เครือข่ายผู้ติดเชื้อเอชไอวี/เอดส์ประเทศไทย และคณะกรรมการองค์การพัฒนาเอกชนด้านเอดส์ ขอประกาศเจตนารมณ์ เนื่องในวันเอดส์โลก วันที่ 1 ธันวาคม 2555 “การมีเชื้อเอชไอวีในร่างกายไม่ได้ทำให้คนๆหนึ่งสูญเสียศักดิ์ศรีและความเป็นมนุษย์ ขอเรียกร้องทุกภาคส่วนหยุดการละเมิดสิทธิ หยุดการตีตราและการเลือกปฏิบัติต่อผู้ติดเชื้อเอชไอวี”

ในขณะที่การดูแลรักษาผู้ติดเชื้อเอชไอวีและผู้ป่วยเอดส์ก้าวหน้าไปมาก ทำให้ผู้ติดเชื้อฯมีสุขภาพที่แข็งแรง มีชีวิตยืนยาวได้ จนสามารถกล่าวได้ว่า “เอดส์รักษาได้” แต่กระนั้นก็ตาม ยังมีการรังเกียจตีตราและเลือกปฏิบัติต่อผู้ติดเชื้อฯ เกิดขึ้น โดยได้แอบแฝงอยู่ในหลายรูปแบบ อันเป็นผลมาจากความเชื่อที่ว่า “ผู้ติดเชื้อฯไม่แข็งแรง” “ผู้ติดเชื้อฯ คือกลุ่มคนที่มีพฤติกรรมไม่เป็นที่ยอมรับของสังคม” รวมไปถึงความเข้าใจผิดว่า “เอชไอวีสามารถติดต่อกันได้ง่ายๆจากการใช้ชีวิตประจำวันร่วมกัน”

แม้สถานการณ์การรังเกียจในชุมชนจะลดหายไปบ้างแล้ว แต่กลับมีการตีตราที่แปรรูปแฝงอยู่ในหลายรูปแบบ ในทุกกลุ่มคน ทุกระดับการศึกษา ทุกเพศ ทุกวัย เช่น การที่มหาวิทยาลัยบางแห่ง มีนโยบายบังคับตรวจเลือดนักศึกษา เพื่อกีดกันไม่ให้นักศึกษาที่มีเชื้อเอชไอวีเรียนในบางคณะ รวมถึงสถานที่ทำงาน, บริษัทเอกชนบางแห่ง มีนโยบายบังคับตรวจเลือดก่อนรับเข้าทำงาน หากติดเชื้อฯ ก็จะไม่รับเข้าทำงาน เป็นต้น ทั้งนี้ นโยบายการบังคับตรวจเลือดเอชไอวี ไม่เพียงเป็นการละเมิดสิทธิมนุษยชนขั้นพื้นฐานอย่างรุนแรงเท่านั้น แต่ยังส่งผลต่ออนาคตและชีวิตของคน ที่ถูกจำกัดสิทธิเรื่องเรียน และการทำงาน

จากผลของการทำวิจัยเรื่องดัชนีการตีตราต่อผู้ติดเชื้อฯ โดยเครือข่ายผู้ติดเชื้อเอชไอวี/เอดส์ประเทศไทย ในปี 2553 โดยการสัมภาษณ์เชิงลึกในผู้ติดเชื้อฯ 233 รายพบว่า กว่าร้อยละ 26.18 เคยถูกปฏิเสธการจ้างงานด้วยเหตุผลเรื่องการติดเชื้อเอชไอวี และร้อยละ 32.19 เคยสูญเสียงานและรายได้เนื่องจากการติดเชื้อฯ และกว่าร้อยละ 47.21 เคยถูกละเมิดสิทธิในฐานะที่เป็นผู้ติดเชื้อเอชไอวี เป็นต้น แม้ว่างานวิจัยชิ้นนี้จะเป็นผลจากงานวิจัยที่ดำเนินการในช่วงปี 2553 แต่กลับพบว่ากรณีการละเมิดสิทธิยังคงดำรงอยู่และมีให้เห็นมาอย่างต่อเนื่อง

ดังนั้นเครือข่ายผู้ติดเชื้อฯ และเครือข่ายองค์กรพัฒนาเอกชนด้านเอดส์ จึงขอประกาศเจตนารมณ์เนื่องในวันเอดส์โลก ภายใต้ยุทธศาสตร์เอดส์แห่งชาติที่ประกาศว่า “ต้องลดจำนวนผู้ติดเชื้อฯรายใหม่ ต้องลดการตีตราและเลือกปฏิบัติ และต้องลดอัตราการเสียชีวิตด้วยเอดส์ลงจนเป็นศูนย์” (Getting to Zero) ดังนี้

1. ทุกหน่วยงานทั้งรัฐและเอกชน ต้องไม่มีการบังคับตรวจเลือดเอชไอวีทั้งก่อนและระหว่างการทำงาน

2. ทุกสถาบันด้านการศึกษา ต้องไม่ใช้เหตุแห่งการมีเชื้อเอชไอวี มาลิดรอนสิทธิด้านการศึกษา และต้องไม่มีการบังคับตรวจเลือดเอชไอวีไม่ว่าในกรณีใดทั้งสิ้น

3. รัฐบาลต้องดำเนินการให้เกิดการปฏิบัติที่มีประสิทธิภาพเพื่อส่งเสริมให้เกิดการเรียนรู้และสร้างความเข้าใจใหม่ต่อการป้องกันการรับ-ถ่ายทอดเชื้อเอชไอวีว่าเป็นหน้าที่ของทุกคน ไม่ใช่ผลักภาระการป้องกันให้กับผู้ติดเชื้อฯเพียงลำพัง รวมทั้งการส่งเสริมความเข้าใจที่ถูกต้อง เกี่ยวกับผู้ติดเชื้อเอชไอวี/ผู้ป่วยเอดส์

4. รัฐบาลต้องมีมาตรการที่เป็นรูปธรรมและต่อเนื่อง รวมทั้งต้องมีการจัดตั้งหรือส่งเสริมให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องสามารถปฏิบัติการให้สอดคล้องกับเจตนารมณ์ของคณะกรรมการแห่งชาติว่าด้วยการป้องกันและแก้ไขปัญหาเอดส์ที่ต้องการ “ลดให้เป็นศูนย์” ทั้งในด้านการตีตราเลือกปฏิบัติ ด้านการรักษา และการป้องกัน โดยต้องคำนึงถึงการมีส่วนร่วมของทุกภาคส่วนอย่างรอบด้าน ซึ่งมาตรการเร่งด่วนคือ การจัดบริการเพื่อลดอันตรายจากการใช้ยาเสพติดที่รอบด้าน (Comprehensive Harm Reduction) เป็นไปตามมาตรฐานสากล และการขยายการรักษาด้วยยาต้านไวรัสเอชไอวีในระบบประกันสุขภาพแรงงานข้ามชาติ

“มีเอชไอวีก็เรียนได้ ทำงานได้”

เครือข่ายผู้ติดเชื้อเอชไอวี/เอดส์ ประเทศไทย
คณะกรรมการองค์การพัฒนาเอกชนด้านเอดส์