“อภิวัฒน์ กวางแก้ว” ประธานเครือข่ายผู้ติดเชื้อเอชไอวี/เอดส์ ประเทศไทย กล่าวว่า U=U (ยูเท่ากับยู) เป็นข้อเท็จจริงที่ทุกคนควรรับรู้ตรงกันว่าการทานยาต้านไวรัสฯ อย่างต่อเนื่องเกิน 6 เดือนขึ้นไปในสูตรที่เหมาะสมและได้ตามมาตรฐาน ยาต้านไวรัสฯ จะช่วยควบคุมและกดเชื้อเอชไอวีในเลือดให้มีจำนวนต่ำที่สุดและนานที่สุด จนไม่สามารถตรวจหาเชื้อเจอ* (Undetectable) เท่ากับว่าไม่สามารถส่งต่อเชื้อเอชไอวีให้ใครได้อีก (Untransmittable)
อภิวัฒน์กล่าวถึงเหตุผลที่เลือกรณรงค์สื่อสารเรื่อง U=U ว่าต้องการให้ทั้งกลุ่มผู้ติดเชื้อฯ และสังคมได้ใช้ชีวิตอยู่ร่วมกับเอชไอวีได้อย่างมั่นใจ เป็นการลดการตีตราและลดอคติทางสังคมในการเลือกปฏิบัติต่อกันอันเนื่องมาจากเอชไอวี
โดยการรณรงค์เรื่อง U=U ในกลุ่มที่เป็นผู้ติดเชื้อฯ โดยเฉพาะในคู่ผลเลือดต่าง (บวกกับลบ) ที่ต้องการมีลูก หรือคนที่ยังไม่ตัดสินใจบอกผลเลือดกับคู่ คนที่เลือกที่จะไม่ใช้ถุงยางอนามัย หรือคนที่ไม่สามารถใช้ถุงยางอนามัยกับคู่ได้ทุกครั้งนั้น จะช่วยลดความไม่สบายใจ ความกังวลใจ ความรู้สึกผิด เลิกโทษตัวเอง หรือลดการตีตราภายในตัวเองว่า ‘เราอาจเป็นสาเหตุที่ทำให้คู่ติดเชื้อหรือไม่??’ เพราะถ้าเมื่อไหร่ที่เราเข้าถึงการรักษาได้เร็วและได้รับยาต้านไวรัสฯ อย่างต่อเนื่อง การส่งต่อเชื้อให้คนอื่นคือ “ไม่มี”
ที่สำคัญยังทำให้ผู้ติดเชื้อฯ รู้เป้าหมายและมีแรงจูใจในการกินยาต้านไวรัสฯ เพราะมองเห็นทางเลือกเพิ่มมาอีกหนึ่งทางเลือกในการป้องกันคู่ไม่ให้รับเชื้อเอชไอวี นอกเหนือไปจากการกินยาป้องกันเพร็พ (PrEP) ยาเป๊ป (PEP) รวมไปถึงการใช้ถุงยางอนามัย
สำหรับสังคมทั่วไปนั้น อภิวัฒน์มองว่า U=U จะช่วยจัดการกับอคติล้าหลังที่มองว่าผู้ติดเชื้อฯ น่ารังเกียจ ไม่น่าอยู่ร่วมด้วย หรือเป็นอันตรายกับคนรอบข้างจนนำไปสู่การเลือกปฏิบัติหลายอย่างที่ทำให้ผู้ติดเชื้อฯ ถูกลดทอนคุณค่าและศักดิ์ศรีในความเป็นมนุษย์ โดย U=U จะเป็นเครื่องมือหนึ่งในการปลดล็อกการตีตราและช่วยส่งเสริมการอยู่ร่วมกันในสังคมได้ เพราะเมื่อผู้ติดเชื้อฯ ได้รับยาอย่างต่อเนื่องทำให้เชื้อเอชไอวีในเลือดลดลงจนร่างกายแข็งแรง ไม่ป่วยง่ายก็ไม่มีเหตุผลอะไรที่จะกีดกันผู้ติดเชื้อฯ ไม่ให้เรียน ทำงาน มีคู่ มีลูก มีครอบครัว ฯลฯ ได้อีก เรียกได้ว่า “สามารถใช้ชีวิตไม่แตกต่างจากคนที่ไม่มีเชื้อเอชไอวี” และยังมีคุณภาพชีวิตที่ดีได้อีกด้วย
นอกจากนี้ U=U ยังช่วยให้คนที่มีพฤติกรรมเสี่ยงได้มีโอกาสประเมินตนเองและมีความกล้าเข้าไปรับการตรวจเลือดเพื่อหาการติดเชื้อเอชไอวีได้ง่ายขึ้น เพราะถ้าตรวจเจอจะได้เข้าสู่ระบบการดูแลรักษาทันที โอกาสป่วยด้วยโรคฉวยโอกาสแทบเป็นศูนย์
ส่วนเรื่องเพศสัมพันธ์ที่ปลอดภัยในเรื่องอื่น ๆ เช่น พวกโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ ท้องไม่พร้อม ฯลฯ ถุงยางอนามัยก็ยังเป็นเครื่องมือสำคัญในการป้องกันซึ่งไม่ใช่แค่ผู้ติดเชื้อ แต่ต้องขีดเส้นใต้ว่าเป็นเรื่องของ “ทุกคน” ไม่ว่าจะติดเชื้อเอชไอวี ไม่ติดเชื้อ หรือไม่ทราบสถานะของผลเลือดตัวเองก็ตาม
“แต่ถึงยังไงก็แล้วแต่..แม้ตอนนี้จะมีข้อมูลในทางวิชาการที่พิสูจน์เรื่อง U=U มาแล้วว่าการทานยาต้านไวรัสฯ อย่างต่อเนื่องจนไม่สามารถตรวจเจอไวรัสในเลือดเท่ากับการไม่ถ่ายทอดเชื้อเอชไอวีให้ใครได้เลยก็ตาม แต่ #อคติ และ #ความกลัว ของคนในเรื่องเอชไอวีที่แสดงผ่านพฤติกรรมที่เป็นการเลือกปฏิบัติ เช่น ไม่ให้เรียนหนังสือร่วมกับคนอื่น หรือไม่ให้เล่นด้วยกัน ใช้ชีวิตอยู่ด้วยกัน หรือให้มีการตรวจเลือดก่อนเข้าทำงาน ฯลฯ นับเป็น #ความท้าทาย ที่เรายังต้องเจออยู่บ่อย ๆ ซึ่งเราต้องเดินหน้าพูดคุยและทำความเข้าใจกันอยู่เรื่อย ๆ อย่างไม่สามารถลดละลงได้ แม้เอชไอวีจะอยู่กับเรามาเกือบ 40 ปีแล้วก็ตาม” อภิวัฒน์กล่าวย้ำในตอนท้าย
* ป.ล.ข้อมูลวิจัยยืนยันว่าถ้าไวรัลโหลดต่ำกว่า 200 copies/cc ก็ไม่สามารถส่งต่อเชื้อให้กับคู่ได้แล้ว สนใจอ่านข้อมูลเชิงวิชาการเรื่อง U=U ที่สภากาชาดได้ทำการศึกษาผลการวิจัยได้ที่ https://redcross.or.th/news/information/9847/