เมื่อวันที่ ๒๗ มกราคม ที่ผ่านมา มูลนิธิเข้าถึงเอดส์ เครือข่ายผู้ติดเชื้อเอชไอวี/เอดส์ ประเทศไทย พร้อมด้วยเครือข่ายผู้ป่วย และภาคประชาสังคมด้านสุขภาพและการเข้าถึงยา ประมาณ ๗๐ คนชุมนุมหน้ากรมทรัพย์สินทางปัญญา กระทรวงพาณิชย์ เพื่อคัดค้านการแก้ไขพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) สิทธิบัตร
นายนิมิตร์ เทียนอุดม ผู้อำนวยการมูลนิธิเข้าถึงเอดส์ กล่าวว่า กรมทรัพย์สินทางปัญญาแก้ไข พ.ร.บ.สิทธิบัตรครั้งนี้เอาใจสหรัฐอเมริกาและนักลงทุนชาวต่างชาติ โดยสอดไส้เนื้อหา TPP เช่น การตัดขั้นตอนการคัดค้านก่อนออกสิทธิบัตร ที่เป็นกระบวนการตรวจสอบโดยบุคคลภายนอก โดยอ้างว่า ทำให้ล่าช้า ทั้งที่จริงตั้งแต่มีกฎหมายฉบับนี้มีการคัดค้านไม่ถึง ๑% ทั้งยังจะเปิดช่องให้ผู้ขอสิทธิบัตรแก้ไขสาระสำคัญคำขอได้ แต่กลับไม่พยายามแก้ไขให้กฎหมายสิทธิบัตรมีความสมดุลระหว่างการดูแลผู้ทรงสิทธิและพิทักษ์ประโยชน์สาธารณะ
“การแก้ไข พ.ร.บ.สิทธิบัตรแต่ละครั้งไม่เคยเป็นไปเพื่อประโยชน์ประชาชนเลย ครั้งนี้เป็นอีกหนึ่งครั้งที่กรมทรัพย์สินฯ ตัดเครื่องมือของประชาชนที่มีไว้เพื่อสร้างความสมดุลของระบบทรัพย์สินทางปัญญา กรมฯ ทำกฎหมายเพื่อเอาใจนายทุน การตั้งคณะกรรมการแก้ไขกฎหมาย มีตัวแทนเอกชน บริษัทยาข้ามชาติ แต่ไม่มีกรรมการภาควิชาการและภาคประชาชน” นายนิมิตร์ กล่าว
ผู้อำนวยการมูลนิธิฯ ให้ความเห็นว่า การรับฟังความคิดเห็นของกรมฯ ก็ยังเป็นไปอย่างจำกัด รวมถึงการสอดไส้เนื้อหา TPP ครั้งนี้ เป็นการหลอกคณะรัฐมนตรีและสภานิติบัญญัติด้วย เพราะอ้างว่า ขอแก้ไขกฎหมายเพื่อยอมรับพิธีสารแก้ไขความตกลงทริปส์ด้านการสาธารณสุขเพื่อการทำซีแอลส่งออกได้
ด้านนายอนันต์ เมืองมูลไชย ประธานเครือข่ายผู้ติดเชื้อฯ แสดงจุดยืนและเสนอข้อคิดเห็นของเครือข่ายผู้ป่วย ภาคประชาสังคมด้านสุขภาพและการเข้าถึงยา ในการแก้ไขกฎหมายสิทธิบัตร ดังนี้
- การแก้ไข พ.ร.บ.สิทธิบัตรถือเป็นโอกาสที่ประเทศไทยจะได้ปรับปรุงแก้ไขกฎหมายเพื่อสร้างความสมดุลระหว่างการคุ้มครองประโยชน์สาธารณะและการคุ้มครองผู้ประดิษฐ์คิดค้น ซึ่งเป็นปรัชญาพื้นฐานของ พ.ร.บ.สิทธิบัตร ดังนั้นจึงจำเป็นอย่างยิ่งที่เครือข่ายภาคประชาสังคม ซึ่งเป็นผู้ได้รับผลกระทบโดยตรงจะต้องมีส่วนร่วมอย่างเข้มแข็งในกระบวนการแก้ไขครั้งนี้ และภาคประชาสังคมขอยืนยันว่าต้องมีตัวแทนเครือข่ายภาคประชาสังคมเข้าร่วมเป็นคณะกรรมการพัฒนากฎหมายสิทธิบัตร ที่กรมทรัพย์สินทางปัญญาแต่งตั้งขึ้น และมีส่วนร่วมในช่องทางอื่นๆ ที่มีอยู่ควบคู่กันไป
- กําหนดให้การคัดค้านก่อนออกสิทธิบัตร (Pre-grant Opposition) มีระยะเวลานับตั้งแต่วันประกาศโฆษณาไปจนถึงวันที่พิจารณาได้รับสิทธิบัตร
- กำหนดให้คัดค้านหลังออกสิทธิบัตร (Post-grant Opposition) ภายในระยะเวลา ๑ ปีหลังจากวันที่ได้รับสิทธิบัตร
- ลดระยะเวลาการยื่นคําขอให้ตรวจสอบการประดิษฐ์ให้สั้นลง จากที่กําหนดไว้ ๕ ปีนับแต่วันประกาศโฆษณา เป็น ๑ ปี
