ย้อนกลับไปเมื่อประมาณ 40 กว่าปีก่อน เราอาจเคยได้ยินว่า “หากติดเชื้อเอชไอวีมาคงไม่สามารถทำอะไรนอกจากรอวันป่วยและตาย” ซึ่งเป็นคำพูดที่ทำให้ผู้ที่ติดเชื้อฯ รู้สึกท้อแท้ สิ้นหวัง แต่หากเราศึกษาข้อเท็จจริงเกี่ยวกับเอชไอวี/เอดส์ อย่างรอบด้านจะทำให้เราได้เรียนรู้ว่า ‘เอดส์’ เป็นเพียงความเจ็บป่วยที่รักษาได้ ตามคำนิยามที่องค์การอนามัยโลก (WHO) เคยให้ไว้ว่า “เอดส์คือโรคเรื้อรัง” ซึ่งสามารถดูแล รักษา รวมถึงป้องกันไม่ให้ป่วยได้
เมื่อติดเชื้อเอชไอวี ร่างกายจะเป็นอย่างไร?
เมื่อร่างกายของเราได้รับเชื้อเอชไอวี เราจะมีสุขภาพไม่ต่างจากเดิมเลย เพราะเชื้อเอชไอวี จะไม่ทำให้เราป่วยทันที ที่เป็นเช่นนั้นเพราะเรายังมีภูมิคุ้มกันที่สามารถควบคุมหรือจัดการกับเชื้อโรคที่เข้าสู่ร่างกายได้ อาการเจ็บป่วยจากโรคฉวยโอกาสจึงไม่ปรากฏ เรียกว่าเป็น “ผู้ติดเชื้อเอชไอวี”
พอภูมิคุ้มกันถูกทำลายไปเรื่อยๆ จนไม่สามารถควบคุมหรือจัดการกับเชื้อโรคบางอย่างได้จะทำให้เราป่วยซึ่งอัตราเฉลี่ยของคนไทยที่เริ่มป่วยใช้เวลา 7 – 10 ปี ตั้งแต่วันที่รับเชื้อฯ เรียกว่าเริ่มมีภาวะภูมิคุ้มกันบกพร่องเป็น “ผู้ป่วยเอดส์”
โรคที่เราป่วยเนื่องจากภาวะภูมิคุ้มกันบกพร่อง เรียกว่า “โรคติดเชื้อฉวยโอกาส” ในทางการแพทย์จะใช้การตรวจซีดี 4 (ระดับภูมิคุ้มกัน) ถ้าต่ำกว่า 200 หรือเมื่อเริ่มมีโรคติดเชื้อฉวยโอกาสต่างๆ เช่น เชื้อราในปาก เริมที่อวัยวะเพศ (เป็นบ่อยหรือรุนแรง) วัณโรค งูสวัดที่รุนแรงหรือเป็นซ้ำใน 1 ปี เยื่อหุ้มสมองอักเสบ ปอดอักเสบ เป็นต้น จะถือว่าอยู่ใน “ภาวะภูมิคุ้มกันบกพร่อง” แต่โรคติดเชื้อฉวยโอกาสทุกโรครักษาได้ หลายโรคป้องกันได้
สำหรับปัจจัยที่ทำให้ผู้ติดเชื้อเอชไอวี ป่วยเร็ว ป่วยช้า หรือไม่ป่วยเลยนั้นขึ้นอยู่กับการเข้าถึงยาต้านไวรัสเอชไอวีที่เร็วและได้มาตรฐาน เพื่อให้ยาต้านไวรัสฯ ทำหน้าที่ลดจำนวนเอชไอวีในเลือดให้ต่ำที่สุด (น้อยกว่า 50 copies/cc) และนานที่สุด เมื่อผู้ติดเชื้อฯ ได้รับยาอย่างต่อเนื่องจนเชื้อเอชไอวีในร่างกายลดลงโอกาสที่จะป่วยด้วยโรคฉวยโอกาสจึงแทบจะไม่มีเลย ที่สำคัญยังทำให้ผู้ติดเชื้อฯ สามารถเรียนได้ ทำงานได้ มีลูก มีคู่ มีครอบครัวได้ และมีชีวิตยืนยาวจนเข้าสู่ช่วงสูงวัยได้ไม่ต่างจากคนที่ไม่มีเชื้อเอชไอวี
