“กุหลาบ แดงทอง” แกนนำกลุ่มศูนย์องค์รวมและเป็นคณะกรรมการเครือข่ายผู้ติดเชื้อฯ ภาคกลาง ได้เข้ารับการตรวจคัดกรอง #ไวรัสตับอักเสบซี (ไวรัสฯ ซี) ตั้งแต่ปี 2561ที่ตอนนั้นมีชุดสิทธิประโยชน์กำหนดให้ผู้ติดเชื้อเอชไอวี (ผู้ติดเชื้อฯ) ควรได้รับการตรวจเชื้อไวรัสฯ ซีด้วย จึงทำให้กุหลาบทราบว่าตัวเองติด เธอบอกว่า “ถ้าไม่ตรวจไม่มีทางรู้เลยว่าตัวเองติด เพราะไม่มีอาการ ไม่มีสัญญาณอะไรให้รู้เลย” แต่ตอนนั้นยังไม่มีแนวทางการประสานส่งต่อการรักษาที่ชัดเจน ทำให้กุหลาบก็อดแซวตัวเองไม่ได้ว่าจากได้รับ “คัดกรอง” ก็ต้องเปลี่ยนมาเป็น “คัดกอง” เพราะไม่รู้จะไปยังไงต่อกับผลที่ได้มา เลยกองไว้ก่อน
แต่ทางเครือข่ายผู้ติดเชื้อฯ แนะนำให้กุหลาบลองไปคุยหมอถึงแนวทางการรักษา เพราะไวรัสฯ ซีสามารถรักษาให้หายได้ แต่ถ้าไม่ทำอะไรเลยอาจทำให้เป็นตับแข็งไม่ก็มะเร็งตับเร็วขึ้นได้ หลังจากนั้นหมอที่โรงพยาบาลชุมชนจึงทำเรื่องส่งตัวกุหลาบไปรักษาต่อที่โรงพยาบาลจังหวัดใกล้เคียงที่มีหมอเฉพาะทางด้านทางเดินอาหารและตับ หรือที่เรียกว่าหมอจีไอ (GI) ให้ช่วยรักษา (ที่โรงพยาบาลชุมชนไม่มีหมอเฉพาะด้านนี้จึงรักษาให้ไม่ได้)
แต่การรักษาของกุหลาบก็ไม่ได้โรยด้วยกลีบกุหลาบเหมือนกับชื่อ กุหลาบต้องเดินทางไปหาหมอตั้งแต่ตี 5 จนถึงบ่าย 3 โมงเย็นจึงจะได้กลับบ้าน วันนั้นก็ยังไม่ได้รับการรักษา เพราะผลการตรวจยังไม่ถึงเกณฑ์การรักษาตามมาตรฐานที่กำหนด แม้จะรู้ว่าผู้ป่วยมีเชื้อไวรัสฯ ซีก็ จึงทำได้แต่นัดหมายมาดูอาการกันปีละครั้ง
แน่นอนว่ากุหลาบค่อนข้างกังวลใจและยังขาดกำลังใจไปรักษา ทั้งการเดินทางข้ามจังหวัด การใช้เวลาทั้งวันเพื่อรอเจอหมอ แถมยังต้องลุ้นผลแล็บว่าถึงเกณฑ์ต้องได้รับการรักษาหรือยัง แต่ถึงแม้จะได้รับการรักษาก็ไม่มั่นใจว่าตัวเองจะรับได้กับผลข้างเคียงของยามากน้อยแค่ไหน เพราะเธอเห็นเพื่อนที่รับการรักษากลับมาต้องใช้เวลาพักฟื้นพอสมควร
การไปเจอหมอแม้จะนัดแค่ปีละครั้งแต่สำหรับกุหลาบคือไม่อยากไปเลย เธอจึงไม่แปลกใจที่เห็นคนที่ต้องรับการรักษาไวรัสฯ ซีหลายคนล้มเลิกการรักษาไปกลางคัน แต่จุดพลิกเรื่องการรักษาไวรัสฯ ซีก็เกิดขึ้น เธอเห็นว่าส่วนหนึ่ง น่าจะมาจากการที่เครือข่ายผู้ติดเชื้อฯ มีการเคลื่อนไหวเรียกร้องมาอย่างต่อเนื่องหลายปี จนปัจจุบัน จากการรักษาไวรัสฯ ซีเปลี่ยนจากยาฉีดมาเป็น รักษาด้วยยากิน 12 สัปดาห์
จุดเปลี่ยนที่สำคัญอย่างหนึ่งคือเมื่อปี 2565 ได้มีการปลดล็อคให้การรักษาทำได้คล่องตัวขึ้น โดยมีการปรับเกณฑ์การรักษา และให้แพทย์ทั่วไปที่ผ่านการฝึกอบรม สามารถให้การดูแลรักษาได้ ทั้งนี้ กระทรวงสาธารณสุขและหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ได้จัดอบรมพัฒนาศักยภาพบุคคลากรทางการแพทย์เรื่องการดูแลรักษาไวรัสตับอักเสบ ซึ่งหมออายุรกรรมของโรงพยาบาลชุมชนที่กุหลาบรับการรักษาก็เข้ารับการอบรมด้วย
