ตัวแทนมูลนิธิเข้าถึงเอดส์และเครือข่ายผู้ติดเชื้อเอชไอวี/เอดส์ ประเทศไทย ยื่นคำคัดค้านคำขอรับสิทธิบัตรยารักษาโรคไวรัสตับอักเสบซีเป็นฉบับที่ 3 ต่อสำนักสิทธิบัตร กรมทรัพย์สินทางปัญญา กระทรวงพาณิชย์ หวังสกัดกั้นสิทธิบัตรด้อยคุณภาพ เพื่อให้ยาชื่อสามัญในยาชนิดเดียวเข้ามาแข่งขันและราคาถูกลง
เมื่อวันที่ 11 เม.ย. 2560 เวลา 10:00 น. ตัวแทนภาคประชาสังคมกว่า 30 คนยื่นเอกสารคำคัดค้านคำขอรับสิทธิบัตรเลขที่ 1401002830 ซึ่งเป็นคำขอฯ ที่ยื่นโดยตัวแทนของบริษัทยากิลิแอตในยารักษาโรคไวรัสตับอักเสบซีที่มีชื่อสามัญทางยาว่า “โซฟอสบูเวียร์”
นายเฉลิมศักดิ์ กิตติตระกูล เจ้าหน้าที่รณรงค์การเข้าถึงยา มูลนิธิฯ ให้ข้อมูลว่า ยาโซฟอสฯ ตัวเดียว มีการยื่นขอสิทธิบัตรถึง 13 ฉบับ โดยก่อนหน้านี้ มูลนิธิฯ ได้ยื่นคัดค้านคำขอฯ ไปแล้ว 2 ฉบับภายใน 90 วันหลังวันประกาศโฆษณา และยื่นเอกสารข้อมูลเพื่อประกอบการพิจารณาให้ยกคำขอฯ อีก 2 ฉบับ เนื่องจากยื่นคัดค้านไม่ทัน
“ในต่างประเทศมีการยื่นคัดค้านในลักษณะเดียวกัน โดยสำนักสิทธิบัตรในอียิปต์ จีน เยอรมนี และบราซิลไม่ให้สิทธิบัตรยาโซฟอสบูเวียร์ไปแล้วหลายฉบับ ซึ่งเป็นข้อมูลส่วนหนึ่งที่เราได้ยื่นให้กับสำนักสิทธิบัตรของไทยด้วย” นายเฉลิมศักดิ์ กล่าว
ด้านนายนิมิตร์ เทียนอุดม ผู้อำนวยการมูลนิธิเข้าถึงเอดส์ กล่าวว่า เครือข่ายที่ติดตามเรื่องการเข้าถึงยามีความเป็นห่วงอย่างมาก เพราะทราบมาว่า หลังวันหยุดสงกรานต์จะมีการประกาศคำสั่ง คสช. เพื่อปล่อยคำขอสิทธิบัตรที่ค้างเกิน 5 ปี แม้ว่าทางเครือข่ายจะให้ข้อมูลกับรองนายกฯ วิษณุ เครืองาม ที่ถูกมอบหมายให้ดูแลเรื่องนี้แล้วก็ตาม ว่าจะมีผลกระทบรุนแรงต่อค่ายา งบประมาณแผ่นดิน และระบบสวัสดิการรักษาพยาบาลทุกระบบ จึงไม่อาจนิ่งนอนใจได้
“จากที่ประชุมร่วมกัน รองนายกฯ วิษณุ ซึ่งเป็นประธาน กล่าวว่าคงต้องมาเจอกันอีกหลายรอบกว่าจะได้ข้อยุติ เราก็รออยู่ว่าจะมีการนัดประชุมครั้งต่อไปเมื่อไหร่และยังไม่ได้หารือกันอีก แต่กลับมีข่าวออกมาว่าจะใช้ มาตรา 44 เร่งออกสิทธิบัตรหลังสงกรานต์ เช่นนี้เท่ากับกำลังโกหกหลอกลวงพวกเราที่ร่วมประชุมในวันนั้น” นายนิมิตร์ ให้ความเห็น
ผู้อำนวยการมูลนิธิฯ กล่าวต่อไปว่า แม้ว่าจะมีรัฐธรรมนูญฉบับใหม่แล้วก็ตาม แต่ภายใต้มาตรา 265 รัฐบาลยังคงใช้มาตรการในลักษณะเดียวกับมาตรา 44 ได้อยู่ ดังนั้น ภาคประชาสังคมยังต้องติดตามอย่างใกล้ชิดและจะคัดค้านอย่างถึงที่สุด หากเร่งปล่อยสิทธิบัตรที่ด้อยคุณภาพ หรือไม่เหมาะสมออกมา
ทั้งนี้ ในคำคัดค้านฯ ระบุว่า คำขอฯ นี้ไม่สมควรได้รับสิทธิบัตรเพราะเป็นการขอจดสิทธิบัตรในเรื่องการบำบัดรักษาโรคไวรัสตับอักเสบซี ซึ่งขัดกับมาตรา 9 ของพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) สิทธิบัตร
นอกจากนี้ คำขอฯ ดังกล่าวยังขอการคุ้มครองการนำยาโซฟอสบูเวียร์ไปผสมกับยาไรบาไวริน แล้วอ้างว่ามีขั้นตอนการประดิษฐ์ที่สูงขึ้น ทั้งๆ ที่ในเอกสารคำขอฯ ไม่ได้ชี้แจงหรือพิสูจน์ให้เห็นว่า การผสมยาทั้งสองตัวเข้าด้วยกันจะเสริมฤทธิ์ทำให้การรักษามีประสิทธิภาพดีขึ้นได้อย่างไร