เราจะเสี่ยงหรือไม่เสี่ยงต่อการรับเชื้อเอชไอวี ขึ้นอยู่กับปัจจัยทั้ง 3 อย่าง คือ
- เราต้องได้รับเชื้อไวรัสเอชไอวีเข้าสู่ร่างกายในปริมาณมากพอ ซึ่งเชื้อไวรัสเอชไอวีมีปริมาณมากในเลือด รองลงมาคือน้ำอสุจิ น้ำในช่องคลอด และน้ำนมแม่ ตามลำดับ ส่วนในน้ำลายหรือน้ำตา จะมีเชื้อเอชไอวีอยู่น้อยมาก จนไม่สามารถติดต่อไปสู่คนอื่นได้
- เชื้อเอชไอวีที่ติดต่อได้ต้องเป็นเชื้อเอชไอวี ที่อยู่ในสภาพแวดล้อมที่เหมาะสม เช่น เข้าไปในกระแสเลือด ช่องคลอด ช่องทวารหนัก เป็นต้น แต่ถ้าเชื้อออกมาและอยู่ในที่ร้อน แห้ง หรือนอกร่างกาย เชื้อจะด้อยคุณภาพและไม่สามารถติดต่อไปสู่คนอื่นได้
- ต้องมีช่องทางที่ทำให้เกิดการสัมผัส หรือส่งต่อเชื้อได้โดยตรง เช่น การใช้เข็มฉีดยาเสพติดร่วมกัน หรือการมีเพศสัมพันธ์โดยไม่ป้องกัน ซึ่งเป็นการส่งต่อเชื้อกันโดยตรง โดยกรณีของการมีเพศสัมพันธ์โดยไม่ป้องกัน เชื้ออาจจะผ่านเข้าสู่ร่างกายทางเยื่อบุช่องคลอด เยื่อบุช่องทวาร หรือบริเวณเยื่อบุอ่อนปลายอวัยวะเพศชาย
“ถ้าขาดปัจจัยข้อใดข้อหนึ่งก็ไม่เสี่ยงต่อการรับเชื้อเอชไอวี”
ดังนั้น การใช้ชีวิตประจำวันร่วมกัน กินข้าวด้วยกัน พูดคุยกัน พบปะสังสรรค์กับผู้ติดเชื้อฯ ก็ไม่มีโอกาสเสี่ยงต่อการรับเชื้อเอชไอวีเลย เพราะไม่มีช่องทางใดที่จะทำให้เชื้อเข้าสู่ร่างกายได้
อีกทั้งยุงกัดก็ไม่ทำให้ติดเชื้อเอชไอวี แม้ว่ายุงจะไปกัดผู้ติดเชื้อฯ ก็ตาม เนื่องจากเชื้อเอชไอวีจะติดต่อกันได้ ต้องส่งผ่านจากคนไปยังคนเท่านั้น ซึ่งสัตว์ไม่สามารถเป็นพาหะของโรคได้