เมื่อวันที่ 2 ตุลาคม 2567 ‘กิลิแอด’ (Gilead) บริษัทยาข้ามชาติ ประกาศทำสัญญากับบริษัทยาชื่อสามัญ 6 แห่งให้ผลิตและขาย ‘ยาลีนาคาพาเวียร์’ (Lenacapavir) ซึ่งเป็นยาต้านไวรัสเอชไอวี (ยาต้านไวรัสฯ) ชนิดใหม่ที่ออกฤทธิ์ได้นานโดยการฉีดปีละ 2 ครั้ง ให้กับประเทศที่มีรายได้น้อยและรายได้ปานกลางค่อนข้างต่ำ 120 ประเทศ และอีก 18 ประเทศที่ไม่รวมอยู่ในกลุ่มดังกล่าว และมีประเทศไทยด้วย
แต่องค์กรภาคประชาสังคมที่ทำงานเรื่องเอชไอวีในหลายประเทศได้มีคำถามและตั้งข้อสังเกตเกี่ยวกับสัญญายาลีนาคาพาเวียร์ของกิลิแอดว่า สัญญาดังกล่าวขาดความโปร่งใสและสร้างความไม่เท่าเทียมในการเข้าถึงยา โดยที่ไม่รู้ว่ากิลิแอดให้หลักเกณฑ์ใดที่จะเลือกว่าประเทศใดจะใช้สิทธิตามสัญญาได้ ในขณะที่อีกหลายประเทศที่มีผู้ติดเชื้อเอชไอวีจำนวนมากที่จำเป็นต้องใช้ยากลับไม่อยู่ในสัญญา
สัญญาของกิลิแอดฉบับนี้เป็นรูปแบบหนึ่งของ “การให้ใช้สิทธิโดยสมัครใจ” (Voluntary license: VL) ซึ่งเป็นการทำสัญญาระหว่างเจ้าของสิทธิบัตรกับคู่สัญญาที่เป็นบริษัทยาชื่อสามัญ ซึ่งจะอนุญาตให้คู่สัญญาผลิตยาชนิดเดียวที่เป็นยาชื่อสามัญและขายในราคาที่ถูกว่าได้ โดยมีเงื่อนไขและข้อผูกมัดต่างๆ ที่ต้องทำตาม
เฉลิมศักดิ์ กิตติตระกูล ผู้จัดการโครงการส่งเสริมการเข้าถึงยา เครือข่ายผู้ติดเชื้อเอชไอวี/เอดส์ ประเทศไทย (เครือข่ายผู้ติดเชื้อเอชไอวีฯ) ตั้งข้อสังเกตว่า สัญญาของกิลิแอดในการผลิตและขายยาลีนาคาพาเวียร์มีข้อน่ากังวลหลายจุด เช่น เงื่อนไขที่ห้ามบริษัทยาชื่อสามัญที่เป็นคู่สัญญาทำการผลิตและขายยาให้กับประเทศที่อยู่นอกสัญญา วัตถุดิบต้องมาจากแหล่งที่กิลิแอดกำหนดเท่านั้น การไม่ระบุระยะเวลาที่จะมีการถ่ายทอดเทคโนโลยี และข้อบังคับที่บริษัทยาชื่อสามัญคู่สัญญาต้องส่งรายงานการผลิตและจัดส่งยาให้กับกิลิแอดอย่างสม่ำเสมอ
เฉลิมศักดิ์ให้ความเห็นเพิ่มเติมว่า สัญญาฉบับนี้ของกิลิแอดไม่ได้ส่งเสริมให้เกิดการเข้าถึงจริง แต่เป็นกลยุทธ์ในการควบคุมตลาดทั่วโลกให้อยู่ในมือแบบเบ็ดเสร็จ โดยทำสัญญากับบริษัทยาชื่อสามัญเจ้าใหญ่เพื่อครอบครองการตลาด เป็นการจับมือกับคู่แข่งแบ่งเค้กผลประโยชน์กัน นอกจากนี้ในสัญญายังมีเงื่อนไขผูกขาดเรื่องวัตถุดิบที่บริษัทคู่สัญญาจะใช้ว่าต้องมาจากแหล่งเฉพาะเท่านั้น และที่น่ากังวลกว่านั้นคือบริษัทคู่สัญญาจะขายและส่งออกยาให้ประเทศที่อยู่นอกสัญญาไม่ได้ แม้ในประเทศนั้นไม่มีสิทธิบัตรยาลีนาคาพาเวียร์ ทำให้การใช้มาตรการใช้สิทธิโดยรัฐหรือซีแอล (CL) เพื่อนำเข้ายาชื่อสามัญราคาไม่แพงก็จะทำไม่ได้ เพราะบริษัทยาชื่อสามัญเจ้าใหญ่ทำสัญญากับกิลิแอดไว้แล้ว ไม่มีบริษัทอื่นมาแข่งขัน
“สุดท้ายแล้วยาลีนาคาพาเวียร์แม้จะผลิตโดยบริษัทยาชื่อสามัญ อาจไม่ได้มีราคาถูกลงจนเข้าถึงได้สำหรับทุกคน เพราะสัญญาของกิลิแอดสร้างการผูกขาดยาชื่อสามัญของยาลีนาคาพาเวียร์ขึ้นมาอีกชั้นหนึ่ง” เฉลิมศักดิ์กล่าว
ด้านยุพา สุขเรือง ประธานเครือข่ายผู้ติดเชื้อเอชไอวีฯ กล่าวว่า “ยาลีนาคาพาเวียร์ เป็นยาต้านไวรัสฯที่จำเป็นสำหรับผู้ติดเชื้อเอชไอวีที่ดื้อต่อยาทุกสูตรที่มีอยู่ในประเทศไทย ในอนาคตยาลีนาคาพาเวียร์ยังจะเป็นยาทางเลือกที่ใช้เป็นยาป้องกันการติดเชื้อเอชไอวีในคนที่ยังไม่เคยสัมผัสเชื้อมาก่อน หรือ “ยาแพร็พ” (PrEP) เพิ่มเติมเพิ่มเติมอีกด้วย
“อย่างไรก็ตาม แม้ไทยจะร่วมอยู่ในสัญญาของกิลิแอด แต่เรายังกังวลอยู่ดีว่า #ยาลีนาคาพาเวียร์ ที่เป็นยาชื่อสามัญจะมีราคาเท่าไร เป็นราคาที่เราเข้าถึงไหม ผู้ติดเชื้อฯ ในไทยในระบบหลักประกันสุขภาพฯ จะได้ใช้เมื่อไร เกณฑ์ที่จะได้รับยาลีนาคาพาเวียร์จะเป็นอย่างไรที่ไม่ก่อให้เกิดการเลือกปฏิบัติหรือความไม่เท่าเทียมในการเข้าถึงการรักษา” ยุพากล่าวทิ้งท้าย