาบาลในคลินิกยาต้านไวรัสเอชไอวีให้สามารถจ่ายยาเพร็พ รวมถึงร้านขายยาต้องให้สามารถจ่ายยาต้านฯ และเพร็พได้ โดยให้หมอช่วยสั่งจ่ายให้ เพื่อให้เข้าถึงคนได้กว้างขวางมากขึ้น เพราะการจะให้เพร็พเกิดประโยชน์จริงๆ ในการลดการติดเชื้อรายใหม่ของประเทศอย่างรวดเร็วต้องปูพรมให้รวดเร็ว ไม่ควรใช้วิธีกำหนดโควตาว่าปีนี้ให้ 1 หมื่นราย ปีหน้าค่อยเพิ่มเป็น 2 หมื่น ถ้าค่อยๆ จ่ายเพร็พแบบค่อยเป็นค่อยไป คนที่เสี่ยงก็รับเชื้อมาใหม่และแพร่ต่อไปได้อีก จึงต้องเปิดให้เต็มที่ใครอยากกินต้องได้กิ
ขณะเดียวกันประชาชนยังมีความรู้เรื่องเพร็พน้อยมาก ต้องประชาสัมพันธ์ข้อมูลให้คนเข้าใจมากขึ้นโดยใช้ไอดอลเฉพาะกลุ่มเข้ามาช่วยประชาสัมพันธ์อย่างจริงจัง “แต่ไม่ควร” ประชาสัมพันธ์ในทำนองว่าถ้าคุณใช้ถุงยางไม่ได้ฉันก็จะไม่สั่งเพร็พให้ หรือต้องใช้ถุงยางก่อนถึงจะได้รับยาเพร็พ ซึ่งเรารู้อยู่แล้วว่าคนใช้ถุงยางตลอดไม่ได้ จึงควรให้ข้อมูลที่ชี้ให้เห็นว่าใครที่ลดพฤติกรรมเสี่ยงไม่ได้สามารถกินเพร็พให้หมด แต่บางคนอาจรู้สึกว่าการใช้เพร็พจะถูกมองว่าไม่ดี ก็ต้องทำให้การใช้เพร็พเป็นส่วนหนึ่งของการดูแลสุขภาพด้วย
ส่วนรัฐเองยังกล้าๆ กลัวๆ ที่จะยกระดับเพร็พให้เท่าเทียมหรืออยู่เหนือถุงยางอนามัย เราจึงต้องแสดงหลักฐานเชิงประจักษ์กับผู้กำหนดนโยบายว่าประสิทธิผลของการใช้ถุงยางอนามัยในการป้องกันเอชไอวีมี 70 – 90 % ในขณะที่ประสิทธิผลของการใช้เพร็พในการป้องกันเอชไอวีมีอยู่ถึง 99.5 % ซึ่งมีแหล่งอ้างอิงข้อมูลชัดเจนว่าเพร็พป้องกันเอชไอวีได้ดีกว่าถุงยางอนามัย แต่ถ้าจะป้องกันโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์อื่นๆ ให้ถุงยางอนามัยเป็นเครื่องมือหนึ่งในการจัดการ เปิดโอกาสให้คนใช้ได้ตัดสินใจว่า “เขาอยากจะป้องกันอะไร”
จึงถึงเวลาที่รัฐต้องเป็นผู้นำพูดเรื่องยูเท่ากับยู (U=U: รักษาด้วยยาต้านฯ จนตรวจไม่พบเชื้อ = ถ่ายทอดเชื้อให้กับคนอื่นไม่ได้) ให้ชัดเจน ในขณะที่ฝ่ายวิชาการต้องสนับสนุนข้อมูลไปในทิศทางเดียวกันว่ายูเท่ากับยูจะถ่ายทอดเชื้อไม่ได้ การส่งต่อเชื้อเป็นศูนย์ รวมถึงเอดส์จะสามารถกลายเป็นโรคไม่ติดต่อเรื้อรังได้ “ถ้าได้รับการรักษา” “ถ้าได้กินยา”
แต่การพูดเรื่องยูเท่ากับยู (U=U: รักษาด้วยยาต้านฯ จนตรวจไม่พบเชื้อ = ถ่ายทอดเชื้อให้กับคนอื่นไม่ได้) อาจทำให้หลายคนกังวลเรื่องการใช้ถุงยางอนามัย แต่เรื่อง “การใช้” หรือ “ไม่ใช้” ถุงยางอนามัยกับเรื่องยูเท่ากับยู “เป็นคนละเรื่องกัน”