ทั้งนี้มาตรฐานและชุดสิทธิประโยชน์ด้านเอชไอวีในปัจจุบัน (ณ ปี 2566) กำหนดให้การรักษาด้วยยาต้านไวรัสฯ สามารถเริ่มใช้ได้ทันทีที่ตรวจพบการติดเชื้อ (Same day ART) ในทุกระดับซีดี 4 เพราะการเริ่มยาต้านไวรัสฯ ได้เร็ว นอกจากจะเป็นการป้องกันการป่วยด้วยโรคฉวยโอกาสแล้ว ยังลดการส่งผ่านเชื้อเอชไอวี และยังช่วยลดโอกาสการเป็นโรคเรื้อรังที่เกี่ยวกับการเสื่อมของหลอดเลือดแดง เช่น ไขมัน ความดัน เบาหวาน ไตเสื่อม เป็นต้น
อย่างไรก็ดี การทานยาต้านไวรัสฯ อย่างต่อเนื่องและตรงเวลายังเป็นปัจจัยสำคัญในรักษาที่มีประสิทธิภาพ เพราะนอกจากช่วยควบคุมปริมาณไวรัสเอชไอวีในเลือดให้ต่ำที่สุดแล้วยังช่วยลดปัจจัยเสี่ยงต่อการดื้อยาหรือการรักษาล้มเหลวอีกด้วย
การดูแลและส่งเสริมให้การรักษาด้วยยาต้านไวรัสฯ ได้ผลดี และส่งเสริมการมีสุขภาพที่ดี
เมื่อผู้ติดเชื้อฯ เข้าถึงการรักษาด้วยยาต้านไวรัสฯ ได้เร็วและได้มาตรฐานทำให้มีชีวิตที่ยืนยาวขึ้น ซึ่งอาจทำให้พบปัญหาเรื่องโรคเรื้อรังอื่น ๆ ที่มาพร้อมกับอายุที่เยอะขึ้น เช่น ไขมันในเลือดสูง ความดัน เบาหวานเช่นเดียวกับกลุ่มประชากรอื่นๆ
นอกจากนั้นในกรณีที่เริ่มยาต้านไวรัสฯ ช้า ซึ่งเป็นในช่วงที่มีเอชไอวีไวรัลโหลดสูงอยู่นาน เชื้อเอชไอวีจะทำให้หลอดเลือดแดงเสื่อมสภาพเร็วกว่าปกติ มีโอกาสเป็นโรคที่เกี่ยวกับการเสื่อมของหลอดเลือดแดง เราจึงพบผู้ติดเชื้อฯ ที่เป็นโรคเบาหวาน โรคความดันโลหิตสูง และไตเสื่อมเพิ่มมากขึ้นด้วย
การเลือกใช้สูตรยาต้านไวรัสฯ ที่มีผลข้างเคียงต่ำ การเริ่มรักษาด้วยยาต้านไวรัสฯ เร็วร่วมกับการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมการกิน การออกกำลังกายจะช่วยลดโอกาสเสี่ยงต่อการเป็นโรคเบาหวาน ไขมันในเลือดสูง ความดันโลหิตสูงได้ ดังนั้นการทำความเข้าใจในเรื่องนี้รวมถึงการรณรงค์ส่งเสริมให้ผู้ติดเชื้อฯ สามารถจัดการ หรือปรับเปลี่ยนพฤติกรรมการใช้ชีวิต การกิน การออกกำลังกาย การดูแลรักษาสุขภาพจึงมีความสำคัญอย่างมาก