เมื่อวันที่ 8 มีนาคม 2567 เครือข่ายภาคประชาสังคมที่ทำงานด้านเอดส์ เช่น คณะกรรมการองค์การพัฒนาเอกชนด้านเอดส์ (กพอ.) โครงการเอดส์สหประชาชาติ (ยูเอ็นเอดส์) มูลนิธิเพื่อนพนักงานบริการ (SWING) เครือข่ายผู้ติดเชื้อเอชไอวี/เอดส์ ประเทศไทย มูลนิธิสถาบันเพื่อการวิจัยและนวัตกรรมด้านเอชไอวี (IHRI) มูลนิธิเพื่อสิทธิความหลากหลาย (FAIR) เครือข่ายประชาชนขจัดการเลือกปฏิบัติ (มูฟดิ) และมูลนิธิเข้าถึงเอดส์ พบนายแพทย์ชลน่าน ศรีแก้ว รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข (รมว.สธ.) เพื่อหารือถึงประเด็น “การยุติปัญหาเอดส์ภายในปี 2573” โดยมี 4 ประเด็นสำคัญที่ภาคประชาสังคมและภาคประชาชนที่ทำงานด้านเอชไอวีและสุขภาพเสนอให้กับ รมว.สธ. พิจารณา
ประเด็นที่ 1 ขยายนโยบายให้ผู้ติดเชื้อเอชไอวีฯ ทุกสิทธิการรักษาสามารถเข้ารับการรักษาที่หน่วยบริการใดก็ได้ ให้สอดคล้องกับแนวนโยบาย “บัตรประชาชนไบเดียวรักษาได้ทุกที่” เพราะตอนนี้สิทธิ์การรักษาในระบบประกันสังคม ยังทำไม่ได้ ผู้ติดเชื้อฯ ที่เป็นผู้ประกันตนต้องไปรับการรักษาที่หน่วยบริการที่ขึ้นทะเบียนไว้กับสำนักงานประกันสังคมเท่านั้น
ประเด็นที่ 2 ตอนนี้ยาต้านเอชไอวี (ยาต้านฯ) ยังเป็นรายการยาควบคุมพิเศษ โดยคนที่จะสามารถสั่งจ่ายยาได้ต้องเป็นแพทย์ที่อยู่ในโรงพยาบาลของรัฐเท่านั้น จึงเสนอว่าให้กระทรวงสาธารณสุขลดเงื่อนไขการใช้ยาต้านฯ ให้คล่องตัวขึ้น โดยเปิดให้มีช่องทางการเข้าถึงการรักษา และการป้องกันด้วยยาต้านฯ ในหน่วยบริการที่หลากหลายไม่ว่าจะเป็นการจ่ายยาต้านฯ ได้ที่คลินิกเอกชนหรือสถาบันวิจัยต่างๆ ที่มีแพทย์ด้านวิชาชีพประจำอยู่ จะช่วยให้คนเข้าถึงบริการได้อย่างมีมาตรฐาน ต่อเนื่อง และรวดเร็ว
ประเด็นที่ 3 องค์รภาคประชาชน องค์กรภาคประชาสังคมที่ขึ้นทะเบียนเป็นหน่วยบริการตามมาตรา 3 ของ สปสช. ที่มีส่วนร่วมในการจัดบริการทั้งด้านการรักษาและการป้องกันนั้น หากมีการจ่ายยาต้านฯ เอชไอวี รวมถึงยาเพร็พ ต้องทำความร่วมมือเฉพาะกับโรงพยาบาลรัฐและค่าตอบแทนในการจัดบริการลงไปที่หน่วยบริการเท่านั้น ไม่ได้ให้กับภาคประชาสังคมทั้งที่ทำงานร่วมกัน จึงมีข้อเสนอให้ภาคประชาสังคมสามารถจัดบริการร่วมกับหน่วยบริการที่ไม่เฉพาะของรัฐเท่านั้น แต่ขยายไปยังหมอที่ประกอบวิชาชีพในคลินิกเอกชนหรือสถาบันวิจัยต่างๆ ด้วย พร้อมทั้งขอให้กระทรวงสาธารณสุขช่วยผลักดันหรือกระทุ้งให้โรงพยาบาลที่ได้รับเงินจาก สปสช. จากการจัดบริการดังกล่าวเบิกเงินออกมาแบ่งสรรให้กับภาคประชาสังคมที่ทำงานร่วมกันด้วย
ประเด็นที่ 4 การรณรงค์ประชาสัมพันธ์ในระดับสาธารณะเพื่อลดการตีตราและลดการเลือกปฏิบัติอันเนื่องมาจากเอชไอวี เพราะสถานการณ์ดังกล่าวยังเกิดขึ้นอย่างต่อเนื่องและต้องแก้ไขเป็นรายกรณีไป เช่น การบังคับตรวจเลือดก่อนเรียนหรือทำงานหรือก่อนบวช การส่งผลตรวจสุขภาพของพนักงานให้กับบริษัทได้รับทราบโดยตรง การตรวจเลือดระหว่างทำงานและบังคับให้ออกจากงาน เป็นต้น