“ปัญหาของนโยบายข้อสุดท้ายข้องที่ 4 การตีตราและการเลือกปฏิบัติ” รวมทั้งเรื่องยูเท่ากับยูและความเท่าเทียม ซึ่งการตีตราเป็นเรื่องจิตใจที่ห้ามยาก แต่ทุกคนต้องรู้เท่าทันตัวเอง ถ้ากำลังจะเริ่มตีตราคนอื่นต้องรีบมีสติในการควบคุมการแสดงออกทั้งด้วยสีหน้า วาจา หรือด้วยการกระทำที่ต้องมีสติเตือนตัวเองในทุกเรื่องจะได้ไม่เป็นการสร้างผลกระทบให้กับคนอื่น อีกทั้งต้องมีกฎหมายที่เข้มแข็งในการลงโทษผู้ที่ทำให้เกิดการเลือกปฏิบัติและบังคับใช้อย่างเคร่งครัด แต่ยังพบว่าบางหน่วยงานก่อนสมัครงานรวมถึงเกณฑ์ทหารต้องตรวจเอชไอวีก่อนรับเข้าทำงาน ดังนั้นรัฐต้องเริ่มเป็นตัวอย่างของการไม่ตีตราและการเลือกปฏิบัติอันเนื่องมาจากเอชไอวี
สุดท้ายเรื่องของโครงสร้าง นโยบาย กฎระเบียบ และตัวบุคคล เรามักพบว่างานยุติเอดส์เป็นหน้าที่ของรัฐ แต่รัฐทำเองไม่ได้ ต้องให้องค์กรชุมชนเข้ามามีส่วนร่วมด้วย เพราะข้อมูลเชิงประจักษ์บอกกับเราว่าคนที่เข้ารับบริการด้านเอชไอวีจากองค์กรชุมชนมีสูงกว่าที่ตรวจจากโรงพยาบาลของรัฐ ขณะเดียวกันทั้งองค์การอนามัยโลกและยูเอ็นเอดส์เห็นตรงกันว่าต้องให้องค์กรชุมชนเข้ามามีส่วนร่วมด้วย แต่ที่ผ่านมารัฐอาจไม่ได้ยอมรับอย่างตรงไปตรงมาว่า “ทำไม่ไหว” เพียงแต่บอกว่ามีแนวนโยบายวางไว้แล้ว ในขณะที่คนทำนโยบายเองก็เปลี่ยนตัวบ่อยจึงทุ่มได้ไม่เต็มตัวและขึ้นอยู่กับตัวบุคคลด้วยว่าจะให้ความสำคัญกับแก้ไขปัญหาเอดส์อย่างจริงจังมากน้อยขนาดไหน
สำหรับทางออกของปัญหานี้ต้องยอมรับในความเป็นจริงว่าวิธีแก้พวกระเบียบยาก จึงต้องมีภาครัฐที่ไม่กลัวอำนาจการเมืองขึ้นมาเป็นแกนนำที่จะยุติปัญหาเอดส์ มีภาคประชาสังคม ภาควิชาการเป็นแรงหนุนและเสียงดังมาทำความเข้าใจกับประชาชนอย่างทั่วถึงผ่านสื่อทุกสื่อให้เห็นประโยชน์ของการยุติเอดส์เร็ว พร้อมทั้งข้อมูลเรื่องชุดสิทธิประโยชน์การป้องกัน ดูแล และรักษาที่ประชาชนจะได้รับ ที่สำคัญต้องไปคุยกับรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธาณสุขรวมถึงนายกรัฐมนตรีในฐานะประธานคณะกรรมการเอดส์ชาติ เพื่อให้ “การยุติเอดส์เป็นวาระแห่งชาติ” ให้สำเร็จภายใต้ระยะเวลาที่กำหนด “ถ้ารัฐบาลจะเอาจริง”
….
อ้างอิงข้อมูลจากไลฟ์ทางเพจ “สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ” https://fb.watch/o-hMcsMpuN/?mibextid=UyTHkb
อ้างอิงภาพ: https://www.facebook.com/IHRIofficial