การให้ความคุ้มครองทรัพย์สินทางปัญญาถือเป็นแรงจูงใจให้เกิดการประดิษฐ์คิดค้นผลิตภัณฑ์ใหม่ ๆ แต่การให้ความคุ้มครองเรื่องยาอาจต้องมีวิธีคิดที่แตกต่างไปจากผลิตภัณฑ์อื่น ๆ เพราะมีเรื่องของ “ชีวิตคน” เข้ามาเกี่ยวข้อง

ด้วยเหตุนี้ ในการประชุมสมาชิกองค์การการค้าโลก (WTO) ที่กรุงโดฮา ประเทศกาตาร์จึงได้กำหนดมาตรการยืดหยุ่นกฎหมายทรัพย์สินทางปัญญาที่เรียกว่า “การใช้สิทธิตามสิทธิบัตร” หรือซีแอล (Compulsory Licensing: CL) เพื่อให้อำนาจแก่ประเทศสมาชิกในการผลิต หรือนำเข้าผลิตภัณฑ์ยาชื่อสามัญ* ที่ติดสิทธิบัตรได้หากเกิดความจำเป็นเร่งด่วน หรือเกิดวิกฤติด้านสาธารณสุขขึ้นในประเทศ แต่ทั้งนี้ต้องแจ้งและจ่ายค่าตอบแทนให้กับผู้ทรงสิทธิบัตรด้วย

เครือข่ายผู้ติดเชื้อฯ และองค์กรพัฒนาเอกชนด้านเอดส์ ได้ผลักดันให้รัฐบาลไทยประกาศใช้ CL มาตั้งแต่ปี 2542 กรณียาเม็ดดีดีไอ เนื่องจากมีผู้ติดเชื้อฯ จำนวนหนึ่งต้องการยาแต่ยาดีดีไอชนิดผงที่ประเทศไทยผลิตได้มีผลข้างเคียงสูง เป็นอุปสรรคต่อการทานยาของผู้ติดเชื้อฯ อย่างมากจึงต้องการให้ผลิตดีดีไอชนิดเม็ดแต่ไม่เป็นผลสำเร็จ   

มาในปี 2549 นพ.มงคล ณ สงขลา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข (ในขณะนั้น) ได้ประกาศใช้ซีแอลกับยา3 ตัว คือ เอฟฟาไวเรนซ์ (Efavirenz) และยาโลพินาเวียร์/ริโทนาเวียร์ ซึ่งเป็นยาต้านไวรัสเอชไอวี และยาโคลพิโดเกรล (Clopidogrel) ซึ่งเป็นยาละลายลิ่มเลือดรักษาโรคหัวใจ

การใช้มาตรการดังกล่าวทำให้ยาทั้ง 3 ตัวมีราคาถูกลง เช่น เอฟฟาไวเรนซ์ เดิมราคาขวดละ 1,300 บาท ลดลงเหลือขวดละ 650 บาท หรือยาโคลพิโดเกรลสำหรับผู้ป่วยโรคหัวใจ จากเดิมราคาเม็ดละ 70 บาท ลดเหลือเม็ดละไม่เกิน 10 บาทเท่านั้น

ผลของการใช้ซีแอล

  • รัฐบาลสามารถจัดสรรงบประมาณในการจัดซื้อยาได้อย่างมีประสิทธิภาพ ทำให้ประชาชนเข้าถึงยาในราคาที่เป็นธรรม เนื่องจากยาชื่อสามัญมีตลาดการแข่งขันที่มากกว่ายาต้นแบบ ทำยามีราคาถูก
  • บริษัทยาต้นแบบลดราคายาลง เพื่อให้รัฐบาลไม่ต้องประกาศใช้ซีแอลเพิ่ม
  • ประเทศกำลังพัฒนา เช่น บราซิล ประกาศใช้มาตรการซีแอลตามประเทศไทย

……………………………………….

*หมายเหตุ: ยาชื่อสามัญ หมายถึง ยาที่บริษัทอื่น ๆ ที่ไม่ใช่บริษัทเจ้าของยา หรือผู้คิดค้นยา หรือผู้ผลิตยารายแรก เข้ามาผลิตยาที่มีตัวยาเดียวกันกับยาต้นแบบ (หมดอายุการคุ้มครองสิทธิบัตรยาจึงจะทำได้ ยกเว้นเกิดเหตุฉุกเฉินจนต้องใช้มาตรการซีแอล) โดยมีประสิทธิภาพการรักษาเทียบเท่ายาต้นแบบแต่มีราคาถูกกว่า