ข้อเรียกร้องจากนักกิจกรรมทางสังคมที่ทำงานเพื่อการเข้าถึงการรักษาจากทั่วโลก จากการประชุมคณะกรรมการที่ปรึกษาชุมชนระดับโลก (World Community Advisory Board Meeting, World CAB) ที่ส่งเสียงเตือนพร้อมมีข้อเรียกร้องไปยังบรรษัทยาข้ามชาติให้จริงใจในการแก้ไขปัญหาการเข้าไม่ถึงยาจำเป็น เนื่องใน “วันทรัพย์สินทางปัญญาโลก” เมื่อวันที่ 26 เมษายนที่ผ่านมา
ความเงียบที่ดังจนแสบแก้วหู: บรรษัทยาข้ามชาติทำเงินได้เป็นพันๆ ล้าน แต่ไม่สนใจวิกฤตตัดงบสนับสนุนเพี่อการรักษาเอชไอวี วัณโรค และโรคร้ายแรงทั่วโลกที่กำลังเป็นปัญหา
เมื่อเดือนมีนาคม พ.ศ. 2568 นักกิจกรรมทางสังคมด้านเอชไอวีทั่วโลก มาร่วมประชุมคณะกรรมการที่ปรึกษาชุมชนโลก (Community Advisory Board: CAB) ที่จัดโดยองค์การพัฒนาเอกชน “ITPC Global” ณ เมืองบาร์เซโลนา ประเทศสเปน โดยในเวทีได้เชิญตัวแทนบรรษัทยาข้ามชาติมาร่วมพูดคุยด้วย เพื่อให้มีการแก้ไขปัญหาการเข้าไม่ถึงวัคซีนและยาจำเป็นในประเทศที่มีรายได้น้อยและปานกลาง
Othoman Mellouk จากองค์กร ITPC Global ประเทศโมร็อกโก กล่าวว่า “เป็นเรื่องน่าตกใจ ที่วิกฤตที่ชุมชนเอชไอวีทั่วโลกกำลังเผชิญอยู่นั้น ไม่ได้รับการตอบสนองใดๆ จากบรรษัทยาข้ามชาติเลย แม้ว่าบรรษัทเหล่านื้จะกำไรกอบโกยจากเอชไอวีไปมหาศาลแล้วก็ตาม”
การที่รัฐบาลสหรัฐอเมริกาและรัฐบาลผู้บริจาครายอื่นๆ ตัดงบประมาณสนับสนุนลง ทำให้ประชาชนหลายล้านคนไม่สามารถเข้าถึงการป้องกัน การตรวจวินิจฉัย และการรักษาเอชไอวี วัณโรค และโรคร้ายแรงอื่นๆ ได้ ผู้เชี่ยวชาญด้านสาธารณสุขคาดการณ์ว่า การตัดงบประมาณดังกล่าวจะส่งผลให้มีผู้ติดเชื้อเอชไอวีรายใหม่มากถึง 10.75 ล้านราย และมีผู้เสียชีวิตจากโรคเอดส์เกือบ 3 ล้านรายภายในปี ค.ศ.2030 (https://www.thelancet.com/journals/lanhiv/article/PIIS2352-3018(25)00074-8/abstract)
วิกฤตจากการตัดงบประมาณส่งผลกระทบต่อโครงการเพื่อการป้องกันและการเข้าถึงการรักษาเอชไอวีและโรคที่เกี่ยวข้องทั่วโลก ซึ่งเป็นงบประมาณที่ใช้จัดซื้อยาและวัคซีนจากบรรษัทยาข้ามชาติ เพื่อให้คนในประเทศยากจนได้เข้าถึงยาและวัคซีน แต่บรรษัทเหล่านี้กลับไม่มีแผนรับมือกับวิกฤตการณ์ดังกล่าวเลย
นักกิจกรรมทางสังคมที่ร่วมประชุม World CAB พยายามขอคำตอบจากบริษัท Merck (เมิร์ก) เกี่ยวกับแผนรับมือผลกระทบของการตัดงบประมาณ ที่ใช้สนับสนุนโครงการ GAVI เพื่อจัดหาวัคซีนป้องกันมะเร็งปากมดลูก (HPV Vaccines) ของบริษัท Merck ให้กับประชาชนในประเทศที่มีรายได้น้อยและปานกลาง แต่กลับไม่ได้รับคำตอบใดๆ
