เมื่อวันที่ 19 พฤศจิกายน ที่ผ่านมา เครือข่ายผู้ติดเชื้อเอชไอวี/เอดส์ ประเทศไทย และมูลนิธิเข้าถึงเอดส์ แถลงข่าว “ภาคประชาชนเคลือบแคลงใจบทบาทกรมทรัพย์สินทางปัญญาเอื้อประโยชน์บริษัทยาข้ามชาติจริงหรือ?” ที่โรงแรมริชมอนด์ นนทบุรี
นายเฉลิมศักดิ์ กิตติตระกูล เจ้าหน้าที่ประสานงานรณรงค์การเข้าถึงยา มูลนิธิเข้าถึงเอดส์ กล่าวว่า กรณียาโซฟอสบูเวียร์ ที่เป็นยารักษาโรคไวรัสตับอักเสบซีที่กำลังเป็นข่าวไปทั่วโลก เพราะมีราคาแพงถึงเม็ดละ 30,000 บาท และมีข้อมูลทางเภสัชศาสตร์ที่เชื่อได้ว่าไม่ได้เป็นยาใหม่และไม่สมควรที่จะได้รับสิทธิบัตร เพื่อไม่ให้เกิดสิทธิบัตรที่ไม่สมควรซึ่งจะทำให้บริษัทยาผูกขาดการขายได้ถึง 20 ปี การยื่นคัดค้านคำขอตามสิทธิที่กฎหมายกำหนดไว้จึงเป็นแนวทางในการป้องกัน
“แต่เรากลับพบอุปสรรคที่ใช้ช่องว่างทางกฎหมาย ไม่ว่าการกำหนดระยะเวลายื่นคัดค้านที่ให้เพียง 90 วัน ซึ่งถือว่าสั้นมาก รวมทั้งปัญหาการค้นข้อมูลคำขอรับสิทธิบัตรจากกรมฯ ที่ไม่มีกำหนดเวลาในการออกประกาศที่แน่นอน รวมทั้งข้อมูลบนเว็บไซต์ของกรมฯ ไม่เป็นปัจจุบัน จึงทำให้คัดค้านคำขอสิทธิบัตรยา เป็นเรื่องยาก และแทบเป็นไปไม่ได้เลยที่จะรวบรวมเอกสารหลักฐานจำนวนมากเพื่อหักล้างข้ออ้างถือสิทธิ์คุ้มครองในคำขอเหล่านั้นได้ทันเวลา” เจ้าหน้าที่ประสานงานฯ กล่าว
นายเฉลิมศักดิ์กล่าวอีกว่า ในกรณีข้อมูลคำขอสิทธิบัตรที่ไม่เป็นปัจจุบัน มูลนิธิฯ ได้พยายามสืบค้นตามช่องทางที่กรมฯ กำหนด รวมทั้งการทำจดหมายเพื่อสอบถามอย่างเป็นทางการ แต่พบว่ายังมีความไม่ชัดเจน ข้อมูลสับสนและผิดพลาด ตัวอย่างกรณียาโซฟอสบูเวียร์ โดยข้อมูลที่สืบค้นได้ไม่ตรงกับของกรมฯ ในเรื่องจำนวนคำขอฯ ที่ปรากฏบนหน้าสื่อต่างๆ และเมื่อวันที่ 22 กรกฎาคม ที่ผ่านมา มูลนิธิฯ ส่งจดหมายไปถึงกรมฯ เพื่อขอคำยืนยัน มูลนิธิฯ ได้รับจดหมายตอบลงวันที่ 24 กันยายน ระบุว่า มีคำขอฯ ที่เกี่ยวกับยาโซฟอสฯ ทั้งหมด 13 ฉบับ ขณะเดียวกัน ได้ขอให้ผู้เชี่ยวชาญตรวจสอบซ้ำอีกครั้งและพบว่ามี 2 ใน 13 คำขอฯ ไม่น่าที่จะใช่คำขอฯ ของยาโซฟอสฯ ข้อมูลจึงไม่น่าที่จะถูกต้อง
