จากกรณีผู้ติดเชื้อเอชไอวีในระบบประกันสังคมร้องเรียนมาทางเครือข่ายผู้ติดเชื้อเอชไอวี/เอดส์ ประเทศไทย เนื่องจากโรงพยาบาลเปลี่ยนวิธีการจ่ายยาต้านไวรัสฯ ให้ต้องมารับถี่ขึ้น หรือบางที่ให้ไปหาซื้อยาเอง ซึ่งส่งผลต่อชีวิตของผู้ติดเชื้อฯ นั้น
นายอภิวัฒน์ กวางแก้ว ประธานเครือข่ายผู้ติดเชื้อฯ ให้สัมภาษณ์ว่า ตลอดปี ๒๕๖๑ ยาต้านไวรัสเอชไอวีในระบบประกันสังคมมีปัญหาการเบิกจ่ายมาโดยตลอด จากเดิมที่ผู้ติดเชื้อฯ ไปรับยาต้านฯ ตามรอบปกติ ๓ เดือนบ้าง ๔ เดือนบ้าง แต่ระยะหลังโรงพยาบาลไม่สามารถจ่ายยาต้านฯ ให้แบบเดิม จ่ายได้เพียง ๓ วัน ๗ วัน ๑๐ วัน ๑๕ วัน เป็นต้น ทำให้ผู้ป่วยต้องลางานไปโรงพยาบาลบ่อยยิ่งขึ้น
นายอภิวัฒน์ ให้ความเห็นว่า ปัญหานี้เกิดขึ้นมาก โดยเฉพาะโรงพยาบาลเอกชนในกรุงเทพฯ ที่ให้บริการเฉพาะสิทธิประกันสังคม เช่น โรงพยาบาลลาดพร้าว เกษมราษฎร์ มงกุฎวัฒนะ เปาโล เมโมเรียล สมุทรปราการ บางนา ๑ เป็นต้น ที่สั่งจ่ายยาต้านฯ ถี่ขึ้น คือ ครั้งละ ๓ – ๔๕ วัน หรือผู้ป่วยบางคนไม่ได้รับยา มีแต่ใบสั่งยาให้ไปหาซื้อยาเอง ซึ่งค่าใช้จ่ายที่เกิดขึ้น ทางโรงพยาบาลยืนยันว่าไม่ใช่ความรับผิดชอบของตัวเอง ทั้งนี้ สำนักงานประกันสังคม (สปส.) ต้องรับผิดชอบค่าใช้จ่ายนี้ แต่ก็ยังไม่มีความชัดเจน ยิ่งกว่านั้น หากผู้ป่วยที่ไม่มีเงินซื้อยาจะทำอย่างไร บางคนพอที่จะไปหยิบยืมเพื่อน ถ้ายืมไม่ได้ ก็ต้องหยุดยา ซึ่งอาจส่งผลให้ดื้อยา และเสียชีวิตได้ในที่สุด แล้วกรณีนี้ใครจะเป็นผู้รับผิดชอบ ประกันสังคมจะรับผิดชอบไหวไหม
“ปัญหาแบบนี้เกิดขึ้นบ่อยมากในระบบประกันสังคม ซึ่งต้องยอมรับว่า สำนักงานฯ ไม่มีความสามารถพอที่จะจัดการในเรื่องสุขภาพได้ใช่หรือไม่ หากเทียบกับระบบอื่น เช่น ระบบหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า ซึ่งที่ผ่านมาก็มีปัญหาแบบนี้เกิดขึ้นบ้าง แต่ก็จัดการได้รวดเร็ว หากเป็นเช่นนี้สู้เอาเรื่องสุขภาพในประกันสังคมมาให้บัตรทองดูแลแทนไม่ดีกว่าหรือ ซึ่งกรณีนี้เราได้รับทราบมาว่า ผู้มีอำนาจเซ็นเบิกจ่ายการซื้อยาไม่กล้าเซ็นอนุมัติ เพราะจำนวนเงินสูงกว่า ๕๐ ล้านบาท แต่กลับโยนปัญหาให้ผู้ประกันตน ทั้งที่จ่ายเงินสมทบทุกเดือน” นายอภิวัฒน์กล่าวและว่า ระเบียบที่เป็นอุปสรรคของ สปส.ต้องคุยกับกรมบัญชีกลางเพื่อปลดล็อก เนื่องจากว่าผู้ป่วยจะเสียชีวิตจากขั้นตอนที่ยุ่งยาก ทำให้ระบบขยับไม่ได้ และยามีความสำคัญต่อชีวิตของผู้คน ซึ่งถือเป็นสิทธิในการเข้าถึงการรักษา แม้องค์การเภสัชกรรมจะมียาให้ แต่ส่งเข้าระบบไม่ได้ เพราะขั้นตอนที่ยุ่งยากของพระราชบัญญัติจัดซื้อจัดจ้างและการบริหารพัสดุภาครัฐ
“เราจะทำหนังสือขอเข้าพบเลขาฯ ประกันสังคม (นายอนันต์ชัย อุทัยพัฒนาชีพ) ว่าจะปล่อยให้ผู้ป่วยอยู่ในภาวะวิกฤตแบบนี้ไม่ได้ ต้องแสดงความรับผิดชอบในเรื่องนี้ หากหาทางออกให้เราไม่ได้ อาจต้องให้ผู้ติดเชื้อฯ มานอนกันที่หน้าสำนักงานประกันสังคม เพราะแม้ตอนนี้เรายังไม่ตาย ก็เหมือนตาย” ประธานเครือข่ายผู้ติดเชื้อฯ กล่าว