เครือข่ายภาคประชาสังคม 15 องค์กร ไม่เห็นด้วยกับท่าทีของกรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ ที่เร่งรีบเปิดการเจรจาข้อตกลงเขตการค้าเสรีกับสหภาพยุโรป โดยไม่รับฟังคำทักท้วงจากภาคประชาสังคมด้านสุขภาพและการเกษตร นักวิชาการ และหน่วยงานของรัฐ

เนื่องจากกรมเจรจาการค้าฯ ไม่ได้คำนึงถึงผลกระทบด้านสุขภาพและภาคการเกษตร แต่กลับคำนึงถึงแต่ผลตอบแทนด้านเศรษฐกิจระยะสั้น ที่ขาดงานวิจัยทางวิชาการสนับสนุน และมีมุมมองคับแคบด้านการค้าเพียงด้านเดียว ภาระหรือความเสียหายที่เกิดขึ้นจะถูกผลักให้เป็นความรับผิดชอบของหน่วยงานของรัฐหน่วยอื่น หรือของประชาชน เพราะกรมเจรจาการค้าฯ มีหน้าที่เพียงการเจรจา แต่ไม่ได้มีส่วนรับผิดชอบใดๆ ต่อผลของการเจรจา

หลักฐานที่เห็นมากมาย เช่น งานวิจัยทางวิชาการ และบทเรียนจากประเทศกำลังพัฒนาอื่น ทำให้เห็นว่าถ้าประเทศไทยยอมให้มีกรอบการเจรจา ที่ยอมให้มีข้อผูกพันด้านทรัพย์สินทางปัญญาเข้มงวดไปกว่าเกณฑ์การคุ้มครองทรัพย์สินทางปัญญาสากล ข้อตกลงเขตการค้าเสรีเช่นนั้นจะส่งผลกระทบร้ายแรงต่อระบบหลักประกันสุขภาพของประเทศ โดยเฉพาะการเข้าถึงยาจำเป็น และภาคการเกษตรของประเทศ ซึ่งผลกระทบมีความรุนแรงมากกว่าการถูกตัดสิทธิจีเอสพี ด้วยเหตุผลที่ประเทศไทยเป็นประเทศที่รายได้ระดับกลางค่อนข้างสูงด้วยซ้ำ

นอกจากนี้ ระบบการพิจารณาคำขอรับสิทธิบัตรยามีความหละหลวมอย่างมาก จนทำให้มีสิทธิบัตรยาที่ไม่สมควรได้รับการคุ้มครองเกิดขึ้นจำนวนมาก ซึ่งเป็นการสกัดกั้นการแข่งขันของอุตสาหกรรมยาชื่อสามัญ และเป็นการผูกขาดตลาดที่ไม่เป็นธรรม ซึ่งจะส่งผลให้ประชาชนสามารถเข้าถึงยาจำเป็น ในราคาที่ย่อมเยาได้ช้าออกไป และประเทศต้องแบกรับภาระค่าใช้จ่ายที่สูงโดยไม่จำเป็น

เครือข่ายภาคประชาสังคม จึงมีข้อเสนอถึงรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ เกี่ยวกับการเจรจาข้อตกลงการค้าเสรีทุกฉบับและสิทธิบัตรยา ดังนี้

1. กรอบการเจรจาข้อตกลงเขตการค้าเสรีใดๆ ต้องระบุให้มีระดับการคุ้มครองทรัพย์สินทางปัญญาไม่มากหรือเข้มงวดไปกว่า ข้อผูกพันในข้อตกลงว่าด้วยการค้าที่เกี่ยวกับทรัพย์สินทางปัญญา (ข้อตกลงทริปส์) ขององค์การการค้าโลก นอกจากนี้ ประเทศไทยจะต้องไม่เข้าร่วมเป็นภาคีภายใต้อนุสัญญาการคุ้มครองพันธุ์พืชยูปอฟ ปี ค.ศ.1991 และสนธิสัญญาบูดาเปส ว่าด้วยการฝากจุลชีพในกระบวนการขอรับสิทธิบัตร

2. การเจรจาข้อตกลงเขตการค้าเสรีใดๆ จะต้องเป็นไปตามเจตจำนงของรัฐธรรมนูญปี พ.ศ. 2550 มาตรา 190 และยึดผลจากการประเมินผลกระทบด้านสุขภาพ (Health Impact Assessment หรือ HIA) ซึ่งเป็นกลไกตามมติของสมัชชาสุขภาพแห่งชาติ อันเป็นสิ่งสำคัญที่ต้องคำนึงถึงในการกำหนดกรอบการเจรจา

3. กรมทรัพย์สินทางปัญญาต้องเร่งพัฒนาและนำคู่มือการพิจารณาคำขอสิทธิบัตรยามาใช้โดยเร็ว และให้มีประสิทธิภาพมากที่สุด เพื่อแก้ไขปัญหาสิทธิบัตรยาที่ไม่มีคุณภาพ และไม่สมควรได้รับการคุ้มครอง ซึ่งจะลดภาวะการผูกขาดตลาดที่ไม่เป็นธรรม และส่งเสริมการเข้าถึงยาที่มีคุณภาพในราคาที่ไม่แพงได้รวดเร็วยิ่งขึ้น