“วัณโรคเชื้อดื้อยา” (DR-TB) เป็นภัยร้ายแรงต่อสาธารณสุขของโลกที่มีแผนจะขจัดให้หมดไปในปี 2030 แต่การระบาดของโควิด-19 ทำให้แผนที่วางไว้ต้องล่าช้าออกไปอีกหลายปี โดยเมื่อปี 2021 อัตราการระบาดของวัณโรคเชื้อดื้อยาทั่วโลกเพิ่มขึ้นเป็นครั้งแรกในรอบหลายปี ซึ่งในจำนวนผู้ได้รับการวินิจฉัยว่าติดเชื้อวัณโรคดื้อยาประมาณ 455,000 คน มีเพียง 1 ใน 3 เท่านั้นที่ได้รับการรักษา

“ยาเบดาคิวไลน์” (Bedaquiline หรือ BDQ) กลายเป็นยาหลักในการรักษาวัณโรคเชื้อดื้อยา แต่ด้วยราคายาที่แพงและปริมาณผลิตที่ไม่เพียงพอต่อความต้องการจนถึงขั้นขาดแคลน ทำให้โครงการบริจาคยาต่างๆ ไม่นำยานี้มาใช้เพื่อต่อสู้กับภัยคุกคามด้านสาธารณสุขในประเทศที่มีรายได้น้อยและปานกลางในหลายประเทศ แต่ผลักให้ผู้ป่วยต้องใช้ยาชนิดอื่นที่ใช้เวลารักษานานกว่า มีประสิทธิภาพน้อยกว่า และต้องทรมานจากผลข้างเคียงไม่พึงประสงค์ที่รุนแรงกว่ายาเบดาคิไลน์

ปี 2012: ผู้ถือสิทธิบัตรยาเบดาคิไลน์ คือบริษัทเจนเซน (Janssen) ซึ่งเป็นบริษัทลูกของบริษัทจอห์นสันแอนด์จอห์นสัน (Johnson and Johnson หรือ J & J) จะขายยาเบดาคิไลน์ในประเทศต่างๆ ในราคาที่ต่างกัน ถ้าประเทศรายได้น้อยขายในราคา 900 ดอลลาร์ ประเทศรายได้ปานกลางขายใน 3,000 ดอลลาร์ และในประเทศรายได้สูงขายในราคา 30,000 ดอลลาร์

ปี 2014: บริษัทเจนเซนและหน่วยงานเพื่อการพัฒนาระหว่างประเทศสหรัฐฯ (USAID) เริ่มโครงการบริจาคยาที่มีชื่อว่า Global Drug Facility (GDF) ให้กับประเทศที่มีสิทธิ์ได้รับความช่วยเหลือจากกองทุนโลกทำให้มีโควตาการรักษาด้วยยาเบดาคิไลน์ได้ 60,000 คอร์สการรักษา

ปี 2018: ประเทศแอฟริกาใต้ทำข้อตกลงกับบริษัทเจแอนด์เจซื้อยาเบดาคิไลน์ในราคา 400 ดอลลาร์ต่อคอร์สการรักษา กลายมาเป็นราคามาตรฐานสำหรับประเทศอื่นๆ ที่ได้รับสิทธิ์ในโครงการ GDF เช่นกัน ต่อมาปี 2020 โครงการ GDF ประกาศลดราคายาเบดาคิไลน์ลงเหลือ 272 ดอลลาร์ต่อคอร์สการรักษา

ต่อมาเมื่อเดือนกรกฎาคม 2023 สิทธิบัตรหลักของยาเบดาคิไลน์หมดอายุลง สร้างความหวังว่าจะมีการผลิตยาชื่อสามัญในราคาที่เข้าถึงได้สำหรับประเทศที่มีรายได้น้อยและปานกลาง ผู้เชี่ยวชาญประเมินว่าถ้าบริษัทยาชื่อสามัญสามารถผลิตยาเบดาคิไลน์ได้จะมีราคาเพียง 48 – 102 ดอลลาร์ต่อคอร์สการรักษา โดยที่บริษัทยา ‘ยังได้กำไรอยู่’

แต่บริษัทเจแอนด์เจกลับยื่นขอจดสิทธิบัตรยาเบดาคิไลน์ฉบับอื่นๆ เพิ่มเติม ซึ่งเป็นกลวิธีที่จะยืดอายุสิทธิบัตรและการคุ้มครองการผูกขาดให้นานออกไป เช่น ขอคุ้มครองในเรื่องรูปแบบเกลือ โพลีมอร์ฟ ฯลฯ ของสารเคมีที่นำมาผลิตยาเบดาคิไลน์ ซึ่งที่เป็นที่ความรู้สามัญที่รู้จักกันโดยทั่วไปในแวดวงเภสัชกรรมอยู่แล้ว ขอคุ้มครองในเรื่องการใช้ยาเบดาคิไลน์เพื่อการบำบัดรักษาวัณโรค ขอคุ้มครองในเรื่องรูปแบบการใช้ยา (เช่น ยากิน ยากินร่วมกับอาหาร การใช้ยา เบดาคิไลน์ร่วมกับยาอื่น) ซึ่งเราเรียกกลวิธีแบบนี้ว่า “สิทธิบัตรแบบไม่มีวันหมดอายุ” (Evergreening Patent)

