“ผมมีตุ่มแดงๆ ขึ้นตามร่างกาย ใช่อาการของคนเป็นเอดส์หรือเปล่าครับ?”
“เพื่อนหนูเค้าท้องเสียค่ะ แล้วก็น้ำหนักลดลง ใช่อาการของเอดส์ไหม แล้วมันติดกันได้รึเปล่า?”
“อาทิตย์ก่อนผมไปตากแดดมา ผมรู้สึกว่าตัวดำขึ้น เกี่ยวกับเอชไอวีไหมครับ แล้วเป็นระยะไหนแล้ว?”
นี่เป็นส่วนหนึ่งจากหลายๆ คำถามที่รวบรวมจากเฟซบุ๊คของเครือข่ายผู้ติดเชื้อเอชไอวี/เอดส์ ประเทศไทย ที่บางคนอาจเคยได้ยินหรือแม้กระทั่งสงสัยดังเช่นคำถามข้างต้น ว่าอาการมีตุ่มขึ้นตามผิวหนังในร่างกาย น้ำหนักลด ท้องเสีย หรือแม้กระทั่งดำขึ้น เป็นอาการที่บอกถึงการติดเชื้อเอชไอวีหรือเปล่า วันนี้www.thaiplus.net จะมาทำความเข้าใจ “ถูก” ให้กับ “ความเข้าใจผิด” เรื่องเอชไอวีกัน
การติดเชื้อเอชไอวีนั้น จะไม่มีอาการที่บอกถึงการติดเชื้อฯ อย่างชัดแจ้งเหมือนที่ว่ามา หรือไม่ได้ทำให้เราป่วยในทันที นั่นจึงเป็นที่มาของคำว่า “ดูไม่ออก บอกไม่ได้ว่าใครติดเชื้อฯ” เพราะแม้จะได้รับเชื้อเอชไอวีมาแล้ว แต่หากภูมิต้านทานในร่างกายของเรายังคงมีมากอยู่ เราก็จะมีร่างกายแข็งแรงเหมือนคนทั่วๆ ไป
ทั้งนี้ หากต้องการจะสังเกตอาการอาจต้องรอ ๗ – ๑๐ ปี ผู้ติดเชื้อฯ ถึงจะเริ่มมีอาการป่วยเอดส์ หรืออาการป่วยที่เกิดจากภาวะการติดเชื้อฯ ซึ่งระยะเวลาที่เริ่มป่วยขึ้นอยู่กับภูมิต้านทานของแต่ละคน แล้วก็จะมีอาการแตกต่างกันไปตามแต่โรคที่เป็น ซึ่งโรคเหล่านี้เรียกว่าโรคฉวยโอกาส มีด้วยกันหลายโรค อย่างอาการของโรคที่เรามักนึกถึงหรือเห็นภาพอยู่บ่อยๆ คือ อาการของตุ่มพีพีอี ที่มีลักษณะคล้ายตุ่มมดหรือยุงกัด ขึ้นตามตัว แขนขา แต่อาการนี้ไม่ใช่อาการที่ผู้ป่วยเอดส์ ทุกคนต้องเป็นเสมอไป และโรคหลายโรค คนที่ไม่มีเชื้อเอชไอวีก็สามารถเป็นได้ เช่น วัณโรคปอด งูสวัด เป็นต้น
ผู้ติดเชื้อฯ จะป่วยด้วยโรคฉวยโอกาสก็ต่อเมื่อรับเชื้อเอชไอวีมาระยะหนึ่ง จนทำให้ภูมิต้านทานถูกทำลายจนต่ำลง และไม่ได้เข้ารับการรักษา หรือเข้าถึงการรักษาช้า คือ มารักษาหลังจากที่ติดเชื้อฯ มานานหลายปีแล้ว
อย่างไรก็ตาม ถึงแม้ว่าจะป่วยแล้ว ทุกโรคฉวยโอกาสก็สามารถรักษาได้ อีกทั้งหลายๆ โรคก็มียากินป้องกันได้
นอกจากนี้ ยังมีการรักษาด้วยยาต้านไวรัสเอชไอวี ที่ทำหน้าที่ยับยั้งเชื้อเอชไอวีไม่ให้ไปทำลายภูมิคุ้มกันของเรา และเมื่อภูมิคุ้มกันไม่ถูกทำลาย โอกาสที่จะป่วยด้วยโรคฉวยโอกาสก็แทบจะไม่มี ทำให้ร่างกายของผู้ที่มีเชื้อฯ แข็งแรงเหมือนคนที่ไม่มีเชื้อฯ
และนี่ก็เป็นที่มาของคำว่า “ เอดส์ รักษาได้” และ “ผู้ติดเชื้อเอชไอวี” ไม่ต่างจากคนทั่วๆ ไป เพราะพวกเขาไม่ได้มี “อาการ” ให้ต้องสังเกต เหมือนกับที่ “เอดส์” ไม่ได้มีระยะ อย่างที่หลายๆ คนกลัวหรือเข้าใจ เอดส์ไม่มีระยะ ๑,๒,๓ หรือระยะสุดท้าย มีแต่ ระยะ “ป่วยเอดส์” กับ “ติดเชื้อเอชไอวี” เท่านั้น ถ้าอยากจะรู้ว่าเรามีเชื้อเอชไอวีอยู่ในร่างกายหรือไม่ ทางเดียวที่จะรู้ได้คือต้องตรวจเลือดหาเชื้อเอชไอวี
ยิ่งถ้ารู้ว่าติดเชื้อฯ ได้เร็วเท่าไหร่ ก็จะช่วยให้วางแผนดูแลสุขภาพตัวเองได้ดีขึ้น
หากคุณมีเพศสัมพันธ์ไม่ได้ป้องกัน อย่ามัวแต่สงสัย หรือรอสังเกตอาการเลย ไปขอรับคำปรึกษาและตรวจเลือดหาการติดเชื้อเอชไอวีดีกว่า