Mari Chokheli จากองค์กร TB People ประเทศจอร์เจีย กล่าวว่า “เมิร์กไม่ได้แสดงความกระตือรือร้น ที่จะทำอะไรเพื่อให้เด็กสาววัยรุ่นและผู้หญิงในประเทศที่มีรายได้น้อยและปานกลางยังคงได้รับการฉีดวัคซีนได้อย่างต่อเนื่อง”
ในขณะเดียวกัน บรรษัทยาข้ามชาติยังคงใช้ประโยชน์จากระบบทรัพย์สินทางปัญญาเพื่อกอบโกยกำไร เช่น การยื่นและบังคับใช้สิทธิบัตรแบบไม่มีวันสิ้นสุด (Evergreening patent) เพื่อทำเงินสร้างกำไรจากชีวิตและสุขภาพของประชาชนนับล้านๆ คน ในประเทศรายได้น้อยและปานกลาง
Laia Ruiz Mingote จากกลุ่ม VAX CAB ประเทศสเปน กล่าวว่า “ในขณะที่บริษัทเมิร์กไม่มียุทธศาสตร์อะไรเลย ที่จะทำให้มั่นใจได้ว่าคนในประเทศรายได้น้อยและปานกลางจะเข้าถึงวัคซีนป้องกันมะเร็งปากมดลูก มิหนำซ้ำ เมิร์กยังได้ยื่นจดสิทธิบัตรแบบไม่มีวันสิ้นสุดอายุในยารักษามะเร็งปากที่มีชื่อว่า ‘ยาเพมโบรลิซูแมบ’ (Pembrolizumab) เพื่อกีดกันไม่มียาชนิดเดียวกันที่เป็นยาชื่อสามัญในราคาที่ถูกกว่าเข้ามาแข่งขันในตลาด”
“นี่เป็นกลยุทธ์ที่ไร้ยางอายอย่างยิ่ง ที่นำมาใช้ขัดขวางการเข้าถึงการป้องกันและการรักษามะเร็งปากมดลูกที่มีราคาถูกลง เพียงเพื่อปกป้องผลกำไรของคนรวยที่รวยอยู่แล้วให้รวยขึ้นไปอีก โดยแลกกับชิวิตของผู้คนนับพันนับหมื่น”
สำหรับการเข้าถึงยาต้านไวรัสเอชไอวีชนิดที่ออกฤทธิ์นาน (Long-acting) เช่น ยาลีนาคาพาเวียร์ (Lenacapavir) ก็ยังคงไม่มีความแน่นอนเช่นกัน แม้ผลการศึกษาแสดงให้เห็นว่า ยาลีนาคาพาเวียร์มีศักยภาพในการป้องกันการติดเชื้อเอชไอวีได้เกือบร้อยเปอร์เซ็นต์ แต่เนื่องจากบริษัทกิลิแอด (Gilead) ยื่นขอจดสิทธิบัตรหลายฉบับไปทั่ว เพื่อป้องกันไม่ให้มีการวิจัยและผลิตยาชื่อสามัญเข้ามาแข่งขัน และอนุญาตให้ใช้มาตรการใช้สิทธิบัตรโดยสมัครใจ (Voluntary License) ที่มีเงื่อนไขเข้มงวดมากเป็นเครื่องมือเพื่อการผูกขาดอีกชั้นหนึ่ง แม้ดูเหมือนว่ากิลิแอดจะใจกว้างยอมแบ่งปันสิทธิบัตรให้ แต่ผลที่เกิดขึ้นคือประเทศรายได้น้อยและปานกลางอีกจำนวนมากก็ยังเข้าไม่ถึงยาลีนาคาพาเวียร์อยู่ดี
Lorena Di Giano จาก Fundacion GEP ประเทศอาร์เจนตินา กล่าวว่า “ประเทศของดิฉันถูกกีดกันจากการให้ใช้สิทธิบัตรโดยสมัครใจ เป็นเรื่องน่าตกใจที่กิลิแอดคาดหวังให้อาร์เจนตินาเป็นประเทศที่จะใช้ยาลีนาคาพาเวียร์เพื่อการป้องกัน เพื่อการวิจัยและทดลอง โดยไม่มีการจัดเตรียมใดๆ ที่จะทำให้แน่ใจว่าคนจะเข้าถึงยาได้หลังจากที่การวิจัยทดลองยาสำเร็จและยาได้รับการอนุมัติให้ใช้ ซึ่งถือเป็นการละเมิดปฏิญญาเฮลซิงกิ (Helsinki Declaration) เราจึงทำงานอย่างหนักเพื่อคัดค้านคำขอรับสิทธิบัตรทุกฉบับที่บริษัทได้ยื่นและกำลังจะยื่นขอจดสิทธิบัตรในประเทศของเรา เพื่อแสดงการต่อต้านกลยุทธ์ทางการค้าของบริษัทกิลิแอด”