นักกิจกรรมจึงเรียกร้องให้บริษัทเจแอนด์เจเพิกถอนคำขอจดสิทธิบัตรสำหรับยาเบดาคิไลน์ทั้งหมด และสัญญาว่าจะไม่บังคับใช้สิทธิบัตรอื่นๆ ที่จดเพิ่มเติมไป แต่แทนที่บริษัทเจแอนด์เจจะทำให้ยาเบดาคิไลน์เข้าถึงได้ในประเทศที่มีความจำเป็นกลับเลือกที่จะทำข้อตกลงกับโครงการ GDF ที่เน้นผลประโยชน์ด้านการตลาด แม้ว่าข้อตกลงนี้ทำให้ประเทศรายได้น้อยและปานกลางเข้าถึงยาเบดาคิไลน์ไม่แพงได้บ้าง แต่อีกหลายประเทศที่มีรายได้น้อยและปานกลางและมีปัญหาวัณโรคเชื้อดื้อยารุนแรงเช่นกันกลับถูกเลือกปฏิบัติและถูกกีดกัน

จากข้อมูลล่าสุดที่อ้างอิงจากองค์การอนามัยโลก (WHO) ในปี 2021 ประเทศที่ถูกกีดกันเหล่านี้มีผู้ป่วยด้วยวัณโรคเชื้อดื้อยาอย่างน้อย 112,100 คน แต่มีไม่ถึง 50% (57,408 คน) เท่านั้นที่ได้รับการรักษา

นายออตโตมาน เมลลุค (Othoman Mellouk) หัวหน้าการรณรงค์ของภาคีเพื่อการเข้าถึงยาในราคาไม่แพงหรือเอ็มเอ็มเอ (Make Medicine Affordable: MMA) กล่าวว่า ข้อตกลงนี้ทำให้การสาธารณสุขของโลกถอยหลังเข้าคลองและเอื้อประโยชน์ให้บริษัทเจแอนด์เจ (Johnson & Johnson (J&J)) ในการขายยาเบดาคิไลน์ (Bedaquiline) โก่งราคาทำกำไรได้ต่อไป แทนที่จะทำให้ผู้ป่วยในประเทศที่จำเป็นต้องใช้ยานี้โดยด่วนได้เข้าถึงยา แทนที่จะแก้ไขปัญหาสุขภาพของโลกด้วยยาที่พัฒนาขึ้นจากทุนที่มาจากสาธารณะเป็นส่วนใหญ่ แต่กลับกีดกันประเทศที่มีจำนวนผู้ป่วยวัณโรคดื้อยามากที่สุดในโลก ดังนั้น บริษัทเจแอนด์เจต้องสัญญาว่าจะไม่บังคับใช้หรือยื่นขอสิทธิบัตรแบบไม่มีวันหมดอายุกับยาเบดาคิไลน์อีก

ด้าน น.ส. มาเรีย ชิเบาวา องค์กรพัฒนาเอกชนที่มีชื่อย่อว่า ITPC – EECA กล่าวว่า “นักกิจกรรมจะต้องกดดันบริษัทเจแอนด์เจอย่างต่อเนื่อง เพื่อไม่ให้บริษัทยื่นขอจดทะเบียนสิทธิบัตรไม่มีวันหมดอายุเพิ่มอีก และคัดค้านคำขอจดสิทธิบัตรที่ได้ยื่นไปแล้ว เพื่อไม่ให้ปล่อยงบสาธารณสุขของประเทศโดนสูบไปเข้ากระเป๋าบริษัทยาอีก”

ตอนนี้เครือข่ายองค์กรภาคประชาสังคมในภาคี MMA ได้ยื่นหนังสือคัดค้านคำขอรับสิทธิบัตรยาเบดาคิไลน์ในประเทศต่างๆ รวมแล้วกว่า 15 ฉบับ ประกอบไปด้วยเบลารุส บราซิล อินเดีย คาซัคสถาน คีร์กีซสถาน มอลโดวา ไทย ยูเครน และเวียดนาม โดยเมื่อเดือนตุลาคม 2020 สำนักงานสิทธิบัตรของบราซิลได้ปฏิเสธการขอจดสิทธิบัตรแบบไม่มีวันหมดอายุของยาเบดาคิไลน์ และในเดือนมิถุนายนที่ผ่านมา สำนักงานสิทธิบัตรของไทยก็ได้ปฏิเสธคำร้องขอจดสิทธิบัตรแบบไม่มีวันหมดอายุจำนวน 2 จาก 4 ฉบับของยาเบดาคิไลน์ด้วยเช่นกัน

อ้างอิงและเรียบเรียงจาก: https://shorturl.asia/l0nWH