เมื่อวันที่ 2 ตุลาคม ที่ผ่านมา เครือข่ายภาคประชาชน ประกอบด้วย เครือข่ายผู้ติดเชื้อเอชไอวี/เอดส์ ประเทศไทย เครือข่ายผู้ใช้ยา เครือข่ายผู้บริโภค เครือข่ายเกษตรกรรมทางเลือก และองค์กรพัฒนาเอกชนด้านเอดส์ กว่า 600 คน ชุมนุมหน้ากรมทรัพย์สินทางปัญญา กระทรวงพาณิชย์ เพื่อยื่นข้อเสนอต่อการเจรจาข้อตกลงการค้าเสรี (FTA) ให้กับนายบุญทรง เตริยาภิรมย์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์
นายนิมิตร์ เทียนอุดม ผู้อำนวยการมูลนิธิเข้าถึงเอดส์ กล่าวว่า การมารวมตัวกันครั้งนี้ เนื่องจากครบรอบ 10 ปี ของการเคลื่อนไหวเรียกร้องให้รัฐบาลประกาศใช้มาตรการบังคับใช้สิทธิหรือซีแอลกับยาดีดีไอ (ddI) ตั้งแต่ปี 2542 จนนำไปสู่การฟ้องร้องให้แก้ไขและเพิกถอนสิทธิบัตรยาต้านไวรัส ddI ซึ่งถือเป็นปฐมบทของการต่อสู้เพื่อการเข้าถึงยาของไทยและเป็นแรงบันดาลใจไปทั่วโลก นอกจากนี้ยังเป็นจุดเริ่มต้นของการติดตามตรวจสอบการเจรจาการค้าเสรีที่ประเทศพัฒนาแล้ว ทั้งกับสหรัฐอเมริกา และสหภาพยุโรปพยายามกดดันให้ประเทศไทยต้องให้ความคุ้มครองด้านทรัพย์สินทางปัญญาที่เกินไปกว่าความตกลงทริปส์ที่เป็นมาตรฐานสากล
ผู้อำนวยการมูลนิธิเข้าถึงเอดส์ ชี้ว่า สิ่งที่น่าเป็นห่วง คือการยอมเกินกว่าข้อตกลงที่ว่าด้วยการค้าที่เกี่ยวกับทรัพย์สินทางปัญญา (ทริปส์พลัส) เช่น การขอจดสิทธิบัตรสิ่งมีชีวิต การยืดระยะเวลาในการคุ้มครองสิทธิบัตรยาจาก 20 ปี ให้เป็น 25 ปี หรือการผูกขาดข้อมูลทางยา (Data Exclusivity) และการยึดจับยาที่ต้องสงสัยว่าละเมิดทรัพย์สินทางปัญญา ณ จุดชายแดน จะขัดขวางการเข้าถึงยาของผู้ป่วย และทำลายอุตสาหกรรมยาชื่อสามัญ
“สิ่งสำคัญคือข้อตกลงนี้มันเกี่ยวกับเรื่องสุขภาพของคน ทุกคนมีโอกาสป่วย และใช้กับยาทุกชนิด ทุกโรค เช่น โรคไต หรือโรคมะเร็ง ที่ยาบางตัวยังติดสิทธิบัตร ทำให้มีราคาแพง เราไม่ได้เรียกร้องเฉพาะยา แต่เรียกร้องให้รัฐบาลทำกติกาในเรื่องสุขภาพ ซึ่งจะครอบคลุมคนทุกคน แค่ยอมรับการผูกขาดข้อมูลทางยา งานวิจัยก็ชี้ชัดว่า จะทำให้ไทยต้องจ่ายค่ายาแพงมากกว่า 80,000 ล้านบาทต่อปี” ผู้อำนวยการฯ กล่าวและว่า “จะเอาชีวิตผู้คนไปแลกให้ได้สิทธิจีเอสพีส่งออกไก่-กุ้ง และอื่นๆ มูลค่ารวม 70,000 กว่าล้านบาท มันไม่คุ้มกัน”
นายอภิวัฒน์ กวางแก้ว ประธานเครือข่ายผู้ติดเชื้อฯ กล่าวถึงข้อเสนอว่า ในกรอบการเจรจาเอฟทีเอต้องไม่มีระดับการคุ้มครองทรัพย์สินทางปัญญามากไปกว่าข้อผูกพันในข้อตกลงทริปส์ ขององค์การการค้าโลก และประเทศไทยต้องไม่เข้าร่วมเป็นภาคีภายใต้อนุสัญญาการคุ้มครองพันธุ์พืชยูปอฟ และสนธิสัญญาบูดาเปส ว่าด้วยการฝากจุลชีพในการขอรับสิทธิบัตร
“ขณะนี้ สหภาพยุโรปประกาศเลิกกดดันอินเดียให้ต้องยอมรับทริปส์พลัสในเอฟทีเอแล้ว โดยระบุว่า เพราะจะกระทบกับการเข้าถึงยาชื่อสามัญในราคาที่เป็นธรรม ดังนั้นผู้เจรจาฝ่ายไทย ควรเจรจาให้ฉลาดอย่างผู้เจรจาอินเดียบ้าง ไม่ใช่ยอมทุกเรื่อง แลกทุกอย่างแม้แต่ชีวิตของคนในชาติ” นายอภิวัฒน์กล่าว