“นอกจากยาโซฟอสฯ แล้ว เรายังพบว่าคำขอฯ ของยาต้านไวรัสสูตรสำรองที่กำลังพิจารณาคำขอฯ อยู่ ข้อมูลสถานะการพิจารณาฯ ที่ปรากฏบนเว็บไซต์ของกรมฯ เมื่อวันที่ 17 พฤศจิกายน ไม่ตรงกับข้อมูลในจดหมายลงวันที่ 6 ตุลาคม ที่กรมฯ ตอบกลับมา โดยมีข้อมูลสถานะไม่ตรงกันจำนวน 5 ฉบับ ซึ่งเป็นคำขอฯ สำหรับยาดารูนาเวียร์ ยาอาทาสนาเวียร์ และยาราลเท็คกราเวียร์ ทั้งนี้ ในคำขอฯ 5 ฉบับนั้น มีถึง 4 คำขอที่กรมฯ แจ้งสถานะในจดหมายตอบว่า “ละทิ้งคำขอ” แต่สถานะบนเว็บไซต์ยังคงเป็น “การประกาศโฆษณาและยังอยู่ในกระบวนการพิจารณาอนุมัติสิทธิบัตรของกรม” นายเฉลิมศักดิ์กล่าว
ด้านนายนิมิตร์ เทียนอุดม ผู้อำนวยการมูลนิธิเข้าถึงเอดส์ กล่าวว่า มูลนิธิฯ และเครือข่ายผู้ติดเชื้อฯ มีความสงสัยเคลือบแคลงใจอย่างยิ่ง ต่อประสิทธิภาพและบทบาทของกรมทรัพย์สินทางปัญญา ที่ควรมีหน้าที่พัฒนาระบบสืบค้นคำขอสิทธิบัตรเพื่อการคุ้มครองสิทธิผู้บริโภค และมีหน้าที่ต้องนำเสนอข้อมูลที่ถูกต้องและเป็นปัจจุบันสู่สาธารณะ ซึ่งกรมฯ ต้องทำควบคู่กับการคุ้มครองผู้ผลิต แต่สิ่งที่พบกลับไม่มีอะไรที่แสดงให้เห็นถึงความก้าวหน้าในการพัฒนาระบบเหล่านี้ ทั้งๆ ที่ภาคประชาสังคมซึ่งติดตามเรื่องนี้มาอย่างต่อเนื่องยาวนาน ได้มีการหยิบยกประเด็นนี้ขึ้นมาโดยตลอดในรอบหลายปีที่ผ่านมา
นายนิมิตร์ กล่าวเพิ่มเติมว่า กรณีตัวอย่างการติดตามการพิจารณาคำขอรับสิทธิบัตรฉบับหนึ่งของยาโซฟอสบูเวียร์ คำขอฯ เลขที่ 1001000775 มูลนิธิฯ ตั้งข้อสังเกตว่า เอกสารที่ยื่นขอรับสิทธิบัตรมีการแก้ไขวันที่ยื่นขอรับสิทธิบัตรจากวันที่ 24 พฤษภาคม 2553 เป็นวันที่ 20 พฤษภาคม 2553 มูลนิธิฯ ทำจดหมายถึงกรมทรัพย์สินทางปัญญาเพื่อขอคำชี้แจง กรมฯ มีจดหมายตอบ ลงวันที่ 6 ตุลาคม 2558 ชี้แจงว่า กรมฯ ได้ประกาศขยายระยะเวลาและการดำเนินการตามกฎหมายที่อยู่ในความดูแลของกรมทรัพย์สินทางปัญญาในช่วงที่มีการชุมนุมทางเมือง เมื่อวันที่ 4 มิถุนายน 2553 ซึ่งอนุญาตให้บุคคลใดที่ไม่อาจดำเนินการยื่นคำร้อง คำขอจดทะเบียนหรือดำเนินการอย่างหนี่งอย่างใดภายในระยะเวลาที่กฎหมายดังกล่าวกำหนดในช่วงระยะเวลาตั้งแต่วันที่ 17 – 25 พฤษภาคม 2553 อาจยื่นคำขอขยายระยะเวลาเพื่อดำเนินการส่วนหนึ่งส่วนใดที่ล่วงมาแล้วได้