- ในกรณีสิ่งประดิษฐ์ที่เกี่ยวข้องกับเภสัชภัณฑ์ ให้อธิบดีสามารถขอให้สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา กระทรวงสาธารณสุข และคณะเภสัชศาสตร์ สามารถตรวจสอบการประดิษฐ์ได้
- กำหนดในกฎหมายให้ชัดเจนว่า การขอแก้ไขคำขอรับสิทธิบัตร ต้องไม่แก้ไขในสาระสำคัญของข้ออ้างสิทธิ
- เพิ่มบทนิยาม คำว่า “เภสัชภัณฑ์” ให้หมายความว่า ยาตามกฎหมายว่าด้วยยา และให้หมายความรวมถึงน้ำยาหรือชุดทดสอบต่างๆ ที่ใช้ในการวินิจฉัย ป้องกัน ติดตาม บำบัด บรรเทา หรือรักษาโรค
- เพิ่มบทบัญญัติกรณีที่ไม่ถือว่าเป็นการประดิษฐ์ที่มีขั้นการประดิษฐ์สูงขึ้น (แก้ไขเพิ่มเติมมาตรา ๗ วรรคสอง) ดังนี้ “กรณีการประดิษฐ์เกี่ยวกับเภสัชภัณฑ์ที่เป็นการประดิษฐ์ต่างๆ ของสารที่รู้แล้ว เช่น เกลือ เอสเทอร์ อีเทอร์ โพลีมอร์ฟ เมตะโบไลท์ สารบริสุทธิ์ ขนาดอนุภาคไอโซเมอร์ ส่วนผสมของไอโซเมอร์ สารประกอบเชิงซ้อน สารผสมและอนุพันธ์ของสารที่รู้แล้ว ไม่ถือว่าเป็นการประดิษฐ์ที่มีขั้นการประดิษฐ์ที่สูงขึ้น”
- เพิ่มกลไกการควบคุมราคายาสิทธิบัตร ด้วยการกำหนดให้มีคณะกรรมการควบคุมราคายาสิทธิบัตร เช่นเดียวกับที่มีใน พ.ร.บ.สิทธิบัตรของประเทศแคนาดา
- เพิ่มบทบัญญัติเกี่ยวกับการใช้สิทธิตามสิทธิบัตรเภสัชภัณฑ์ให้ชัดเจน เมื่อมีการขอใช้สิทธิโดยเอกชน ผู้ทรงสิทธิบัตรมีภาระการพิสูจน์ด้วยการส่งข้อมูลสิทธิบัตรของยาตัวนั้นทั้งหมด การนำเข้า การขาย ราคา และอื่นๆ ตามที่กรมทรัพย์สินทางปัญญา ใช้ประกอบการพิจารณาให้มีการใช้สิทธิตามสิทธิบัตร
- การใช้สิทธิตามสิทธิบัตรของหน่วยงานรัฐ ให้ครอบคลุมหน่วยงานรัฐในลักษณะรัฐวิสาหกิจ เช่น องค์การเภสัชกรรม และหน่วยงานรัฐตาม พ.ร.บ. เช่น สำนักงานสุขภาพแห่งชาติ สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ เป็นต้น
นอกจากนี้ เครือข่ายฯ ยังมีข้อเสนอแนะเพิ่มเติม คือกรมทรัพย์สินทางปัญญา ควรจะปรับปรุงฐานข้อมูลและระบบการสืบค้นข้อมูลผ่านคอมพิวเตอร์ออนไลน์ เพื่อให้สามารถสืบค้นคำขอรับสิทธิบัตรและสิทธิบัตรได้สะดวก รวดเร็ว และให้ตรวจสอบข้อมูลให้ถูกต้องและเป็นปัจจุบันอยู่เสมอ ในกรณีคำขอฯ หรือสิทธิบัตรที่เกี่ยวกับยาและเวชภัณฑ์ต้องมีรหัสหรือหมายเลข เพื่อให้สืบค้นได้ง่ายว่าคำขอฯ หรือสิทธิบัตรฉบับนั้นอ้างข้อถือสิทธิ์เกี่ยวกับยาและเวชภัณฑ์ใด
ไม่เพียงเท่านั้น ระบบฐานข้อมูลและการสืบค้นควรเอื้อให้สาธารณะและบริษัทยาอื่นๆ สามารถเข้าถึงข้อมูลที่ถูกต้องได้อย่างสะดวก รวดเร็ว หากพบว่ามีคำขอฯ ที่ด้อยคุณภาพและไม่มีคุณสมบัติที่สมควรได้รับสิทธิบัตร จะได้ดำเนินการยื่นคัดค้านคำขอฯ ได้ทันท่วงทีในระยะเวลาที่กฎหมายกำหนด ซึ่งจะเป็นการส่งเสริมการผลิตยาภายในประเทศ โดยบริษัทยาหรือหน่วยงานภาครัฐของประเทศไทย อันจะนำไปสู่การสร้างความมั่นคงด้านยาและเวชภัณฑ์ของประเทศ
ทั้งนี้ เครือข่ายผู้ป่วย ภาคประชาสังคมด้านสุขภาพและการเข้าถึงยา จัดกิจกรรม “นอนตาย” หน้าห้องประชุมเป็นเวลา ๑ ชั่วโมง
รายละเอียดเพิ่มเติมติดต่อ
นิมิตร์ เทียนอุดม ๐๘๑ ๖๖๖ ๖๐๔๗
อนันต์ เมืองมูลไชย ๐๘๑ ๐๒๕ ๖๕๗๐
กรรณิการ์ กิจติเวชกุล ๐๘๙ ๕๐๐ ๓๒๑๗