พรรณอุมา สีหะจันทร์ www.thaiplus.net
ยิ่งใกล้วันเอดส์โลก (๑ ธันวาคม) เท่าไหร่ เครือข่ายผู้ติดเชื้อเอชไอวี/เอดส์ ประเทศไทย ก็ยิ่งได้รับเรื่องร้องเรียนมาว่า บริษัทแห่งนั้นแห่งนี้ตรวจเลือดเอชไอวีพนักงานก่อนรับเข้าทำงาน
ทุกรายที่แจ้งเรื่องมามักถามว่า “ทำไมเขาต้องตรวจด้วย?”
คำตอบที่เราได้จากหลายๆ ครั้งที่เข้าไปพูดคุยกับผู้บริหารของบริษัทต่างๆ นั้นคือ “อคติ” ต่อเอชไอวี/เอดส์ อคติที่เกิดจากความไม่รู้ข้อมูลก็ส่วนหนึ่ง แต่ก็มีอีกหลายส่วนที่รู้ข้อมูลแล้ว แต่ก็ “รับไม่ได้”
ข้อมูล ข้อเท็จจริงในเรื่องเอชไอวี/เอดส์ คือ การทำงานร่วมกันกับผู้ติดเชื้อฯ ไม่ทำให้ติดเชื้อเอชไอวี การให้ผู้ติดเชื้อฯ ทำกับข้าว ล้างจาน ถือมีด แล่เนื้อ หรือประกอบอาหาร ไม่ทำให้คนกินอาหารได้รับเชื้อเอชไอวี การที่พนักงานต้อนรับส่วนหน้าของโรงแรมเป็นผู้ติดเชื้อฯ ไม่ทำให้ลูกค้าดูออกได้ว่าคนนี้มีเชื้อเอชไอวี เพราะการมีเชื้อฯ ดูไม่ออกจากลักษณะภายนอก การยืนจัดของในสโตร์ ผู้ติดเชื้อฯ ก็สามารถทำได้ เพราะผู้ติดเชื้อเอชไอวีมีร่างกายแข็งแรงได้เหมือนคนทั่วไปเพียงรักษาด้วยยาต้านไวรัส หรือแม้กระทั่งการทำงานกับระบบไอทีหรือคอมพิวเตอร์ ที่แทบไม่ต้องยุ่งเกี่ยวกับผู้คน ผู้ติดเชื้อเอชไอวีก็สามารถทำได้ โดยไม่ทำให้เชื้อไวรัสในตัววิ่งเข้าสู่ระบบคอมพิวเตอร์ของสำนักงานแต่อย่างใด!
แม้การพูดคุยเพื่อทำความเข้าใจกับผู้บริหารของบริษัทหลายๆ แห่งจะเป็นการให้ข้อมูลข้อเท็จจริงเรื่องการติดต่อของเอชไอวี/เอดส์ ภาวะสุขภาพของผู้ติดเชื้อฯ แต่ผู้บริหารบริษัททั้งหลายมักแก้เก้อด้วยการชี้แจงว่า “ทราบว่าเอชไอวีไม่ติดต่อจากการทำงาน แต่เรากลัวลูกค้าจะรับไม่ได้”
คำถามคือ ลูกค้าจะรู้ได้อย่างไร ว่าพนักงานคนไหนมีเชื้อเอชไอวี เพราะขนาดผู้บริหารบริษัทยังดูไม่ออก จึงใช้วิธีบังคับตรวจเลือดหาเชื้อเอชไอวีก่อนรับเข้าทำงานเลยมิใช่หรือ?