นพ. ชลน่าน ศรีแก้ว รมว.สธ. กล่าวว่า ในเบื้องต้นขอรับข้อเสนอของภาคประชาสังคมทั้งหมด เพื่อนำไปพิจารณาและปรึกษาหารือกับทีม เนื่องจากข้อเสนอในบางเรื่องเป็นเชิงเทคนิค บางเรื่องเป็นเชิงวิธีการทำงาน บางเรื่องเป็นในเชิงนโยบาย บางเรื่องต้องดูในเชิงรายละเอียดเพิ่มเติมที่ยังไม่สามารถให้คำตอบได้ทันที แต่สถานการณ์หลายเรื่องเริ่มมีแนวโน้มดีขึ้นในแง่การเข้าถึงรักษา เช่น การใช้ระบบเทเลเมดิซีน (Telemedicine) หรือตอนนี้ร้านขายยาสามารถจ่ายยาตามใบสั่งยาจากแพทย์ได้แล้ว เป็นต้น
ทั้งนี้ รมว.สธ. ให้แนวทางเพิ่มเติมว่า ทุกฝ่ายเห็นร่วมกันว่าต้องการยุติปัญหาเอดส์ (Ending AIDS) จึงอยากให้ทีมกระทรวงสาธารณสุขและภาคประชาชนร่วมกันทำแผนเชิงปฏิบัติการในเชิงข้อเสนอและแผนการทำงานที่ต้องขับเคลื่อนในระดับต่างๆ ทั้งในระดับน โยบายภาพใหญ่และระดับปฏิบัติการให้มีความชัดเจน ส่วนระเบียบใดที่ใช้งานมานาน เช่น เงื่อนไขการขึ้นทะเบียนยารักษาโรคเอดส์เมื่อปี 2530 ในวงเล็บ 1 ที่กำหนดให้ยาต้านฯ เอชไอวี ให้ใช้เฉพาะโรงพยาบาล “เท่านั้น” ก็ต้องมีการนำข้อมูลไปทบทวนและพิจารณาข้อดีข้อเสียให้รอบด้าน เพื่อปรับเปลี่ยนเงื่อนไขให้สอดคล้องกับบริบทปัจจุบัน แต่ทั้งนี้ต้องดูความปลอดภัย มีมาตรฐานบริการ และอยู่บนพื้นฐานด้านวิชาชีพด้วย
ส่วนประเด็นการขอให้ผู้ติดเชื้อเอชไอวีที่ใช้สิทธิ์ในระบบประกันสังคมสามารถรับยาได้ทุกหน่วยบริการนั้น นพ.ชลน่าน เห็นว่าเป็นแนวทางที่สอดรับกับแนวนโยบายของกระทรวงสาธารณสุขเรื่อง “ศูนย์กลางข้อมูลด้านการเงิน” (Financial Data Hub: FDH) ที่จะเป็นการเชื่อมโยงทั้งข้อมูลด้านการรักษาพยาบาลและข้อมูลการจ่ายชดเชยค่าบริการทางการแพทย์ระหว่างหน่วยบริการและกองทุนสิทธิการรักษาพยาบาลที่เกี่ยวข้องผ่านช่องทางดังกล่าว โดยเริ่มต้นทำหน่วยบริการที่ขึ้นทะเบียนกับ สปสช. ที่จะเป็นหลักประกันว่าสถานบริการจะได้รับเงินเบิกจ่ายภายใน 3 วัน ซึ่งเป็นกิจกรรมบริการที่สอดรับตามเม็ดเงินที่มีการเบิกจ่าย และกำลังมีการพูดคุยกับกรมบัญชีกลาง และในอนาคตอาจขยายไปในระบบประกันสังคมซึ่งคิดว่าไม่ยาก เพราะประกันสังคมต้องปรับตัวและเห็นว่าประกันสังคม “เริ่มมีท่าที” ที่จะปรับระบบด้านการเบิกจ่าย โดยเฉพาะการปลดล็อกระเบียบต่างๆ ที่ต้องคุยในเชิงรายละเอียดอีกครั้งก็สามารถดำเนินการตามแนวนโยบาย “บัตรประชาใบเดียวรักษาได้ทุกที่” ได้ ซึ่งโดยบทบาทของ สธ.ต้องไปคุยกับประกันสังคมอยู่แล้ว เพราะเรากำลังจะเป็นศูนย์กลางข้อมูลด้านการเงิน แต่ย้ำว่า “ไม่ได้” ทำให้เป็นระบบเดียวกัน แต่มีจุดยึดโยงบางอย่างเช่นการเชื่อมโยงข้อมูลร่วมกัน
หลังจากนั้น คุณสุรางค์ จันทร์แย้ม ผู้แทนจากคณะกรรมการองค์กรพัฒนาเอกชนด้านเอดส์ ได้ยื่นข้อเสนอทั้งหมดให้กับ รมว.สาธารณสุขนำไปศึกษาและพิจารณาต่อไป