“เราสังเกตว่า ประกาศดังกล่าวมีผลย้อนหลัง และมีการเปลี่ยนแปลงวันที่ยื่นคำขอฯ ซึ่งอาจมีผลให้เกิดการได้เปรียบเสียเปรียบในการที่จะหาหลักฐานข้อมูลอ้างอิงประกอบการยื่นคำขอรับฯ หรือการคัดค้านคำขอรับฯ ได้ ถึงแม้ว่าจะมีการประกาศออกมาและเป็นสิ่งที่สามารถกระทำได้ ในกรณีเกิดเหตุการณ์สุดวิสัย แต่จากสิ่งที่เราติดตามมาโดยตลอด ไม่ว่ากรณีที่มีการออกสิทธิบัตรที่ไม่สมควรได้รับสิทธิของกรมฯ การไม่มีแนวทางในการพัฒนาระบบฐานข้อมูลของกรมฯ ต่อกรณีดังกล่าว จึงเป็นเหตุให้เราเคลือบแคลงใจในการดำเนินงานของกรมฯ” ผู้อำนวยการมูลนิธิฯ กล่าว
นายสมชาย นามสพรรค ตัวแทนเครือข่ายผู้ติดเชื้อเอชไอวี/เอดส์ ประเทศไทย และเป็นผู้ที่ติดเชื้อไวรัสตับอักเสบซี กล่าวว่า เขาเป็นคนหนึ่งที่กำลังรอรักษาด้วยยาโซฟอสฯ ซึ่งเป็นยาที่กำลังถูกคัดค้านไม่ให้ได้รับสิทธิบัตรผูกขาดตลาดในหลายๆ ประเทศ แต่ด้วยระบบการพิจารณาคำขอรับสิทธิบัตรที่มีช่องโหว่แบบนี้ ทำให้สูญเสียโอกาสที่จะคัดค้าน และทำให้รัฐบาลไม่สามารถนำเข้าหรือผลิตยาชื่อสามัญที่มีราคาถูกมาใช้ในประเทศได้ ส่งผลให้คนจำนวนมากมีทางเลือกในการรักษาน้อยลง
ด้านนายอภิวัฒน์ กวางแก้ว ประธานเครือข่ายผู้ติดเชื้อฯ กล่าวว่า การสืบค้นข้อมูลและการยื่นคัดค้านฯ ให้ทันเวลาเป็นเรื่องยากมากพออยู่แล้ว และข้อมูลที่ไม่ถูกต้องยิ่งทำให้การคัดค้านและติดตามเพื่อให้องค์การเภสัชกรรมเตรียมผลิตยาชื่อสามัญออกมาได้ทันทีที่สิทธิบัตรหมดอายุหรือถูกยกเลิกคำขอฯ ยิ่งเป็นเรื่องยากขึ้นไปอีก ที่ผ่านมาพยายามเข้าพบทั้งผู้บริหารและเจ้าหน้าที่ของกรมฯ เพื่อขอให้มีการรีบเร่งตรวจสอบ และพัฒนาระบบ แต่ก็ยังไม่เห็นความคืบหน้า
“เครือข่ายผู้ติดเชื้อฯ และมูลนิธิเข้าถึงเอดส์ ขอให้กรมฯ รีบเร่งพัฒนาระบบ โดยต้องแสดงให้เห็นชัดเจนว่ามีแผนการพัฒนาระบบข้อมูลและการเข้าถึงข้อมูลที่ถูกต้องและทันเวลาอย่างไร และดำเนินการไปอย่างไรแล้ว รวมทั้งควรมีการแสดงให้เห็นถึงความก้าวหน้าในการนำคู่มือตรวจสอบคำขอสิทธิบัตรยาที่พัฒนาขึ้นและมีผลบังคับใช้แล้วให้เป็นรูปธรรม โดยเครือข่ายภาคประชาชนจะเฝ้าติดตามการทำงานของกรมฯ อย่างต่อเนื่องต่อไป” นายอภิวัฒน์ กล่าว