กุหลาบเล่าว่าโรงพยาบาลชุมชนที่กุหลาบรับการรักษา มีการประชุมคลินิกยาต้านไวรัสเอชไอวีทุกไตรมาส ทำให้ฝ่ายที่เกี่ยวข้องไม่ว่าจะเป็นหมอ พยาบาลพี่เลี้ยง กลุ่มงานเภสัชกรรม กลุ่มงานแล็บ รวมถึงเธอเองซึ่งเป็นแกนนำกลุ่มศูนย์องค์รวมร่วมประชุมด้วย จึงเป็นโอกาสดีที่ทุกฝ่ายได้มีการพูดคุยหารือถึงสถานการณ์ผู้ติดเชื้อไวรัสฯ ซี ของโรงพยาบาล และประเมินความพร้อมของทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้องในการเปิดคลินิกรักษาไวรัสฯ ซีในโรงพยาบาลชุมชน
“เราได้เล่าถึงปัญหา ความยากลำบากที่ตัวเราเองและเพื่อนคนอื่นต้องเดินทางไปโรงพยาบาลต่างจังหวัด แต่ก็ยังไม่ได้รับการรักษาไวรัสฯ ซีทันที กลับต้องรอถึงเกณฑ์ก่อนถึงจะได้รับการรักษา ซึ่งใครก็ไม่อยากรอให้ต้องถึงตรงนั้น” กุหลาบกล่าว
หลังจากได้ประชุมหารือกัน โรงพยาบาลได้วางแผนให้การรักษาที่โรงพยาบาลชุมชน โดยเมื่อเดือนมกราคม 2566 เป็นครั้งแรกที่คลินิกรักษาไวรัสฯ ซีของโรงพยาบาลชุมชนได้เปิดให้บริการ เบื้องต้นวางแผนไว้ว่าจะเปิดคลินิกเดือนละครั้งในวันพฤหัสบดีสุดท้ายของเดือน เริ่มต้นให้บริการในกลุ่มผู้ติดเชื้อเอชไอวีที่มีเชื้อไวรัสฯ ซี ประมาณ 20 คน โดยมาประเดิมรักษาแล้ว 5 คน ส่วนกุหลาบเข้ารับการรักษาเมื่อวันที่ 23 กุมภาพันธ์
“หมอนัดรับยาเดือนละครั้ง ยาที่ได้เป็นยาทาน ตัวเองจะเลือกทานก่อนนอนวันละครั้งต่อเนื่อง 3 เดือน ซึ่งดูมีผลข้างเคียงต่ำกว่ายาฉีดที่เพื่อนคนอื่นเคยได้รับ แต่ถ้าใครเข้าสู่สภาวะตับแข็งหรือมะเร็งตับทางโรงพยาบาลจะส่งตัวไปรับการรักษายังโรงพยาบาลที่มีแพทย์ผู้เชี่ยวชาญ เพื่อการรักษาต่อเนื่อง” กุหลาบให้ข้อมูลเพิ่มเติม
หากถามถึงบทบาทของแกนนำศูนย์องค์รวมในงานไวรัสฯ ซี กุหลาบบอกว่าไม่ได้มีภาระงานใหม่เพิ่มเติมแต่ เป็นงานเดิมที่เธอต้องทำอยู่แล้ว เช่น การให้ข้อมูลเรื่องไวรัสฯ ซีกับผู้รับบริการศูนย์องค์รวม การติดตามผู้รับบริการให้มาเจาะเลือดตามนัด การให้คำแนะนำผู้ติดเชื้อฯ ให้ได้รับบริการตามที่ชุดสิทธิประโยชน์กำหนด เป็นต้น แต่สิ่งที่กุหลาบอยากเห็นไปมากกว่านั้นคือ การทำงานป้องกันและการคัดกรองให้ประชาชนทั่วไปที่ไม่ใช่แค่ #กลุ่มเสี่ยง ได้ตระหนักและเข้ารับการตรวจไวรัสฯ ซีกันให้มากขึ้น เพราะไวรัสฯ ซีถ้ารู้ผลเร็ว เข้าถึงการรักษาได้เร็ว ก็สามารถรักษาให้หายได้ และทำได้ที่โรงพยาบาลชุมชน ไม่ต้องเดินทางลำบากไปไกลเหมือนเมื่อก่อนแล้ว
ปล. ชุดสิทธิประโยชน์ในทุกระบบหลักประกันสุขภาพ ครอบคลุมการตรวจและรักษาไวรัสตับอักเสบซี โดยไม่ต้องเสียค่าใช้จ่าย