ช่วงก่อนหน้านี้ มีบริษัทขายอาหารขนาดใหญ่แห่งหนึ่งไม่รับผู้ติดเชื้อฯ เข้าทำงาน โดยให้เหตุผลว่า ร้านเขาทำอาหาร ไม่ได้ทำรองเท้า จึงรับผู้ติดเชื้อฯ เข้าทำงานไม่ได้ ทางเครือข่ายผู้ติดเชื้อฯ จึงจัดกิจกรรมรณรงค์กับสาธารณะบริเวณอนุสาวรีย์ชัยสมรภูมิ โดยจัดให้มีการทำอาหารด้วยฝีมือของพ่อครัวแม่ครัวที่เป็นผู้ติดเชื้อเอชไอวี เพื่อแจกจ่ายให้ประชาชนที่มาร่วมงาน ซึ่งผลของการจัดกิจกรรมในครั้งนั้น อาหารกว่า ๓๐๐ ชุดจากบู๊ธของเครือข่ายผู้ติดเชื้อฯ ภาคต่างๆ หมดภายในระยะเวลาไม่กี่ชั่วโมง
ผลพวงของกิจกรรมนี้ ทำให้เราเห็นว่า ชาวบ้านร้านตลาดทั่วๆ ไป เขาไม่ได้กังวล หรือรังเกียจในการใช้ชีวิตอยู่ร่วมกับผู้ติดเชื้อฯ เลย คงมีแต่ “ผู้มีอำนาจ” “ผู้กำหนดนโยบาย” นี่ละมั้ง ที่มักรังเกียจ กีดกันผู้คนกันเอง โดยใช้ผลเลือดมาเป็นตัวตัดสินเพื่อเลือกรับคนเข้าทำงาน
“ลดติด ลดตาย ลดตีตรา” นโยบายเพื่อลดการติดเชื้อรายใหม่ ลดการตาย และลดการตีตราผู้ติดเชื้อเอชไอวี ซึ่งเป็นนโยบายของประเทศ โดยหวังให้บรรลุในอีก ๔ ปีข้างหน้า (ปี ๒๐๒๐)
ปีนี้ จะหมดปี ๒๐๑๖ แล้ว เรายังได้รับเรื่องร้องเรียนกันอยู่เลย และแนวโน้มหลายบริษัทก็ไม่มีทีท่าจะปรับเปลี่ยน แล้วนโยบายดังกล่าวของประเทศจะสำเร็จลงได้อย่างไร?
หน่วยงานรัฐ อย่างกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) ควรออกมาเป็นแนวหน้าในการจัดการปัญหานี้ดีไหม? จะได้เป็นตัวอย่างให้กับบริษัท ห้างร้าน หรือหน่วยงานต่างๆ เช่น ประกาศเนื่องในวันเอดส์โลกปีนี้ว่า ทุกหน่วยงานของ สธ.ไม่มีการตรวจเลือดหาเชื้อเอชไอวีเพื่อรับเข้าทำงาน หรือพ่อค้า แม่ค้าที่ขายอาหารในโรงอาหารของ สธ.ก็ไม่มีการตรวจเลือดฯ และถึงแม้จะรู้ว่าใครมีเชื้อฯ ก็ยังให้ทำงานตามเดิมได้ โดยไม่ไล่ออก
หรือ สธ.อาจร่วมมือกับกรมการจัดหางาน กระทรวงแรงงาน ส่งสัญญาณไปยังผู้ประกอบการไม่ให้ตรวจเลือดหาเชื้อเอชไอวีพนักงาน เพราะเป็นนโยบายของประเทศ หรือรณรงค์ต่อผู้ประกอบการว่าการตรวจเลือดเอชไอวีพนักงานนั้นไม่มีประโยชน์สำหรับการรับคนเข้าทำงาน และถือเป็นการละเมิดสิทธิมนุษยชน โดย สธ.รับรองว่าผู้ติดเชื้อเอชไอวีที่เข้าสู่การรักษาด้วยยาต้านไวรัสนั้นมีประสิทธิภาพในการทำงานไม่ต่างกับคนที่ผลเลือดเป็นลบแต่อย่างใด
“พี่ครับ พอมีที่ไหนบอกได้ไหมครับว่าไม่ตรวจเลือดเอชไอวี ตอนนี้คุณภาพชีวิตแย่มากเลย เพราะไม่มีงานทำ สมัครที่ไหนก็โดนตรวจหมด”
เราคงได้แต่นั่งอึ้งกับคำถามนี้ เพราะไม่รู้จะตอบว่ายังไงดี หรือเราต้องมาช่วยกันรณรงค์ว่า “มีเอชไอวีก็ทำงานได้ แต่อย่าให้เขารู้นะ”
ช่างไม่ตลกเอาเสียเลย! T.T