เฉลิมศักดิ์ กิติตระกูล เครือข่ายผู้ติดเชื้อเอชไอวี/เอดส์ ประเทศไทย (TNP+) กล่าวว่า “ในขณะที่เราเห็นความก้าวหน้าจากการต่อสู้กับเอชไอวี วัณโรค มะเร็งปากมดลูก และภัยคุกคามร้ายแรงอื่นๆ ต่อสุขภาพของประชาชนทั่วโลกที่ดำเนินมาหลายทศวรรษ แต่ก็เป็นสิ่งที่น่าตกใจที่ได้เห็นบรรษัทยาข้ามชาติยังคงทุ่มเทเพื่อแสวงหากำไรจากชีวิตผู้คนอย่างไม่ยอมลดละ”
ในอีกมุมหนึ่งเราได้เห็นว่ามีรัฐบาลของประเทศรายได้น้อยและปานกลางที่มีและนำนโยบายเพื่อส่งเสริมการเข้าถึงยาชื่อสามัญมาใช้ ก็กำลังถูกกดดันและฟ้องร้องคดีโดยบรรษัทยาข้ามชาติ อย่างเช่น รัฐบาลประเทศโคลัมเบียกำลังถูกฟ้องเป็นคดีความ เพราะนำมาตรการใช้สิทธิโดยรัฐ (Compulsory License: CL) มาใช้กับยาโดลูเทกราเวียร์ (Dolutegravir) ที่เป็นยาชื่อสามัญ ซึ่งเป็นยาต้านไวรัสเอชไอวีสูตรพื้นฐานที่องค์การอนามัยโลกแนะนะให้ใช้ ด้วยมาตรการซีแอลนี้ ทำให้ยาโดลูเทกราเวียร์ในโคลัมเบียจะมีราคาถูกจาก 100 ดอลลาร์สหรัฐฯ เหลือเพียง 4 ดอลลาร์ฯ และทำให้มีผู้ติดเชื้อฯ เข้าถึงยาได้ถึง 50,000 คน
จูเลียนา โลเปซ จากองค์กร IFARMA ประเทศโคลัมเบีย กล่าวว่า “เป็นเรื่องที่ยอมรับไม่ได้ ที่บริษัทวีฟ (ViiV) ยืนกรานจะฟ้องประเทศโคลัมเบียของดิฉันต่อไป เนื่องจากใช้มาตรการซีแอล ซี่งเป็นมาตรการคุ้มครองสาธารณะตามกฎหมาย เพื่อจัดหายาโดลูเทกราเวียร์ ซึ่งเป็นยาที่มาตรฐานการรักษาโลกแนะนำ ให้กับผู้ติดเชื้อเอชไอวี การเข้าถึงบริการด้านสุขภาพเป็นสิทธิที่ไม่อาจพรากไปจากเราได้ เรายืนกรานและต่อต้าน”
“เราไม่กลัวที่บริษัทวีฟและบริษัทในเครือร่วมกันฟ้องเราถึง 3 คดี เราจะต่อสู้เพื่อยืนหยัดในสิทธิการมีสุขภาพที่ดีมากกว่าผลกำไร”
จากการประชุม World CAB นักกิจกรรมทางสังคมทั่วโลก เชื่อมั่นอย่างยิ่งว่าท่ามกลางวิกฤตการตัดงบสนับสนุนด้านการดูแลสุขภาพที่กำลังเกิดขึ้น บริษัทยาต้องเห็นความสำคัญของชีวิตมากกว่าผลกำไร ถ้าบริษัทยายักษ์ใหญ่ต้องการที่ทำให้เกิดการเข้าถึงยาและวัคซีนในราคาไม่แพง บรรษัทยาเหล่านี้ต้องช่วยป้องกันไม่ให้มีการเสียชีวิตและความทุกข์ทรมานจำนวนนับไม่ถ้วนเกิดขึ้น และทำให้เกิดการเข้าถึงยาและวัคซีนที่เท่าเทียมกันสำหรับทุกคน โดยไม่คำนึงถึงสถานะรายได้ของแต่ละประเทศ พร้อมเสนอมาตรการต่างๆ ต่อบรรษัทยา ดังนี้…