ประธานเครือข่ายฯ กล่าวต่อไปว่า การเจรจาเอฟทีเอต้องเป็นไปตามเจตจำนงของรัฐธรรมนูญปี พ.ศ. 2550 มาตรา 190 ที่ว่าด้วยการเจรจาใดๆ ที่มีผลกระทบต่อประชาชน ต้องนำเรื่องนั้นๆ เข้าสู่สภาเพื่อขอความเห็นชอบ โดยต้องนำร่างกรอบเจรจามาทำประชาพิจารณ์ และต้องยึดการประเมินผลกระทบด้านสุขภาพ (HIA) ซึ่งสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) และสำนักงานคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติกำลังดำเนินการอยู่
“นอกจากนี้ เราได้มาติดตามและเร่งให้กรมทรัพย์สินทางปัญญาพัฒนาและนำคู่มือการพิจารณาคำขอสิทธิบัตรยามาใช้โดยเร็ว เพื่อขจัดคำขอสิทธิบัตรยาแบบไม่มีวันสิทธิสุด หรือ evergreening patent ลดการผูกขาดตลาดที่ไม่เป็นธรรม และส่งเสริมการเข้าถึงยาที่มีคุณภาพได้เร็วขึ้น” นายอภิวัฒน์กล่าว
ทั้งนี้ ระหว่างการรณรงค์เคลื่อนไหว ที่มีผู้ติดเชื้อเอชไอวีจากทั่วประเทศมารวมตัวกันใช้พื้นที่หน้ากรมทรัพย์สินทางปัญญา กลางกระทรวงพาณิชย์ จัดกิจกรรมได้มีการรำลึกถึงการต่อสู้เรียกร้องเพื่อให้เพื่อนผู้ติดเชื้อฯ เข้าถึงยาต้านไวรัสสมัย ddI เมื่อ 10 กว่าปีที่แล้ว, บทเรียนจากคดียาดีดีไอสู่การเคลื่อนไหวเพื่อการเข้าถึงยา และยังมีการทำกิจกรรม die in คือการที่ผู้ชุมนุมทำท่านอนตายรอบป้ายตั้งรูปนายกิตติรัตน์ ณ ระนอง รองนายกรัฐมนตรี ที่ทำท่าอุ้มกุ้ง-ไก่ และมีคำพูดว่า “ส่งออกต้องได้ 15% เราพร้อมแลกชีวิตผู้ป่วยกับจีเอสพี”
ทางด้านองค์การหมอไร้พรมแดน สากล ได้ใช้วาระครบรอบ 10 ปีคดียาดีดีไอกล่าวถึงกระบวนการเคลื่อนไหวของภาคประชาสังคมในประเทศ เพื่อเรียกร้องให้มีการเข้าถึงยาจำเป็นในราคาที่ไม่แพง คดีฟ้องการแก้ไขคำขอจดสิทธิบัตรยาดีดีไอที่ไม่ชอบ และคดีฟ้องเพิกถอนสิทธิบัตรยาดีดีไอถือได้ว่าเป็นจุดเริ่มต้นของการเคลื่อนไหวของเครือข่ายผู้ติดเชื้อเอชไอวี/เอดส์ ประเทศไทย ซึ่งศาลทรัพย์สินทางปัญญาได้มีคำพิพากษาว่าผู้ป่วยเป็นผู้มีส่วนได้เสียและมีสิทธิ์เป็นโจทย์ฟ้องร้อง และยังมีคำสั่งให้กรมทรัพย์สินทางปัญญาแก้ไขคำขอจดสิทธิบัตรให้เหมือนเดิม ส่วนคดีฟ้องเพิกถอนสิทธิบัตรยาดีดีไอได้มีการเจรจายอมความกันระหว่างเครือข่ายผู้ป่วยและภาคประชาสังคมกับบริษัทยา โดยที่บริษัทยายอมถอนสิทธิบัตรยาในประเทศไทยและเครือภาคประชาสังคมถอนคำฟ้อง
นอกจากนี้ จากการเคลื่อนไหวคดีสิทธิบัตรยาดีดีไอ ได้นำไปสู่การต่อสู้เรียกร้องของภาคประชาสังคมและเครือข่ายผู้ติดเชื้อเอชไอวี/เอดส์ ประเทศไทย อาทิเช่น การเรียกร้องให้มีการผลิยยาต้านไวรัสชื่อสามัญ การมียาต้านไวรัสในระบบหลักประกันสุขภาพ การประกาศใช้สิทธิตามสิทธิบัตร (ซีแอล) การต่อสู้คัดค้านการเจรจาข้อตกลงเขตการค้าเสรีแบบทริปส์ผนวกของสหรัฐฯ ฯลฯ