- ลดราคายาและวัคซีนทันที เพื่อให้รัฐบาลประเทศรายได้น้อยและปานกลางและสถาบันและองค์กรระหว่างประเทศ สามารถจัดหายาจำเป็นให้กับประชาชนได้ต่อไป
- ให้สัญญาที่จะไม่บังคับใช้สิทธิบัตร เพื่อไม่ให้เป็นอุปสรรคต่อการเข้าถึงยาชื่อสามัญ ทั้งที่เป็นยาเคมีและยาชีววัตถุ รวมถึงวัคซีนในราคาไม่แพงในประเทศรายได้น้อยและปานกลาง
- ทำให้การกำหนดราคาและการจัดซื้อจัดหายามีความโปร่งใส
- ยุติการยื่นจดสิทธิบัตรยาแบบที่ไม่มีคุณสมบัติเหมาะสมที่เป็น “การจดสิทธิบัตรแบบไม่มีวันสิ้นสุดอายุ” (Evergreening) เช่น การดัดแปลงหรือปรับปรุงยาเพียงเล็กน้อยและขอจดสิทธิบัตรคุ้มครองเพิ่ม เพื่อขยายการผูกขาดตลาด
- ยกเลิกการฟ้องร้องคดีความที่ไม่สมเหตุสมผลต่อประเทศต่างๆ ที่ใช้สิทธิตามกฎหมายของตนในการใช้มาตรการใช้สิทธิโดยรัฐเพื่อให้ประชาชนของตนสามารถเข้าถึงยาราคาไม่แพงได้
- ยกเลิกสิ่งที่เรียกว่า “เกณฑ์การเข้าถึง” (Access Criteria) ที่อ้างอิงตามการจำแนกรายได้ของประเทศของธนาคารโลก เพื่อใช้เป็นเหตุผลในการกำหนดว่าประเทศใดไม่มีสิทธิใช้ประโยชน์จากใบอนุญาตการให้ใช้สิทธิบัตรโดยสมัครใจ (Voluntary License) รวมถึงโครงการบริจาค และการลดราคาต่างๆ ด้วย
แต่แทนที่บรรษัทยาข้ามชาติจะดำเนินการตามข้อเสนอดังกล่าว ทางตัวแทนบรรษัทยายักษ์ใหญ่กลับกล่าวเพียงว่าพวกเขากำลัง “พูดคุยกับบุคคลต่างๆ อยู่ทุกวัน” เพื่อแก้ไขวิกฤตที่กำลังเกิดขึ้น ทำให้ภาคประชาสังคมที่เข้าร่วมการประชุม World CAB ตกตะลึงกับท่าทีที่ไม่เต็มใจของบริษัทยายักษ์ใหญ่ทุกบริษัทที่จะช่วยแก้ไขปัญหาที่เกิดขึ้นอย่างปัจจุบันทันด่วนจากการตัดงบสนับสนุนทั่วโลก ต่อโครงการความช่วยเหลือระดับโลก ที่เป็นที่พึ่งของผู้คนจำนวนมหาศาลเพื่อให้ได้รับการตรวจวินิจฉัยโรค การป้องกันโรค และการรักษาโรค
Edward Low จากเครือข่ายผู้ติดเชื้อเอชไอวี ประเทศมาเลเซีย (MTAAG+) กล่าวว่า “ถ้าบริษัทยายักษ์ใหญ่ปล่อยให้คนในประเทศที่มีรายได้น้อยและปานกลางต้องเสียชีวิตโดยไม่จำเป็น นั่นถือเป็นความล้มเหลวซ้ำสอง นับเป็นอาชญากรรมต่อมนุษยชาติ และเป็นโมเดลธุรกิจที่แย่มาก”
Sibongile Tshabalala จากองค์กร Treatment Action Campaign ในประเทศอัฟริกาใต้ กล่าวว่า “บริษัทยาเหล่านี้ทำเงินได้เป็นพันๆ ล้าน ถึงเวลาแล้วที่พวกเขาต้องออกมาแสดงความรับผิดชอบต่อการเสียชีวิตโดยไม่จำเป็นหลายพันราย การติดเชื้อรายใหม่หลายล้านรายด้วยโรคที่ป้องกันได้ และความทุกข์ทรมานนับไม่ถ้วนจากความละโมบ”
“คนที่อาศัยอยู่ในประเทศที่มีรายได้น้อยและปานกลางต้องการที่จะมีชีวิตเช่นเดียวกับคนในประเทศที่มีรายได้สูง และชีวิตของพวกเขาก็มีค่าไม่ต่างกัน”
.